เมื่อบ่ายๆ วันเสาร์ที่ผ่านมา มีข่าวแพร่สะพัดไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์ว่า “สุรสีห์ ผาธรรม” ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยชื่อดังเรื่อง “ครูบ้านนอก” เสียชีวิตแล้วที่จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน และติดเชื้อในกระแสเลือด สิริอายุ 75 ปี
สำหรับคนรุ่นอายุตํ่ากว่า 50 ปี อาจไม่เคยได้ยินชื่อบุคคลท่านนี้ เลยก็ว่าได้ เพราะปีที่ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ครูบ้านนอก” โด่งดังสุดขีด ทำเงินได้หลายล้านบาทจากการฉายติดต่อกันแรมเดือนในโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย เพียงโรงเดียวนั่นคือ พ.ศ.2521 หรือเมื่อ 45 ปีก่อนโน้น
ซึ่งคนอายุ 50 ปีขณะนี้ เพิ่งจะมีอายุ 5 ขวบเท่านั้นเอง คงไม่มีโอกาสดูภาพยนตร์เรื่องนี้แน่นอน หรือหากจะดูตอนออกมาฉายกลางแปลงก็คงจะจำอะไรไม่ได้มากนัก
ต้องคนอายุ 60 กว่าๆ จนถึง 70 หรือ 80 กว่าๆ หรือ 90 กว่า (ถ้ายังมีชีวิตอยู่) นั่นแหละที่ยังจำได้ และหลายๆ ท่านยังซาบซึ้งตรึงใจในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สร้างมาจากบทประพันธ์ชื่อเดียวกัน “ครูบ้านนอก” โดย คำหมาน คนไค ครูบ้านนอกตัวจริงเสียงจริงจากจังหวัดอุบลราชธานี
ครูคำหมานได้ทุนไปเรียนนอกจนจบโทที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์น โคโลราโด เมืองกรีลีย์ รัฐโคโลราโด เมื่อประมาณ พ.ศ.2511-2512
ผมไปรู้จักท่านที่นั่นเพราะเมืองโบลเดอร์ที่ผมไปเรียนอยู่ห่างจากเมืองกรีลีย์ที่ท่านเรียนประมาณขับรถชั่วโมงครึ่ง นักเรียนจาก 2 เมืองนี้ จึงขับรถไปมาหาสู่กันอยู่เสมอๆ
สมพงษ์ พละสูรย์ ซึ่งเป็นชื่อจริงของท่าน และเคยบอกกับผมอย่างมีอารมณ์ขันว่า “ชีวิตผมหนีไม่พ้นบ้านนอก…เป็นครูบ้านนอก…ได้ทุนมาเรียนเมืองนอก แต่ก็เป็นเมืองนอก-บ้านนอกอยู่ดี”
แต่เมื่อเรียนจบกลับมา ครูคำหมานดูเหมือนจะได้เป็นคนกรุงเต็มตัว เพราะมีคำสั่งย้ายให้มารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ผมไม่แน่ใจว่ากรมไหน จนเกษียณอายุอยู่ที่เมืองหลวงในที่สุด
ระหว่างกลับจากนอกใหม่ๆครูคำหมานยังคงเขียนเรื่องสั้นชุด “ครูบ้านนอก” ออกมาเป็นระยะๆ จนวันหนึ่งก็มีข่าวว่า คุณกมล กุลตังวัฒนา ซื้อมาสร้างภาพยนตร์และมอบให้ สุรสีห์ ผาธรรม เป็นผู้กำกับ ได้ ปิยะ ตระกูลราษฎร์ มาเป็นพระเอก และ วาสนา สิทธิเวช เป็นนางเอก เตรียมออกโรงฉายเมื่อ พ.ศ.2521 ดังกล่าว
ผมได้รับเชิญไปดูในรอบสื่อมวลชนด้วย ดูจบแล้วติดใจ วันรุ่งขึ้นไปตีตั๋วดูซ้ำอีกรอบก่อนจะเขียนเชียร์ผ่านคอลัมน์นี้ถึง 2 วันเต็มๆ
เชียร์ทั้งเจ้าของบทประพันธ์เพื่อนผมและผู้กำกับ สุรสีห์ ผาธรรม ซึ่งเป็นชื่อที่ใหม่มากสำหรับผม แต่กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ดีเหลือเกิน
ผู้แสดงทุกคนก็แสดงได้ดีสมบทบาทตั้งแต่ครูปิยะ ครูวาสนา ไป จนถึงเด็กนักเรียน ซึ่งในช่วงต้นภาพยนตร์ปูพื้นให้เห็นถึงความอัตคัดขัดสนของการเล่าเรียนในชนบทอีสาน ผ่านบทซื่อๆน่ารักๆของเด็กนักเรียน เฮฮาไปโดยตลอด
ก่อนจะไปหักมุมตอนท้ายเมื่อพระเอกลุกขึ้นสู้กับอิทธิพลท้องถิ่นที่ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า จึงถูกกำจัดทิ้ง โดยเฉพาะฉากดราม่าตอนครู ปิยะโดนยิงเสียชีวิต สะเทือนใจผู้คนทั้งโรง…
หลังจากผมเขียนลงคอลัมน์ไป 2 วัน ก็มีนักวิจารณ์ภาพยนตร์อื่นๆ ออกมาวิจารณ์ให้กำลังใจอีก โดยเฉพาะ “ท่านอาจารย์หม่อม” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงขนาดเขียนเชียร์เต็มหน้า 5 สยามรัฐ ของท่าน
เป็นแรงส่งที่สำคัญยิ่งที่ทำให้ “ครูบ้านนอก” กลายเป็นภาพยนตร์เงินล้าน และกลายเป็นตำนานที่โจษขานเรื่อยมาแม้จนบัดนี้
45 ปีผ่านไปผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “ครูบ้านนอก” ค่อยๆ ทยอยอำลาจากโลกนี้ไป ทั้ง กมล กุลตังวัฒนา ผู้อำนวยการสร้าง ทั้ง “คำหมาน คนไค” หรือ สมพงษ์ พละสูรย์ ผู้ประพันธ์ ทั้ง ปิยะ ตระกูลราษฎร์ พระเอก เมื่อปลายปีที่ผ่านมานี้เอง
ล่าสุดจากข่าวเมื่อวันเสาร์ที่แล้วก็คือผู้กำกับ “สุรสีห์ ผาธรรม”
ในฐานะแฟนหนังไทยคนหนึ่ง ผมขอแสดงความเสียใจและอาลัยอย่างยิ่งต่อการจากไปของผู้กำกับสุรสีห์ไว้ ณ ที่นี้
ที่สุดของที่สุด ผมขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณอีกครั้งนะครับสำหรับทุกๆ ท่าน…ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และที่ได้ล่วงลับไปแล้ว…ในการร่วมกัน “รังสรรค์” ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ครูบ้านนอก” จนกลายเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศไทย.
“ซูม”