แก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 วาระแห่งชาติ (หน้า) ล่าสุด!

2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมต้องตื่นขึ้นมาเปิดแอปของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทุกๆ เช้า เพื่อหาข้อมูลว่าอากาศแถวๆ บ้านผม จะเป็นอย่างไรบ้าง

เพราะกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งของผมตอน 7 โมงเช้าก็คือการออกเดิน ไปตามสนามรอบๆ บ้าน เพื่อออกกำลังเล็กๆ น้อยๆ ตามประสาผู้สูงวัย

แต่เนื่องจากมีข่าวหนาหูว่าฝุ่นพิษ หรือ “ฝุ่นจิ๋ว” PM 2.5 กำลังอาละวาดหนักใน กทม.ในช่วงนี้ จึงมีความจำเป็นที่ผมจะต้องหาข้อมูลเสียก่อนว่า เจ้าฝุ่นจิ๋วที่ว่านั้นมาอาละวาดแถวๆ บ้านผมหรือไม่?

ถ้ามาถึงและเกินขอบเขตของความปลอดภัย ผมจะได้นั่งดูทีวีต่อหรือหากจะออกกำลังบ้าง ก็จะใช้วิ่งเหยาะๆ ซอยเท้าอยู่แต่ในบ้าน

ต้องขอบคุณแอปของกรมควบคุมมลพิษเป็นอย่างยิ่งไว้ ณ ที่นี้ ที่ทำให้ผมตัดสินใจอย่างถูกต้องเสมอๆ

อย่างเช่นวันที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับ (วันนี้) แอปของกรมควบคุมมลพิษก็ขึ้นให้เห็น “สีส้ม” ซึ่งแปลว่ามีฝุ่นพิษเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นขั้นที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึง 82 เขตพื้นที่ จากประมาณ 90 พื้นที่ ที่มีการวัดใน กทม.และปริมณฑล

ที่เหลืออีก 8 พื้นที่ ก็เป็น “สีเหลือง” ซึ่งแปลว่า “คุณภาพปานกลาง” ทั้งหมด ไม่มี “สีเขียว” ที่แปลว่า “คุณภาพดี” หรือ “สีฟ้า” ที่แปลว่า “คุณภาพดีมาก” แม้แต่จุดเดียว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บ้านผมตกอยู่ในเกณฑ์ “สีส้ม”…ถ้าจำไม่ผิดน่าจะ 7 หรือ 8 ครั้งแล้วละครับในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ยังโชคดีที่ไม่ถึงกับขึ้นเป็น “สีแดง” ที่เขาใช้คำว่า “มีผลกระทบ” ต่อสุขภาพ ซึ่งจะต้องระวังตัวปิดปากปิดจมูกให้สนิทก่อนออกจากบ้าน

ผู้ที่โชคร้ายที่สุดใน กทม.ช่วงนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นพี่น้องประชาชนที่อยู่อาศัย ณ ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม กทม. นั่นเอง

เพราะที่จุดนี้จะขึ้น “สีส้ม” บ่อยมาก และบางครั้งก็ไปถึง “สีแดง” โน่นเลย จากการสังเกตของผม

บางวันที่อื่นๆเขา “เขียว” บ้าง “ฟ้า” บ้างกันเต็มพรืด แต่ที่ริมถนนมาเจริญ เขตหนองแขม ที่ว่ายัง “ส้ม” อยู่นั่นเอง

ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร? ฝากกรมควบคุมมลพิษลองส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลเขตนี้หน่อยนะครับ

ในส่วนของสาเหตุหลักของ PM2.5 ใน กทม.นั้น จากการสำรวจโดยเฉลี่ยพบว่ามาจากไอเสียรถยนต์ประเภทต่างๆ ถึงร้อยละ 54 โดยเฉพาะจากรถดีเซล ซึ่งมีถึง 10 ล้านคัน ใน กทม.และปริมณฑล

อันดับ 2 มาจากการเผาในที่แจ้งประมาณร้อยละ 35 และที่เหลือจากนั้นร้อยละ 11 มาจากโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้างต่างๆ

แต่ในช่วงนี้อาจจะมี PM2.5 จากภายนอกมาสมทบด้วย โดยเฉพาะจากการเผาไร่อ้อยตามจังหวัดที่อยู่รอบๆ กทม.

มีรายงานว่า แม้ทางราชการจะออกมาตรการทั้งจูงใจและลงโทษ เพื่อมิให้ชาวไร่อ้อยลักลอบเผาไร่อ้อย แต่ปรากฏว่า อัตราการลักลอบก็ยังสูงอยู่กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ในปีปัจจุบัน

จังหวัดที่ติดอันดับลักลอบเผาไร่อ้อยสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา, อุดรธานี, กาฬสินธุ์, เพชรบูรณ์, สุพรรณบุรี, ขอนแก่น, อุทัยธานี, นครสวรรค์, กาญจนบุรี, ลพบุรี, สระบุรี ฯลฯ เป็นต้น

จึงเป็นไปได้ที่ช่วงนี้อาจจะมี PM 2.5 “อิมพอร์ต” หรือโดนลมหอบนำเข้าจากจังหวัดใกล้เคียงมาสมทบใน กทม.อยู่พอสมควร

สำหรับแนวทางแก้ไขนั้น ก็พูดกันมาทุกปีมีมาตรการทั้งจูงใจและลงโทษมาหลายปี แต่ปัญหาก็ยังไม่ลดลง

จำนวนรถใน กทม.ก็ยังมากขึ้นทุกวัน การเผาไร่อ้อยหรือไร่ต่างๆ ก็ยังมีการลักลอบอยู่เรื่อยๆ การปล่อยควันจากโรงงานก็ยังไม่หยุด ฯลฯ

ที่ผมเขียนมาวันนี้ ก็คงไม่มีบทสรุปไม่มีข้อเสนอแนะ ไม่มีแนวทางแก้ปัญหาอะไรทั้งสิ้น เพราะเสนอกันมามากแล้ว และก็มีการปฏิบัติไปมากแล้ว เสนออะไรออกมาอีกก็จะเป็นการซ้ำๆซากๆ น่ารำคาญเสียเปล่าๆ

มีคนเคยพูดว่าปัญหาบ้านเรามีอยู่มากมายหลายปัญหา และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อการแก้ไขหลายๆ ปัญหา

ที่น่าห่วงก็คือ “วาระแห่งชาติ” ที่ว่ามักจะต้องเติมคำว่า “หน้า” ลงไปด้วย เป็น “วาระแห่งชาติ (หน้า)” เสียเป็นส่วนใหญ่ คือไม่มีทางแก้ได้สำเร็จในชาตินี้ ต้องยืดวาระไปแก้ปัญหาต่อในชาติต่อไป

การแก้ปัญหา PM 2.5 เห็นทีจะเป็น “วาระแห่งชาติ (หน้า)” ไปเรียบร้อยอีก 1 ปัญหาแล้วครับ ถ้าดูจากความไม่ค่อยสำเร็จของการแก้ปัญหาในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมานี้.

“ซูม”

แก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 วาระแห่งชาติ (หน้า) ล่าสุด!, ฝุ่นจิ๋ว, PM 2.5, กรมควบคุมมลพิษ, อากาศ, วาระแห่งชาติ, ปัญหา, ซูมซอกแซก, สิ่งแวดล้อม