ขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้เมื่อบ่ายแก่ๆ ของวันเสาร์ที่ 8 เมษายนนั้น เว็บไซต์ www.iqair.com ซึ่งทำหน้าที่บันทึกและรายงานสภาพมลภาวะในอากาศของเมืองต่างๆ ทั่วโลกยังคงรายงานว่า “เชียงใหม่” ไทยแลนด์ เป็นแชมป์ “ฝุ่นพิษ” อยู่เหมือนเดิม
ที่ผมใช้คำว่า “เหมือนเดิม” เพราะตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เชียงใหม่ ดูเหมือนจะครองอันดับ 1 ของเมืองที่มี PM 2.5 สูงสุดในโลก โดยไม่มีเมืองอื่นใดมาแซงเลย
การยืนอยู่ในตำแหน่งแชมป์อยู่เรื่อยๆ บ่อยๆ แม้ดีกรีความน่ากลัวจะมากหรือน้อยอย่างไร ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไรนัก
เพราะถ้าหากผู้คนเอาไปพูดเอาไปลือกันอย่างติดปากว่าเชียงใหม่เป็นเมืองอันดับ 1 ฝุ่นพิษ…อีกหน่อยใครเขาจะอยากมาเที่ยว
หนังสือพิมพ์หลายฉบับรวมทั้งไทยรัฐด้วยเสนอข่าวในเช้าวันเดียวกันนี้ว่า รัฐบาลไทยโดย “บิ๊กตู่” พยายามจะหาทางแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในทุกวิธี และล่าสุดถึงกับประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้นำลาวและเมียนมา เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้
เห็นพ้องกันทั้ง 3 ผู้นำว่า จะจัดทำมาตรการระยะยาวตั้งแต่ พ.ศ.2567-2570 ในชื่อว่า “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” หรือ Clear Sky Strategy เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
เพราะสาเหตุหลักก็มาจากการเผาป่าเผาพืชไร่ รวมไปถึงการเกิดไฟป่าในฤดูแล้งในบริเวณป่าและภูเขาที่เชื่อมโยงกันของ 3 ประเทศ
ก็ถือว่าเป็นการริเริ่มที่ดีแม้จะต้องกินเวลาอีกนานกว่าจะแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ แต่ก็ดีกว่าไม่ริเริ่มอะไรเสียเลย
ผมเองได้เขียนแสดงความเห็นใจพี่น้องชาวภาคเหนือ ที่เผชิญกับชะตากรรม PM.25 มาแล้วหลายวัน
นอกจากเขียนด้วยความรักความห่วงใยแล้ว ผมยังเขียนด้วยหัวใจของคนที่รักภาคเหนือ ชื่นชอบภาคเหนือมาตั้งแต่เด็กๆ
ประมาณ พ.ศ.2492 ผม อายุ 8 ขวบยังเรียนชั้นประถมอยู่ที่นครสวรรค์ได้ฟังเพลง “มนต์เมืองเหนือ” ประพันธ์โดย ครูไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้องโดย สมยศ ทัศนพันธ์ ก็รู้สึกประทับใจมาจนถึงวันนี้
ผมมาทราบว่าเพลงนี้ฮิตมาก ฮิตทั่วประเทศไทยก็ตอนมาเรียนหนังสือที่ เตรียมอุดมศึกษา อายุประมาณ 17-18 ปี เข้าไปแล้ว เมื่อเราจัดงานเล็กๆ ฉลองปิดเทอม และมีการออกไปร้องเพลงที่หน้าห้อง
เพื่อนผมคนหนึ่งมาจากสงขลาขึ้นไปร้องเพลง “มนต์เมืองเหนือ” ได้อย่างเพราะพริ้ง และไม่มีสำเนียงใต้เจือปนอยู่เลย แสดงว่า เพลงนี้ฮิตทั่วประเทศไทย ชนะใจคนไทยทุกภาค
ในแง่การบันทึกแผ่นเสียงนั้น ก็ปรากฏว่าเป็นอีกเพลงที่มีการนำไปร้องโดยนักร้องอีกหลายคน อาทิ ทูล ทองใจ, สุเทพ วงศ์กำแหง, กุ้ง กิตติคุณ, สายัณห์ สัญญา, อุเทน พรหมมินทร์ ฯลฯ
ท่อนที่ผมชอบและประทับใจมากที่สุด คือ 2 ท่อนสุดท้ายที่ว่า
“ริมฝั่งวังนํ้าคํ่าลงคงมีแสงจันทร์…คืนหนึ่งคืนนั้นพบกันน้องเอยสองคน…เมืองเหนืออนงค์นั้นคงมีมนต์…เป่าหัวใจเสียจน ก่นให้ใฝ่ฝัน”
“แอ่วเว้าเจ้าวอน ออดอ้อนนํ้าคำ…จนสูรย์ลอยคล้อยตํ่า สายัณห์เย็นยํ่าทุกวัน…แล้วไฉนจะให้ลืมนั้น…แม้นใครได้ไปเที่ยวพลัน รักมั่นในเมืองเหนือเอย”
รุ่นผมที่เป็นแฟน สมยศ ทัศนพันธ์ ยังใช้คำว่า “แอ่วเว้าเจ้าวอน” อยู่ แต่ตอนหลังมีคนไปทักท้วงครูไพบูลย์ว่า “เว้า” เป็นภาษาอีสาน ไม่ใช่ภาษาเหนือ ครูไพบูลย์จึงเปลี่ยนเป็น “แอ่วสาวเจ้าวอน” ตั้งแต่ยุคของ ทูล ทองใจ เป็นต้นมา
ผมเองไม่ถือสาเรื่องภาษาเท่าใดนัก เคยร้องมาอย่างไร ก็ร้องไปอย่างนั้น…ร้องด้วยความรัก ความคิดถึง บรรยากาศเก่าๆ
จึงภาวนาขอเอาใจช่วยให้ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” ของบิ๊กตู่และบิ๊กเพื่อนบ้านของเราประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้
แต่สำหรับสถานการณ์เฉพาะหน้า เทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ผมก็ภาวนาขอให้ฝนสงกรานต์ตกล่วงหน้ามาก่อนสัก 2-3 วัน เพื่อดับ PM 2.5 ให้เบาลง
คนไทยที่ยังลังเลใจจะได้ไปเที่ยวเมืองเหนือโดยพลัน และรักมั่นในเมืองเหนือตลอดไปดังที่ครูไพบูลย์ประพันธ์ไว้เมื่อ 74 ปีที่แล้ว.
“ซูม”