ถวาย “ระฆัง” ที่วัด “ระฆังฯ” บันทึกจาก “ระฆัง” ใบเก่า

ผมเพิ่งเขียนถึงพระพุทธรูปองค์ใหญ่ หรือ “พระเจ้าใหญ่แก้วมุกดาศรีไตรรัตน์ แห่งวัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ จังหวัดมุกดาหาร ในคอลัมน์ซอกแซกเมื่อวานนี้เอ

สืบเนื่องมาจากการเดินทางไปจังหวัดมุกดาหารของผมกับชาวคณะสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทยอยเขียนเรื่องต่างๆ ของมุกดาหารมาเรื่อยๆ เพิ่งจะมาได้คิวเขียนถึงวัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ เมื่อฉบับวันอาทิตย์ในคอลัมน์ “ซอกแซก”

ก็พอดีเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว คุณ เพ็ชรากรณ์ วัชรพล รองหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ชักชวนพวกเราที่กองบรรณาธิการให้ไปร่วมทำบุญถวายระฆังแก่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงที่ตั้งอยู่ ณ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย ผมจึงขอตามไปด้วย

ครั้นเมื่อไปกลับมาแล้วได้เห็นบรรยากาศของวัดโดยรวม ได้มีโอกาสกราบพระประธานในพระอุโบสถ และได้กราบรูปปั้น สมเด็จโตฯ หน้าวัด ตลอดทั้งได้ร่วมถวายระฆังกับเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวกองบรรณาธิการไทยรัฐก็รู้สึกปีติใจ ขอลัดคิวเขียนถึงทันทีทันใดเมื่อกลับมาถึงโรงพิมพ์

ท่านผู้อ่านที่รับไทยรัฐเป็นประจำจึงได้อ่าน เรื่องราวเกี่ยวกับวัดวาอารามในคอลัมน์ผมติดต่อกัน 2 วันซ้อนแบบ “อิ่มบุญ” ยกกำลังสองว่างั้นเถอะ

จริงๆ แล้วผมก็เคยไปวัดระฆังฯ มา 2-3 ครั้งในชีวิตนี้ แต่ล่าสุดก็น่าจะกว่าสิบปีแล้วที่มิได้เข้าไปเดินไปกราบพระต่างๆ ถึงในตัววัด

ไปครั้งนี้จึงรู้สึกตื่นเต้นมากและรีบไปตั้งแต่เช้าก่อนเวลานัดหมายนับชั่วโมง เพื่อเดินตระเวนไปตามจุดสำคัญต่างๆ

จุดแรกเลยก็คือไปกราบพระประธานในพระอุโบสถที่ได้พระราชทานสมัญญานามจากในหลวงรัชกาลที่ 5 ว่า “พระประธานยิ้มรับฟ้า” ด้วยเป็นองค์พระที่พระพักตร์อิ่มเอิบเสมือนมีรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา

สมเด็จพระปิยมหาราชตรัสแก่ผู้มาเข้าเฝ้าว่า ไปวัดไหนก็ไม่เหมือนมาวัดระฆังฯ เพราะพอเข้าประตูโบสถ์พระประธานก็ยิ้มรับฟ้าทุกทีไป เป็นผลให้พระประธานในพระอุโบสถของวัดระฆังฯ ได้นามใหม่ว่า “พระประธานยิ้มรับฟ้า” มาตั้งแต่บัดนั้น

จุดที่ 2 ก็มายืนประนมมือไหว้รูปปั้นสมเด็จโต พรหมรังสี องค์ใหญ่ที่บริเวณหน้าวัด ใกล้ๆ กับท่าน้ำ ซึ่งจะมีประชาชนแวะเวียนมาไหว้ไม่ขาดสาย แม้ในยามเช้าที่คณะของเราไปถึงก็มีผู้คนมากราบไหว้ท่านเป็นระยะๆ อยู่แล้ว

จากนั้นก็ได้เวลาถวายระฆัง ณ หอสวดมนต์ของวัด ซึ่งมีห้องโถงขนาดกลาง มีเก้าอี้สำหรับญาติโยมและมีอาสนะสำหรับพระสงฆ์ที่จะมาทำพิธีอยู่ครบถ้วน

คณะของเราได้รับเมตตาจาก พระเทพประสิทธิคุณ (ประจวบ ขนฺติธโร) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม มาเป็นประธานในพิธีรับถวายและพิธีสวดอนุโมทนา ซึ่งจบลงด้วยการประพรมน้ำมนต์และแจกพระสมเด็จวัดระฆังรุ่นล่าสุดแก่คณะของเราจนครบทุกคน

เป็นความเชื่อของชาวพุทธมาแต่โบราณกาลว่า เสียงระฆังคือเสียงแห่งสวรรค์ สัญญาณแห่งบุญความดีเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่สร้างระฆังถวายวัด เพื่อให้พระไว้เคาะตีส่งสัญญาณให้รู้ถึงวันและเวลา จึงเท่ากับเป็นการสร้างความดี ความมีชื่อเสียง และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ฯลฯ

ในสมัยโบราณระฆังนอกจากจะใช้บอกเวลาแล้ว บางครั้งยังใช้เคาะสำหรับร้องทุกข์บอกเล่าถึงความเดือดร้อนของราษฎรแก่ผู้ปกครองบ้านเมืองในแต่ละยุค (ยุคพ่อขุนรามคำแหงใช้ “กระดิ่ง” หรือระฆังขนาดเล็ก)

ด้วยเหตุนี้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จึงเปรียบเสมือนหนึ่งระฆังที่พี่น้องประชาชนชาวไทย ใช้เคาะส่งสัญญาณร้องทุกข์บ้างกล่าวโทษบ้าง ในเรื่องต่างๆ ที่ประชาชนเดือดร้อนมาเป็นเวลายาวนานกว่า 70 ปี

ทุกวันนี้โลกเราก้าวเข้าสู่ยุคการสื่อสารอัจฉริยะ บรรดาสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ เข้ามารับหน้าที่แทนเสียเป็นส่วนใหญ่ และดูจะได้ผลดี เพราะเสียงดังคนอยากฟังมากกว่าเสียงของพวกเรายุคเดิม

ก็ช่างเถอะ ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ตราบใดที่พวกเราในฐานะ “ระฆังใบเก่า” ยังมีลมหายใจอยู่ แม้จะอ่อนแรงไปพอสมควร ก็จะไม่ย่อท้อ หรือยอมแพ้แต่อย่างใดทั้งสิ้น

พวกเราไปถวาย “ระฆัง” (ทองเหลือง) ใบขนาดเขื่องแก่วัดระฆังฯ มาแล้วได้รับศีลได้รับพรจากท่านเจ้าอาวาสวัดระฆังฯและคณะสงฆ์ของท่านมาแบบ “เต็มแม็ก” เรียบร้อยแล้ว

คุณเพ็ชรากรณ์ วัชรพล รองหัวหน้ากองบรรณาธิการ หัวหน้าคณะถวายระฆังของเรา…ฝากให้ผมเขียนกราบเรียนท่านผู้อ่านว่า…ระฆังเก่าๆ ใบนี้จะสู้สู้สู้ตายและไว้ลายต่อไป…ยังสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษคนไม่ดี คนฉ้อฉลของแผ่นดินผ่านเราได้เหมือนเดิมครับ.

“ซูม”