วันนี้ (14 เมษายน) ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของเทศกาลสงกรานต์และโบราณเรียกว่า “วันเนา” แปลว่าวันอยู่นิ่งๆ ห้ามด่าทอ ห้ามทะเลาะวิวาท มิฉะนั้นจะต้องประสบกับสิ่งไม่ดีงามไปตลอดทั้งปี
จะเห็นว่าวันนี้ แม้ในทัศนคติของปู่ย่าตายายของเราก็ถือว่าเป็น “วันดี” อยู่แล้วแต่มา “ดี” ยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2532 เมื่อรัฐบาลในขณะนั้นซึ่งมี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ให้วันที่ 14 เมษายน เป็น “วันครอบครัว” สำหรับประเทศไทยเรา
การเลือกวันที่ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัวครั้งนั้นได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ ซึ่งต่างก็เห็นความสำคัญของครอบครัว และอยากให้มี “วันครอบครัว” ขึ้นในประเทศไทยเราบ้าง เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศอื่นๆ
ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ ช่วงเวลาที่ คุณหญิง สุพัตรา เสนอแนะ “น้าชาติ” ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลตลอดจนคณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าวให้มี “วันครอบครัว” ขึ้นนั้นคือ พ.ศ.2532 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไทย “บูม” สุดขีดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย
สืบเนื่องมาจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในปี 2527 โดยการประกาศลดค่าเงินบาทและตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อใช้ประโยชน์จากการลดค่าเงินให้ได้ผลสูงสุดในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
รวมทั้งความสำเร็จของแผนพัฒนาฉบับที่ 5 ที่มีทั้งโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก, การตั้งคณะกรรมการพัฒนาประเทศร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงการเร่งรัดพัฒนาชนบทและกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอย่างไม่เคยกระทำพร้อมๆ กันเช่นนี้มาก่อน
ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยพุ่งกระฉูดจนประเทศไทยได้รับฉายาว่า “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” หรือ “เสือตัวใหม่” แห่งเอเชีย
เกิดการลงทุน เกิดการจ้างงานอย่างใหญ่หลวงในเขต กทม.และปริมณฑล จนเกิดการหลั่งไหลของแรงงานชนบทจากทั่วประเทศเข้ามาทำงานในส่วนกลางเป็นจำนวนมหาศาล
เมื่อรัฐบาล “น้าชาติ” มารับช่วงต่อ จึงตัดสินใจให้มี “วันครอบครัว” ขึ้น นอกจากเหตุผลหลักทางด้านวิชาการต่างๆ แล้ว ยังมาจากเหตุผลที่อยากให้พี่น้อง ชาวชนบท จำนวนมหาศาลนั้นกลับไปบ้าน…ในเทศกาลสงกรานต์ไปตักตวงความสุขกับครอบครัว ชดเชยช่วงเวลาที่ต้องแยกจากกันเพื่อไปทำงานต่างบ้านต่างเมืองอีกด้วย
ผลงานของรัฐบาลน้าชาติในประเด็นนี้ จึงได้รับความชื่นชมและกล่าวขวัญมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ซึ่งสถานการณ์ก็ยังไม่แตกต่างกันมากนัก
งานที่มีรายได้เลี้ยงตัวได้ดีพอสมควร ยังคงอยู่ใน กทม. และปริมณฑล ทำให้การอพยพมาหางานทำยังเป็นไปในรูปแบบเดิม
ทุกๆ วันสงกรานต์เราจึงเห็นการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่แน่นถนนทุกสายที่จะไปสู่ต่างจังหวัด แทบไม่ต่างกับในยุคป๋าเปรม ยุคน้าชาติ ที่การเดินทางใหญ่หลวงในลักษณะนี้เริ่มเกิดขึ้น
ก็ไม่เป็นไรครับ…หากจะต้องเดินทางไกลไปถึงไหนต่อไหนบ้าง ขอให้มีงานทำมีเงินมีรายได้เอาไว้ก่อน อย่างไรเสียก็ดีกว่าการที่ไม่มีจุดใดจุดหนึ่งของประเทศรุ่งเรืองเสียเลย เพราะจะพากันยากจนไปหมด
อยู่ไกลๆ สมัยนี้ก็เหมือนอยู่ใกล้ๆ แล้วครับ เพราะมีโทรศัพท์มือถือมีระบบออนไลน์ มีโทรศัพท์แบบไลน์คุยกันไปเห็นหน้าเห็นตากันไป ช่วยให้หายเหงา หายคิดถึงได้เยอะ
พอถึงสงกรานต์ทีก็กลับบ้านที หรือถ้าคิดถึงมากกว่านั้น มีเทศกาลงานบุญอะไรก็กลับไปก่อนได้
ผมหวังว่าพี่น้องชาวไทยหลายๆ ล้านคนที่กลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คงจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว และญาติมิตรของท่านอย่างมีความสุขในวันนี้
ครอบครัวเป็นสุข…ชุมชนก็เป็นสุข…เมื่อชุมชนทั่วสารทิศเหนือใต้ออกตกเป็นสุข ประเทศชาติก็จะเป็นสุขไปด้วย
เป็นที่มาของวลีที่ว่า “ความสุขของประเทศชาติเริ่มมาจากความสุขของคนในแต่ละครอบครัว”
สุขสันต์ “วันครอบครัว” 2566 นะครับ.
“ซูม”