สุขสันต์ “วันปีใหม่ไทย”+สุขใจ “วัน ส.ว. แห่งชาติ”

เนื่องในโอกาสที่วันขึ้นปีใหม่แบบไทยๆของเราเวียนมาบรรจบอีกครั้งในวันนี้ (13 เมษายน 2566) 

ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ที่ท่านผู้อ่านเคารพนับถือ จงดลบันดาลให้ทุกๆ ท่านประสบแต่ความสุขความเจริญ ปราศจากทุกข์ ปราศจากโรค ปราศจากภัยใดๆ ทั้งสิ้นไปตลอดปีใหม่นี้เทอญ

เกิดมาเป็นคนไทยเราก็ดีอย่างนี้แหละครับได้กำไรกว่าคนชาติอื่นๆ อีกหลายชาติ เพราะเรามีปีใหม่อย่างน้อย 2 หน คือปีใหม่แบบสากลทั่วไป วันที่ 1 มกราคม และปีใหม่แบบไทยๆ คือ เทศกาลสงกรานต์ ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนเป็นต้นไป

ทำให้เรามีโอกาสได้รับคำอวยพรถึง 2 หน และขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะอวยพรให้บุคคลอื่นๆ ที่เรารักเคารพได้ 2 หนเช่นกัน

เท่าที่มีการบันทึกกันไว้ ประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีร่วมของผู้คนในย่านอุษาคเนย์ โดยน่าจะมีต้นแบบมาจากอินเดีย นอกจากประเทศไทยแล้ว ชาวมอญ พม่า ลาว กัมพูชา ก็มีการเฉลิมฉลองในเทศกาลสงกรานต์ และถือว่าเป็นเทศกาลปีใหม่เช่นเดียวกัน

สำหรับของไทยเรามีหลักฐานว่าเล่นสงกรานต์กันมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย จนถึงกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์และวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ พ.ศ.2432

จนกระทั่ง พ.ศ.2483 จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2483 เป็นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศไทยเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก

ส่งผลให้คนไทยได้กำไรมีปีใหม่ให้ฉลองถึง 2 ครั้ง ด้วยประการฉะนี้…

นอกจากวันที่ 13 เมษายน จะเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบไทยๆ ของเราแล้ว ท่านผู้อ่านคงจำได้เมื่อ พ.ศ.2525 คณะรัฐมนตรีซึ่งมี “ป๋าเปรม” เป็นนายกฯ รับข้อเสนอของ สหกรณ์การประมงจังหวัดสมุทรสาคร ให้รัฐบาลกำหนดวัน ประมงแห่งชาติ ขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ประกอบอาชีพการประมงทั้งนํ้าเค็มและนํ้าจืดทั่วประเทศ

กำหนดให้วันที่ 13 เมษายน (ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมีการปล่อยนกปล่อยปลากันมากในวันนี้) ให้เป็น วันประมงแห่งชาติ ควบคู่ไปด้วย

ต่อมาใน พ.ศ.2549 เกือบ 22 ปีให้หลัง กระทรวงเกษตรฯ จึงทำเรื่องขอเปลี่ยนวัน ประมงแห่งชาติ ให้เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ด้วยเหตุผลที่ว่า 13 เมษายนเป็นฤดูแล้ง กรมประมงไปจัดส่งเสริมการปล่อยพันธุ์ปลาในวันดังกล่าว ปรากฏว่าปลามักจะตายหมด

ต่างกับ 21 กันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนและเป็นช่วงต้นฤดูน้ำหลากเหมาะแก่การปล่อยพันธุ์ปลา และที่สำคัญยังเป็นวัน สถาปนากรมประมง โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 อีกด้วย

รัฐบาลซึ่งมี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น มีมติอนุมัติตามที่กรมประมงเสนอ ทำให้ “วันประมงแห่งชาติ” เปลี่ยนจาก 13 เมษายน เป็น 21 กันยายน นับจากนั้นเป็นต้นมา

ในยุคป๋าเปรมอีกแหละครับ น่าจะประมาณปี 2525 มีมติอนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุชักเริ่มมีมากขึ้น และครอบครัวไทยเริ่มแยกตัวออกไปเป็นครอบครัวเล็กๆ มากขึ้น ต่อไปผู้สูงอายุอาจขาดคนดูแล

จึงกำหนดให้มีวันสูงอายุแห่งชาติ เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และเพื่อการยกย่องแสดงความกตัญญูกตเวทีสืบไป

ในฐานะที่ผมเป็นผู้สูงอายุด้วยคนหนึ่ง ขอขอบคุณรัฐบาลป๋าเปรมที่เล็งเห็นการณ์ไกลในเรื่องนี้ และที่น่าชื่นใจก็คือทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ต่างก็ให้ความเคารพนับถือต่อผู้สูงอายุให้เกียรติแก่ผู้สูงอายุอย่างดียิ่ง

ยกเว้นผู้สูงอายุที่ไปเล่นการเมือง ซึ่งเป็นของธรรมดาที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือถูก “ถอนหงอก” จากพรรคคู่แข่ง หรือฝ่ายตรงข้าม อยู่บ้าง ก็ต้องอดทนนะครับลุงๆ!

ก่อนจบคอลัมน์วันนี้ นอกจากจะอวยพรในวันปีใหม่ไทยดังที่ผมเริ่มไว้ตั้งแต่บรรทัดแรกแล้ว ก็ขอถือโอกาศอวยชัยให้พรแก่ผู้สูงอายุ (หรือท่าน ส.ว.) ของประเทศไทย จำนวนกว่า 12.1 ล้านคน หรือ 18.3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรประเทศ (ซึ่งรวมทั้งตัวผมด้วย)

ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ นะครับ จะได้แข็งแรง อายุยืนอยู่ฉลอง “วัน ส.ว.แห่งชาติ” ต่อไปได้อีกหลายๆ ปี.

“ซูม”

สุขสันต์ "วันปีใหม่ไทย"+สุขใจ "วัน ส.ว. แห่งชาติ", เทศกาล, สงกรานต์, วันผู้สูงอายุแห่งชาติ, อวยพร, ครอบครัว, ซูมซอกแซก