ดูเหมือนว่าการนัดประชุมรัฐสภาครั้งใหม่เพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี คนใหม่จากการเสนอของพรรคเพื่อไทยบ้างในสัปดาห์นี้จะเลื่อนออกไปเรียบร้อย และยังไม่แน่ว่าจะนัดกันใหม่เมื่อไร
อาจจะต้องรอไปถึงต้นๆ เดือนสิงหาคมโน่นกระมัง เพราะอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นวันหยุด และรัฐบาลรักษาการท่านก็เพิ่งประกาศให้วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคมเป็นวันหยุดพิเศษด้วย
ทำให้เราจะมีวันหยุดยาวไปจนถึงวันอาสาฬหบูชา 1 สิงหาคม และวันเข้าพรรษา 2 สิงหาคม โน่นเลย
ล้วนเป็นวันสำคัญของคนไทยทั้งสิ้น เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักที่คนไทยเคารพนับถือถึง 2 สถาบัน ได้แก่ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์
การหยุดให้คนไทยไปร่วมถวายพระพรชัยมงคลในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ แล้วตามด้วยการเข้าวัดทำบุญตักบาตรเวียนเทียนใน 2 วันสำคัญของพุทธศาสนา หรือแม้แต่จะหยุดยาวๆ เพื่อให้คนไปท่องเที่ยวไปใช้จ่ายเงินตามจังหวัดต่างๆ ล้วนเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
จากนั้น ค่อยมาลุ้นจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ในต้นๆ เดือนสิงหาคม ซึ่งในความเห็นผมมองว่ายังไม่สายจนเกินไปครับ…กำลังเหมาะเลยทีเดียวแหละ
จริงๆ แล้วในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ยังมีวันสำคัญอีกวันหนึ่ง แม้จะไม่ใช่วันหยุดแห่งชาติ แต่ก็เป็นวันที่คนไทยให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรมให้ความสำคัญที่สุด จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นทุกๆ ปี
“วันภาษาไทยแห่งชาติ” นั่นแหละครับ…ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกๆ ปี ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันเสาร์ที่จะถึง…ทางกระทรวงวัฒนธรรมจึงได้จัดงานขึ้นก่อนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
มีการมอบรางวัลให้แก่ผู้มีความรู้ความสามารถด้านภาษาไทยในหลายๆหมู่คณะ เช่น ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ภาษาไทยถิ่นดีเด่น รวมทั้งรางวัล “เพชรในเพลง” สำหรับเพลงที่ใช้ภาษาไทยดีเด่น ฯลฯ
ที่จะขออนุญาตหยิบยกมาเขียนถึงในวันนี้ได้แก่ ข้อคิดความเห็นและคำเตือนของปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยท่านหนึ่งครับ
ศ.อิงอร สุพันธุ์วณิช ที่กรุณาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวการศึกษา-ศาสนา-สาธารณสุข หน้า 7 ไทยรัฐ ฉบับวันพุธที่ 26 กรกฎาคม เอาไว้
ท่านกล่าวตอนหนึ่งว่าท่านเป็นครูภาษาไทยที่ค่อนข้างทันสมัย และก็รับได้กับการปรับเปลี่ยนภาษาไทยอย่างสร้างสรรค์ แต่ที่น่ากังวลก็คือภาษาที่ใช้สื่อสารในโลกออนไลน์และภาษาของบุคคลสาธารณะในสื่อต่างๆ มักมีคำหยาบคายร่วมด้วย
ถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างมาก เพราะภาษาแสดงให้เห็นถึงการอบรมจากพ่อแม่เหล่าตระกูล แล้วสะท้อนมาที่ตัวของผู้ใช้ภาษานั้นๆ ซึ่งจะสะท้อนไปถึงวุฒิปัญญาของบุคคลดังกล่าวด้วย
“จึงขอฝากไปยังสื่อมวลชน พิธีกร ศิลปิน ดารา ขอให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทย” ท่านสรุป
ผมเห็นด้วยกับคำเตือนของท่านและฝากเพิ่มเติมไม่เฉพาะสื่อมวลชนหรือดาราหรือพิธีกรเท่านั้น…ยังรวมถึง นักการเมือง และ “ผู้ใช้” สื่อสังคมออนไลน์ยุคนี้ ไม่ว่าหญิง ไม่ว่าชาย ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ ล้วนใช้ “คำหยาบ” กันจนแทบจะเป็นเรื่องปกติ
ทำให้ผมนึกถึงท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บรมครูของพวกเราเหล่านักเขียน ซึ่งครั้งหนึ่งท่านเขียนด้วยความโกรธที่ทหารพรานไปพังประตูบ้านซอยสวนพลู ของท่าน
ท่านต้องอารัมภบทออกตัวอยู่หลายบรรทัดว่าตลอดเวลาที่ท่านเขียนบทความหน้า 5 นั้นท่านให้เกียรติผู้อ่านเสมอ ไม่เคยใช้คำหยาบไม่เคยขึ้นกูขึ้นมึงแม้แต่น้อย
แต่ครั้งนี้ท่านเหลืออดแล้ว ขอประกาศไปถึงคนพังประตูรั้วบ้านท่านว่า “กูไม่กลัวมึง”
คิดดูเถิด จะลงท้ายแบบนี้ทั้งที ท่านอาจารย์หม่อมต้องออกตัวแล้ว ออกตัวอีก ต่างกับสมัยนี้ คำว่า กูมึงเป็นของธรรมดาไปเรียบร้อย
จะไปโทษว่าทำไมพ่อแม่ไม่สั่งสอนก็ใช่ที่…เพราะหลายๆ คนที่พ่อแม่พยายามแล้ว แต่ลูกๆ ที่โตมากับมือถือมักจะเชื่อพ่อแม่ตัวปลอมคือมือถือต่างๆ มากกว่า…ทำให้เด็กไทยจำนวนไม่น้อยแม้แต่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ นั่นแหละ หยาบคายตั้งแต่นมยังไม่แตกพาน
ก็คงต้องฝากพ่อแม่ตัวจริงให้พยายามต่อไป หาโอกาสอยู่กับลูกๆ ให้มากขึ้น เอาความรักความอบอุ่นมาสร้างสัมพันธ์ในครอบครัวให้มากขึ้น พร้อมกับสอนให้รู้ว่าคำหยาบเป็นผลเสียอย่างไร
พยายามต่อนะครับคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย อย่าเพิ่งถอดใจครับ.
“ซูม”