ปัญหา “ขาดแคลนหมอ” 40 ปี ยังเหมือนเดิม

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการลาออกจากราชการของแพทย์หญิงที่โรงพยาบาลราชบุรีกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ คันทรี” หรือพูดคุยกันในระดับประเทศอย่างกว้างขวาง

มีการแชร์ “โพสต์” อำลาราชการของเธอออกไปตามโซเชียลต่างๆ ผมเองก็ได้อ่านจากที่เพื่อนๆแชร์มาให้

สาเหตุหลักๆ ก็คือภาระงานที่หนักหนาเหลือเกิน จากคนไข้ที่มารอการตรวจยาวเหยียด กว่าจะตรวจแล้วเสร็จเหนื่อยแทบขาดใจ แล้วก็มาถึงฟางเส้นสุดท้าย เมื่อวันหนึ่งเธอเพลียมากตรวจช้าไปหน่อยก็มีหมอรุ่นพี่มาถามว่าจนป่านนี้น้องยังตรวจไม่เสร็จอีกหรือ

ทำให้เธอมีความรู้สึกเหมือนเป็นแรงงานทาส แทบมองไม่เห็นแสงปลายอุโมงค์ เรื่องอะไรจะต้องมาทนทำงานอันหนักหนาต่อไปล่ะ

ผมอ่านแล้วก็เข้าใจและเห็นใจทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขของบ้านเรา

เข้าใจและเห็นใจคุณหมอที่ต้องทำงานหนักมาก วันแล้ววันเล่าอย่างมองไม่เห็นว่าเมื่อไรปัญหาจะเบาบางลง…เป็นใครก็ยากจะทนอยู่ได้ การที่เธออดทนอยู่มานานพอสมควรเช่นนี้ ต้องขอขอบคุณย้อนหลัง

ขณะเดียวกันก็เห็นใจกระทรวงสาธารณสุข เพราะที่อ้างว่างบไม่พออัตรากำลังไม่พอนั้นก็เป็นเรื่องจริง

มีรายงานข่าวก่อนที่ผมจะเขียนคอลัมน์วันนี้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมีการแถลงรายละเอียดถึงปัญหาต่างๆ หวังว่าข้อมูลและข้อเท็จจริงจากกระทรวงสาธารณสุขจะช่วยทำให้คนไทย ซึ่ง ณ นาทีนี้มองกระทรวงราวกับเป็น “ผู้ร้าย” ของสังคมไทยเสียแล้วนั้นจะมีความเข้าใจที่ดีขึ้น

โดยส่วนตัวผมเองเคยเขียนถึงกระทรวงสาธารณสุขในแง่ดีอยู่หลายครั้ง เพราะจากประสบการณ์ที่ผมเคยทำงานกับ 4-5 กระทรวงใหญ่ ในการพัฒนาชนบทในอดีตผมแอบให้คะแนนทุกกระทรวงและยืนยันได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขคะแนนดีที่สุด

ขนาดกระทรวงที่ทำงานดีที่สุด ยังไม่สามารถแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยได้ก็คงต้องอนุมาน ไว้ก่อนละครับว่าปัญหาด้านสาธารณสุขเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่และยากเย็นเหลือเกิน สำหรับประเทศเรา

ผมเป็นคนแก่ที่มีความหลังเยอะ ก็อยากจะเล่าย้อนหลังไปว่าปัญหาประเทศไทยขาดหมอ ขาดโรงพยาบาลนั้นเป็นมาตั้งแต่อดีตโน่นแล้ว

ปี 2523 ที่ประเทศไทยเริ่มทำแผน พัฒนาชนบทยากจนนั้น เราก็พบแล้วว่าประเทศไทยขาดแคลนหมออย่างหนัก ขาดทั้งตัวหมอและขาดโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล

จากอำเภอของประเทศไทยในขณะนั้น ซึ่งมีทั้งสิ้น 600 กว่าอำเภอ ตรวจสอบดูแล้วพบว่า มีโรงพยาบาลประจำอำเภออยู่เพียง 300 กว่าอำเภอหรือเกินครึ่งนิดหน่อยเท่านั้น

เมื่อฝ่ายวางแผนไปคุยกับกระทรวงสาธารณสุขว่าถ้าจะสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกอำเภอในปี 2 ปี ข้างหน้านี้ จะมีหมอไปประจำไหม?

ได้รับคำตอบว่าช่วงนั้นทางกระทรวงกำลังริเริ่มโครงการ “แพทย์ใช้ทุน” คือจะคิดค่าเรียนแพทย์ ซึ่งแพงมาก แต่รัฐบาลยินดีจะออกทุนให้โดยมีข้อแม้ว่าจบแล้วต้องไปทำงานใช้ทุนระยะหนึ่ง

น่าจะช่วยแก้ปัญหาขาดหมอได้ระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นหากคณะกรรมการพัฒนาชนบทจะสร้างโรงพยาบาลอำเภอให้ครบก็น่าจะมีหมอไปประจำอย่างน้อยก็ในช่วงใช้ทุน

รัฐบาลป๋าเปรม จึงมีมติให้สร้างโรงพยาบาลอำเภอครบทุกอำเภอทั่วประเทศอีกประมาณ 200 กว่าแห่งภายใน 2 ปี

ปรากฏว่าโรงพยาบาลอำเภอแห่งแรกที่สร้างเสร็จตามโครงการนี้ ได้แก่ โรงพยาบาลห้วยแถลง นครราชสีมา และได้มีพิธีเปิดโดยป๋าเปรม เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2525 หลังวันเกิดท่าน 1 วัน เป็นข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

ทุกวันนี้ โรงพยาบาลห้วยแถลง ก็ยังอยู่และทราบข่าวว่าขยายจาก โรงพบาลาล 10 เตียง เป็น 30 เตียง และ 60 เตียงในที่สุด

แม้รัฐบาลยุคนั้นจะสร้างโรงพยาบาลได้ครบทุกอำเภอและแรกๆ ก็จัดหาหมอไปประจำได้เกือบครบทุกอำเภอ

แต่ปัญหาด้านสาธารณสุขก็ยังไม่หมดไปและยังคงหนักหนาสาหัสขึ้นทุกวันและคุณหมอ คุณพยาบาลตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายก็คงทำงานหนักเกินกำลังแม้ปัจจุบันนี้

การที่กลับมาเป็นข่าวใหญ่เช่นนี้ก็ดีแล้วครับ แสดงว่าปัญหานี้ยังเป็นปัญหาโลกแตกของประเทศไทยอยู่จะได้ร่วมมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ซึ่งผมก็เชื่อว่ายังไงๆ ก็คงแก้ไม่สำเร็จหรอกครับ แต่อย่างน้อยช่วยผ่อนหนักเป็นเบาลงบ้างก็ยังดี ฝากท่านรัฐมนตรีคนใหม่ไว้ด้วยก็แล้วกัน.

“ซูม”

ปัญหา "ขาดแคลนหมอ" 40 ปี ยังเหมือนเดิม, แพทย์ใช้ทุน, โรงพยายาล, ปัญหา, สาธารณสุข, กระทรวงสาธารณสุข, บุคลากรทางการแพทย์, ซูมซอกแซก