ผมจะแว่บไปต่างจังหวัดสัก 3-4 วัน ตามคำชักชวนของคุณ “เบิร์ด” ธงไชย แมคอินไตย์ แบรนด์แอมบาสเดอร์ของ ททท.ที่เพิ่งออก แคมเปญใหม่ ชักชวนคนไทยให้เดินทางเที่ยวเมืองไทยอีกครั้งใน พ.ศ.นี้
ภายใต้ชื่อโครงการ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” และภายใต้แนวคิด “โมเมนต์ที่ใช่ สร้างได้ไม่ต้องรอ” นั่นแหละครับ
โมเมนต์ที่ใช่ของผมอยู่ที่ไหน? กลับมาแล้วค่อยบอกนะครับ เพราะสำหรับวันนี้ผมตั้งใจแค่จะบอกว่า ผมจะไปเที่ยว และจะขออนุญาตเขียนแบบมินิซีรีส์ล่วงหน้าทิ้งไว้สัก 3-4 วัน เช่นที่เคยปฏิบัติมา
เผอิญเมื่อสัปดาห์ก่อนโน้นผมแวะไปเยี่ยมเพื่อนรักเกลอเก่า “เจ้าพ่อ” สื่อกีฬา…คุณ ระวิ โหลทอง ประธานใหญ่ของเครือ สยามสปอร์ตฯ ที่ท่านผู้อ่านคงรู้จักเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
คุณระวิ ต้องไปขึ้นเขียงให้คุณหมอของ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ผ่าตัดเข่า ด้วยโรคที่เรียกกันว่า “ข้อเข่าเสื่อม” อยู่หลายวัน เพิ่งจะกลับไปทำกายภาพบำบัดต่อที่บ้านเมื่อเร็วๆนี้
ระหว่างเยี่ยมก็คุยกันไปซักถามอาการของโรคไป และผลของการผ่าตัดไป ทำให้รู้ว่าคนเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นทุกข์ทรมานอย่างไร และแค่ไหน? และเหตุใดจึงต้องตัดสินใจมาผ่าตัด
ครั้นเมื่อกลับมาถึงบ้าน รีบไปค้นหาข้อมูลอ่านต่อในเว็บสารพัดรู้ “กูเกิล” ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าโรคนี้อยู่ใกล้ๆตัวผม และคนไทยที่กำลังเป็น “ส.ว.” หรือผู้สูงวัยกว่า 12 ล้านคนทั่วประเทศในขณะนี้เหลือเกิน
น่าจะนำมาเขียนแนะนำวิธีป้องกัน และแนวทางรักษาต่างๆ ในคอลัมน์นี้บ้างเมื่อมีโอกาส
เหนืออื่นใด แม้วันที่ผมไปเยี่ยมคุณระวิ จะมิได้พบคุณหมอที่นำทีม “เจี๋ยน” คุณระวิ แต่เห็นชื่อท่านที่แขวนไว้หน้าห้องพักผู้ป่วย ผมก็บอกกับคุณระวิทันทีว่า…ยูรู้ไหมเพื่อน?
นี่แหละหมอผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าระดับเดี่ยว มือหนึ่งของประเทศไทย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นข่าวคราวในสื่อมวลชนต่างๆ บ่อยครั้ง
คุณหมอกีรติไม่เพียงแต่จะเก่งและมีชื่อเสียงด้านผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเท่านั้น ท่านยังเป็นหมอที่อุทิศตนให้แก่สังคมไทย และแบ่งเวลาออกไป “ผ่าเข่า” คนจนคนด้อยโอกาสมาแล้วเกือบทั่วประเทศ
น่าจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่วงการแพทย์และสังคมไทยให้ผมเขียนได้สัก 3-4 วันอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้
โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) คือโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพหรือการสึกหรอของผิวกระดูกอ่อนที่ข้อเข่า ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นไปตามอายุของมนุษย์เมื่ออายุมากขึ้น เดินมากขึ้น ข้อเข่าที่รับน้ำหนักจึงต้องเสื่อมลงไปบ้างเป็นของธรรมดา
ตัวเลขขององค์การอนามัยโลกระบุว่าเมื่อปี 2565 ทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ประมาณ 600 ล้านคน เทียบกับประชากรโลกใกล้ๆ 8 พันล้านคนของทั่วโลก ก็ประมาณร้อยละ 13 ถือว่าเยอะเอาการอยู่
ของไทยเราตัวเลขเมื่อปี 2564 บอกว่ามีคนป่วยด้วยโรคนี้ 6 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 11 ของประชากรไทยในปีเดียวกัน ซึ่งก็คงต้องถือว่าเยอะเช่นเดียวกัน
และถ้าเอาไปเทียบกับประชากรอายุเกิน 60 ปี ซึ่งมีประมาณ 12 ล้านคน ในปีที่ว่าก็จะถือว่าครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุหรือท่าน ส.ว.ที่เป็นโรคเข่าเสื่อม
ถึงได้บอกว่าเรื่องนี้อยู่ใกล้ตัวผมและผู้สูงอายุทั้งหลายแหล่ดังที่เขียนไว้ตอนต้น
ก็มาถึงคำถามข้อสำคัญที่ท่านผู้อ่านหลายท่านคงอยากรู้รวมทั้งผมด้วยคือ เมื่อเวลาเป็นโรคนี้แล้วสาหัสสากรรจ์แค่ไหน?
คำตอบเท่าที่ค้นคว้าได้ค่อนข้างชัดเจนว่าโรคข้อเข่าเสื่อมไม่ใช่สาเหตุของการเสียชีวิตในทันทีทันใด หรือเสียชีวิตโดยตรง แต่อาจจะเป็นสาเหตุอ้อมๆ เพราะเวลาเป็นแล้วชีวิตจะหมดความสุข กลายเป็นต้องทนทุกข์ทรมาน จนอาจจะเกิดความเบื่อหน่ายท้อแท้ใจได้ในที่สุด
คิดดูเถอะครับจะลุกจะเดินแม้แต่จะนั่งจะนอนก็เจ็บหัวเข่าไปหมด เดินขึ้นบันไดก็โอย ก้าวข้ามอะไรสูงๆ หน่อยก็โอย…จะมีความสุขได้อย่างไร?
พรุ่งนี้เราจะมาหาความรู้เรื่องโรคนี้ต่ออีกสักนิดแล้วจึงค่อยตัดภาพไปที่คุณหมอกีรติกับชีวิตที่อุทิศให้แก่ “ข้อเข่า” คนไทยไม่ว่ายากดีมีจน…กว่า 30 ปีที่ผ่านมา น่าสนใจมากครับขอบอก.
“ซูม”