เมื่อช่วงสายๆ ของวันจันทร์ที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์ต่างพากันพาดหัวใหญ่ว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกผ่าน “เพจ” ของท่าน เปิดเผยความในใจหลายๆ ข้อ
ข้อสำคัญที่สุดก็คือเพราะเหตุใดท่านจึงตัดสินใจกระโดดลงสนามในศึกเลือกตั้งครั้งนี้? ทั้งๆ ที่วัยปูนท่านและมีทุกอย่างพรั่งพร้อมแล้ว ควรจะหยุดการเมืองหันไปใช้ชีวิตอย่างสบายๆ เสียมากกว่า
คำตอบข้อแรกของท่านเกี่ยวกับประเด็นข้างต้นก็คือท่านยังมีความผูกพันอยู่กับน้องๆ และผู้คนจำนวนมากที่ร่วมกันสร้าง พรรคพลังประชารัฐ ขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาเกือบ 4 ปีเต็ม
เมื่อทุกคนยังมีความหวังยังมีความตั้งใจที่จะทำงานต่อจึงตัดสินใจลงสนามสู้ต่อทั้งๆ ที่รู้ว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก…ท่านจะทอดทิ้งไปได้อย่างไร
มาคำตอบข้อที่ 2 นี่ซีครับ เป็นหัวข่าวใหญ่เลยเพราะท่านบอกว่าประเทศไทยมีความขัดแย้งที่ใหญ่หลวงเหลือเกินระหว่างบุคคล 2 กลุ่ม ซึ่งอาจมีจุดหมายปลายทางที่เหมือนกันคือ อยากเห็นความเจริญของชาติบ้านเมืองในที่สุด
แต่เส้นทางไปสู่ความเจริญของประเทศชาตินั้น ทั้ง 2 กลุ่มเห็นไม่ตรงกัน และกลายเป็นความขัดแย้งที่บานปลายขึ้นทุกขณะในขณะนี้
เหตุเพราะกลุ่มแรกที่ท่านเรียกว่า “กลุ่มอีลิต” หรือกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดความเป็นไปของประเทศชาติ ล้วนมองไปที่ “ความเป็นมา” และพฤติกรรม “ของนักการเมือง” ด้วยความไม่เชื่อถือไม่เชื่อมั่น
ความไม่เชื่อถือที่ว่านี้นำไปสู่ความข้องใจใน “ประชาธิปไตย” และความรู้ความสามารถของ “ประชาชน” ในการเลือกนักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ
ขณะเดียวกันความไม่เชื่อถือไม่เชื่อมั่นดังกล่าวนี้ก็ทำให้กลุ่ม “อีลิต” หรือผู้มีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศ เห็นดีเห็นงามกับการ “หยุดประชาธิปไตย” เพื่อ “ปฏิรูป” หรือ “ปฏิวัติ” กันใหม่เพื่อหวังแก้ไขให้ดีขึ้น
ท่านยอมรับว่าในฐานะที่ท่านรับราชการทหารและเติบโตมาในแวดวง ทหาร…แรกๆ ท่านก็มีความคิดในลักษณะเดียวกับกลุ่ม “อีลิต” เหล่านี้
จนกระทั่งท่านมาร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ได้รับรู้และสัมผัสกับประสบการณ์อีกด้านหนึ่ง ทำให้ท่านเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศไทยไปด้วย “ระบอบประชาธิปไตย”
จากนั้นท่านก็อธิบายไปถึงจุดอ่อนของกลุ่มอีลิต ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นต้นตอของความแตกแยกและขัดแย้งระหว่างฝ่ายอีลิตที่ท่านตั้งชื่อให้ในตอนหลังว่า “ฝ่ายอำนาจนิยม” กับฝ่ายประชาธิปไตยหรือเสรีนิยมที่ท่านเรียกใหม่สั้นๆ ว่า “ฝ่ายเสรีนิยม”
ท่านเชื่อว่าความขัดแย้งของ 2 ฝ่ายรุนแรงมาก เพราะแต่ละฝ่ายต้องการชัยชนะที่เด็ดขาด และ “ทำลายอีกฝ่ายให้สิ้นสูญ” กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ
ท่านจึงตัดสินใจเสนอตัวเข้ามาแก้ความขัดแย้งนี้เพราะท่านเข้าใจ ทั้ง นักวิชาการอนุรักษนิยม และเข้าใจ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” พร้อมกับทิ้งท้ายว่า “ผมเชื่อมั่นว่าผมทำได้” หากประชาชนให้โอกาสผม
ท่านย้ำด้วยว่าจดหมายนี้เขียนด้วย “ทีมงาน” ที่มีความรู้ความสามารถของท่าน แต่ท่านอ่านทุกตัวอักษรผ่านการตรวจทานของท่านอย่างละเอียด ดังนั้น ท่านจึงขอรับผิดชอบทุกตัวอักษรเสมือนท่านเขียนด้วยตนเอง
ครับ! เนื้อหาสาระโดยสรุปในจดหมายเปิดผนึกของท่านก็มีประมาณนี้ ผมต้องขออภัยที่สรุปมาเสียยืดยาว เพราะผมเองก็ต้องทำความเข้าใจไปด้วยเช่นกัน
ผมมีความเห็นต่างกับท่านในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะสมมติฐานหรือคำจำกัดความของกลุ่ม “อีลิต” ที่ท่านตั้งชื่อภาษาไทยว่า “ฝ่ายอำนาจนิยม” ไปจนถึงท้ายสุดคือ “อนุรักษนิยม”
ในประเด็นความ “ขัดแย้ง” เองผมก็เห็นว่าบ้านเราแตกเป็นเสี่ยงในหลายๆ เรื่อง และลึกซึ้งมากกว่ากลุ่ม 2 กลุ่มที่ท่านกล่าวถึง
แต่ก็จะขอเก็บความไม่เห็นด้วยไว้ในใจเพราะเป็นแนวการเขียนของผมมาตั้งแต่เริ่มเขียนหนังสือแล้วครับที่จะวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดในช่วง “หาเสียง” ไม่บอกว่าใครดีใครเด่น
เว้นเสียแต่จะเป็นแนวคิดที่จะมีความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างชัดแจ้งนำไปสู่ผลกระทบต่อความมั่นคง ต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนเท่านั้น
ของท่านถือเป็นความตั้งใจดีแม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับสมมติฐานและ คำอธิบายหลายๆ ตอนก็จะขอผ่านไป ปล่อยให้ประชาชนตีความเอาเอง
ผมจะรอตามอ่านฉบับต่อๆ ไปนะครับลุงป้อม.
“ซูม”