ชื่นชม “เบิร์ด ธงไชย” ศิลปินแห่งชาติ ล่าสุด

เมื่อวันพุธที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา หลังจากสมาชิกรัฐสภาลงมติด้วยเสียงข้างมากเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายก รัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยเพียงวันเดียวเท่านั้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม ก็ออกมาประกาศรายชื่อ “ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2565” ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ชื่นชม "เบิร์ด ธงไชย" ศิลปินแห่งชาติ ล่าสุด, ธงไชย แมคอินไตย์, นักร้อง, ศิลปินแห่งชาติ, คอนเสิร์ต, เรวัต พุทธินันท์, แกรมมี่, ซูมซอกแซก

รวมทั้งสิ้น 12 ท่าน ขออนุญาตนำรายชื่อมาลงไว้ด้วยความชื่นชม ดังต่อไปนี้

สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ 1. ศ.เกียรติคุณ พิษณุ ศุภนิมิตร (ภาพพิมพ์) 2. นายเจตกำจร พรหมโยธี (สถาปัตยกรรมผังเมือง) 3. นายดิเรก สิทธิการ (งานสลัก-งานเครื่องเงินและ โลหะ) 4. นายฤกษ์ฤทธิ์ แก้ววิเชียร (สถาปัตย กรรมภายในและมัณฑนศิลป์)

สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ 1. ศ.เกริก ยุ้นพันธ์ 2. นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ 1.นางนพรัตน์ศุภาการ หวังในธรรม (ละครรำ) 2. นายสมชาย ทับพร (ดนตรีไทย-ขับร้อง) 3. นางราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร (หมอลำ-ประยุกต์) 4. นายธงไชย แมคอินไตย์ (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) 5. นายสมเถา สุจริตกุล (ดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงร่วมสมัย) และ 6. นายประดิษฐ์ ประสาททอง (ละครร่วมสมัย)

แน่นอนที่สุด สำหรับศิลปินแห่งชาติคนใหม่ล่าสุดที่ได้รับเสียงปรบมือกึกก้องเมื่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมประกาศชื่อก็คือ ธงไชย แมคอินไตย์ หรือ “พี่เบิร์ด” ของแฟนเพลงนั่นเอง

ในฐานะที่ “เบิร์ด” หรือ ธงไชย แมคอินไตย์ ซึ่งเป็นขวัญใจแฟนเพลงมากว่า 30 ปี และยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้รวมทั้งจะเป็นต่อไปอีกนานหลายๆ ปีข้างหน้านั้น “เหมาะสม” อย่างยิ่งสำหรับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติที่เขาได้รับในครั้งนี้

เบิร์ดอายุ 64 ปีแล้วไม่หนุ่มเกินไปและก็ไม่ถึงกับแก่เกินไป สำหรับรางวัลอันทรงเกียรติยิ่งรางวัลนี้และหากเราได้อ่านประวัติของเขาอย่างละเอียดก็คงแทบไม่มีใครที่ไหนจะออกมาปฏิเสธหรือโต้แย้งได้เลยว่า “เบิร์ด” ไม่เหมาะสมกับรางวัล

จากเด็กยากจนใน สลัมบางแค ของอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี เมื่อปี 2501 ที่เขาถือกำเนิดเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว และเป็นลูกชายคนที่ 9 ของพ่อแม่ที่มีลูกยั้วเยี้ยถึง 10 คน เบิร์ดจะเล่าอยู่เสมอๆ ว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของชีวิต

เขาต้องทำงานทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือครอบครัวเท่าที่เด็กๆ อย่างเขาจะสามารถทำได้ตั้งแต่ช่วยพ่อแม่พับถุงขาย, วิ่งขายเรียงเบอร์, เก็บกระป๋องนมไปขายร้านกาแฟ ฯลฯ

คุณพ่อของเขาเป็นทหารเสนารักษ์ สังกัด กองทัพบกมีชื่อเป็นฝรั่ง เพราะเป็นลูกครึ่ง “สกอต-มอญ” ทำให้เขาซึ่งเป็น “ลูกเสี้ยว” สกอต-มอญ-ไทย ตอนเด็กๆ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Albert Mcintyre เป็นที่มาของชื่อเล่น “เบิร์ต” แล้วแผลงมาเป็น “เบิร์ด” ในที่สุด

แม้จะยากจนแต่ก็ต้องชื่นชมครอบครัวของเขาที่สอนให้เขาคิดดีทำดีอยู่เสมอ ไม่มองโลกแง่ร้าย ไม่โกรธไม่โทษสังคมสิ่งแวดล้อมและความไม่เป็นธรรมหรือไม่ทัดเทียมต่างๆ

กลับมุ่งหน้าสอนให้เขาขยันขันแข็ง ทำงานทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าหนักไม่ว่าเบาและไม่คำนึงว่าจะได้เงินมากน้อยเพียงใด

เบิร์ดเคยไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษแก่เด็กๆ ในสลัมได้เงินครั้งละ 4-5 บาท หรือแล้วแต่พ่อแม่จะบริจาค ขณะเดียวกันก็ชอบร้องเพลง อาศัยเสียงเพลงเป็นเครื่องสร้างความสุขในครอบครัว ฝึกกันเอง ร้องกันเอง

ถึงเวลามีงานวัด มีงานประกวดร้องเพลงก็ไปประกวดชนะบ้างแพ้บ้าง แต่เป็นจุดเริ่มของการ “ร้องเพลง” ของเขา ซึ่งร้องได้ทั้งลูกกรุง ลูกทุ่งและเพลงสากลด้วย จากความที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ

เบิร์ดเข้าเรียนประถมศึกษาที่ โรงเรียนวัดนิมมานรดี ระดับมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนปัญญาวรคุณ และจบ ปวส. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง) จาก วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี

และด้วยประกาศนียบัตรใบนี้แหละที่ทำให้เขาได้งานทำที่ ธนาคารกสิกรไทย สาขาท่าพระ แต่ก็ยังไปสมัครทำงานพิเศษตามบาร์และไนต์คลับภาคกลางคืน เพื่อหารายได้เสริมอยู่ตลอดควบคู่ไปกับการร้องเพลงที่เขารักเป็นชีวิตจิตใจ

ต่อมาชีวิตของเขาก็เปลี่ยนเมื่อเข้าประกวดร้องเพลงกับ สยามกลการ และได้รับรางวัล 3 รางวัล รวมทั้งรางวัลนักร้องดีเด่นประเภทเพลงไทยสากลด้วย 1 รางวัล

เป็นที่ต้องตาต้องใจต้องหูของ เรวัต พุทธินันท์ นักร้องนักแต่งเพลง และผู้บริหารสำคัญคนหนึ่งของ แกรมมี่ ซึ่งชักชวนให้เขาเซ็นสัญญาเป็นนักร้องในสังกัดแกรมมี่และกลายเป็นนักร้องคู่บารมีของแกรมมี่มาตั้งแต่บัดนั้น

เรื่องราวของเบิร์ด ธงไชย โดยละเอียดมีการบันทึกไว้ใน “วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี” ยาวเหยียด คลิกเข้าไปอ่านกันได้เลย เขารวบรวมไว้ดีมากเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของ “ชีวิตต้องสู้” และการไต่เต้าจาก “ดินไปสู่ดาว” ที่ควรแก่การปรบมือให้อย่างแท้จริง

หัวหน้าทีมซอกแซก ซึ่งเป็นแฟนเบิร์ดมาตั้งแต่ 2529 จากอัลบั้มแรก “หาดทรายสายลมสองเรา” ยังจำได้ว่าตอนไปทำข่าว ซีเกมส์ ที่มาเลเซีย ใน พ.ศ.2532 ก็ได้ไปเต้นในสนามกีฬาแห่ง ชาติเก่าของมาเลเซีย ใน พ.ศ.นั้น กับเพลง “สบายๆ” ที่เบิร์ดเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร้องในพิธีเปิด และอย่างเหลือเชื่อ “คนมาเลเซีย” ก็สามารถร้องตามและเต้นตามได้เกือบครึ่งสนามเลยทีเดียว

จากนั้นหัวหน้าทีมก็ตามดูคอนเสริต์สดของเบิร์ดมาโดยตลอด ตั้งแต่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศ ไทย จนถึงอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี…จะขาดไปบ้างก็เมื่อเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล หรือต้องเดินทางไปต่างประเทศบางปีเท่านั้น

ล่าสุดก็เตรียมตัวที่จะดูการแสดง แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 12 ตอน “มัลติเบิร์ดจักรวาลธงไชย” 17-18-19 พฤศจิกายน อยู่ด้วยเหมือนกัน… ใครยังมิได้ซื้อบัตรก็แวะไป เซเว่น-อีเลฟเว่น ซื้อได้เลยที่เซเว่นนั่นแหละ

ที่สำคัญอย่าลืมเพิ่มบทเพิ่มฉากว่าด้วยการได้รับรางวัล “ศิลปินแห่งชาติ” ให้ด้วยนะเบิร์ด ในคอนเสิร์ตครั้งนี้…ถือว่าเฉลิมฉลองรางวัลศิลปินแห่งชาติ 2565 ไปด้วยในตัว (เผื่อจะเพิ่มรอบแสดงได้อีกไง)

“ซูม”