การแข่งขันกีฬา “ซีเกมส์ ครั้งที่ 32” ของประเทศในเอเชียตะวันออกไกล ซึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ASEAN ด้วยนั้น ได้จบลงเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ณ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา เจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้
ปรากฏว่า เวียดนาม ได้เหรียญทองมากที่สุด รวม 136 เหรียญ โดยมี ไทย ได้อันดับ 2 รวม 108 เหรียญ อินโดนีเซีย อันดับ 3 ได้ 87 เหรียญ และ กัมพูชา เจ้าภาพได้อันดับ 4 รวม 81 เหรียญ
พลันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในทำนองว่าประเทศไทยเราไม่ได้เป็น “เจ้าเหรียญทอง” ของซีเกมส์มาหลายครั้งติดต่อกันแล้วนะ นับจากปี 2013 หรือ พ.ศ.2556 ที่เมียนมาเป็นเจ้าภาพ และปี 2015 หรือ พ.ศ.2558 ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ ซึ่งเราได้เหรียญทองมากที่สุดติดต่อกัน 2 ครั้งซ้อนแล้ว…เราก็ไม่ได้อีกเลย จากนั้นเป็นต้นมา ซึ่งเมื่อนับถึงครั้งปัจจุบันก็ถึงครั้งที่ 4 แล้วซี
การได้เป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ดังจะได้เห็นจากความพยายามในการแข่งกันเป็น “เจ้าเหรียญทองซีเกมส์” อยู่ตลอดเวลา และทำให้ประเทศเจ้าภาพจัดกีฬาที่ตัวเองถนัดเพิ่มลงไปเป็นโหลๆ เพื่อให้ประเทศของตนมีโอกาสเป็นเจ้าทองมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยเราซึ่งผ่านการเป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์มาหลายครั้ง จนเมื่อถึงเวลาที่เราไม่ได้ติดต่อกัน 4 ครั้ง จึงมีเสียงถามหา เพราะไปทึกทักกันว่า การได้เจ้าเหรียญทองนั้นเป็นเรื่องปกติของประเทศไทย
แต่สำหรับคนรุ่นเก่าที่เป็น ส.ว.แล้ว ย่อมจะรู้แก่ใจอย่างยิ่งว่าการเป็นเจ้า ซีเกมส์ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย
ในยุคที่ยังเป็นกีฬาแหลมทองหรือ “เซียพเกมส์” แข่งกัน 6 ประเทศนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดาๆ มาก จัดไป 8 ครั้ง เราได้เจ้าเหรียญทองถึง 6 ครั้ง และพม่าได้ 2 ครั้ง
แต่พอขยายออกเป็น ซีเกมส์ เพิ่มสมาชิกให้มากขึ้น โดยในครั้งแรกเชิญ บรูไน, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ เข้ามาร่วม และ สิงคโปร์ ก็แยกออกจากมาเลเซียมาเป็นประเทศใหม่ กลายเป็น 10 ประเทศเท่านั้นแหละ ความยิ่งใหญ่ของไทยแลนด์ก็หายต๋อมในทันที
ในการแข่งขัน “ซีเกมส์” ครั้งแรกภายใต้ชื่อใหม่และสมาชิกใหม่ แต่คณะกรรมการให้นับจำนวนครั้งต่อไปเลยจาก “เซียพเกมส์” จึงได้ชื่อว่า “ซีเกมส์ครั้งที่ 9” โดยมีมาเลเซียเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 1977 หรือ พ.ศ.2520 นั้น ปรากฏว่า “มหาอำนาจใหม่” ของภูมิภาคนี้อันได้แก่ “อินโดนีเซีย” ก็มาคว้าเจ้าเหรียญทองในทันที ได้ไปถึง 62 ทอง
หลังจากนั้นอีก 3 ครั้งซ้อนๆ (รวมครั้งแรกด้วยเป็น 4 ครั้ง) อินโดนีเซีย ก็คว้าเจ้าเหรียญทองไปครองได้ตลอด โดยไม่มีชาติไหนเทียบรัศมีได้เลย
จนกระทั่งถึงปี 1985 หรือ พ.ศ.2528 ซึ่งเราจะได้โอกาสในการเป็น “เจ้าภาพ” กลับมาอีกครั้ง และกำหนดวันแข่งขันไว้ระหว่าง 8-17 ธันวาคม จึงได้เกิดแนวความคิดขึ้นว่าทำอย่างไรเราจึงล้ม อินโด นีเซีย ให้ได้ และคว้าเจ้าเหรียญทอง “ซีเกมส์” มาครองสักครั้งหนึ่ง
ซึ่งกลุ่มบุคคลที่เกิดความคิดที่จะทำการใหญ่ล้มอินโดนีเซียนั้นไซร้ก็คือ คณะผู้บริหารระดับสูงของ ไทยรัฐ ในยุคนั้น ภายใต้การนำของอดีตผู้อำนวยการ กำพล วัชรพล นั่นเอง
ประมาณเดือนกรกฎาคมของปี พ.ศ.2528 ก่อนเริ่มการแข่งขันในเดือนธันวาคมของปีนั้นฝ่ายข่าวกีฬาของไทยรัฐ ซึ่งมีคุณ จรูญ วานิชชา หรือ จุ่น บางระจัน เป็นหัวหน้าก็ได้รับคำสั่งให้ไปหาข้อมูลจากสมาคมกีฬาต่างๆ ว่าเราจะมีโอกาสเป็นเจ้าเหรียญทองหรือไม่?
ท่าน ผอ.กำพลได้มาบอกที่โต๊ะคุณจรูญด้วยตัวเองว่า ประชาชนชาวไทยอยากเห็นประเทศ ไทยเป็นเจ้าเหรียญทองในครั้งนี้ และ ไทยรัฐ พร้อมจะเป็นสื่อกลางในการสนับสนุน ขอให้คุณจรูญไปสอบถามทางฝ่ายจัดการแข่งขันด้วยว่า ต้องการการสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง?
คุณจรูญก็นำทีมข่าวกีฬาไปคุยกับ พ.อ.อนุ รมยานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย และกรรมการโอลิมปิกของประเทศไทยอีกหลายๆท่าน รวมทั้งผู้ใหญ่ของฝ่ายการกีฬาแห่งประเทศไทยด้วย
พบว่าปัญหาใหญ่ก็คือ กองทัพกีฬาไทยของเรา ซึ่งแม้จะมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ขาดคือ “แรงจูงใจพิเศษ” หรือเงินรางวัลพิเศษ (อัดฉีด) ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มี
สิ่งที่ทีมกีฬาอยากได้คือ งบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจ สมาคมละ 1 ล้านบาท จากจำนวน 17-18 สมาคม ที่จะส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน
พวกเราก็จัดทำรายละเอียดเสนอ ผอ.กำพล วัชรพล ซึ่งท่านก็รับปากทันที สั่งให้ฝ่ายโฆษณาไทยรัฐ ประสานบริษัท ห้างร้าน และแบรนด์สินค้ามาได้ 17-18 บริษัท ครบทุกสมาคม สมาคมละ 1 ล้านบาทตามข้อเสนอ
โดยท่านเองบอกว่า เพื่อให้เห็นว่า ไทยรัฐ ไม่เอาเปรียบ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐขอเป็นสปอนเซอร์ด้วย 1 สมาคม โดยมอบ 1 ล้านบาท ให้แก่ สมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทย
ด้วยความร่วมมือจากสปอนเซอร์และโครงการ “สู่เจ้าซีเกมส์” ที่ไทยรัฐเป็นผู้ประสานนี้เอง สามารถสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาไทยอย่างใหญ่หลวง
ขณะเดียวกัน การลงข่าวหน้าหนึ่งทุกวันของไทยรัฐ ก็ช่วยกระตุ้นความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนได้อย่างมหาศาล
ทำให้คนดูแน่นเอี้ยด และเสียงเชียร์ดังกึกก้อง ในทุกสนามแข่งขันและในที่สุดไทยเราก็ล้ม อินโดนีเซีย เป็นผลสำเร็จ โดยไม่ต้องจัดกีฬาท้องถิ่นมาเสริมเลย
ไทยได้เหรียญทั้งหมด 92 ทอง 66 เงิน 59 ทองแดง ชนะอินโดนีเซียที่ได้ 62 ทอง 73 เงิน 76 ทองแดงไปอย่างขาดลอย
นำความปลาบปลื้มใจมาสู่พี่น้องชาวไทยอย่างใหญ่หลวง ไปที่ไหนๆ ก็จะเห็นแต่รอยยิ้มของพี่น้องชาวไทยเกือบเรียกได้ว่า ทั่วทั้งประเทศ
จาก พ.ศ.2528 มาถึง พ.ศ.2566 เป็นเวลา 38 ปีเต็มแล้ว แต่หัวหน้าทีมซอกแซกยังจำความสุขครั้งนั้นได้มาจนถึงวันนี้ และจากนั้นเป็นต้นมาการเป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับประเทศไทยอีกต่อไป เพียงแต่ว่าระยะหลังๆ นี้หายไปนานก็ชักคิดถึงเท่านั้นละครับ
แฮ่ม! งวดหน้าเราจะกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้งต้องทำให้ได้นะครับ ท่านคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยและท่านผู้ว่าการ กกท.
“ซูม”