ลดปัญหา “เหลื่อมล้ำ” ข้อเสนอจาก “เจ้าสัว”

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงคลิปปาฐกถานำในการเปิดงานสัมมนาของ THE STANDARD โดย “เจ้าสัว” บัณฑูร ล่ำซำ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย

ที่ผมเผอิญไปเปิดเจอในยูทูบแล้วชอบใจที่ท่านเจ้าสัวสอนเด็กๆรุ่นใหม่ว่า รวยเร็วไม่มีจริง ในโลกใบนี้

จะมีก็แต่รวยด้วยความมานะพยายามและการทำงานอย่างจริงจังและต้องใช้เวลาเท่านั้น

ผมเห็นด้วยพันเปอร์เซ็นต์ จึงคัดลอกความคิดบางส่วนของท่านมาเผยแพร่เผื่อจะช่วยสะกิดใจคนหนุ่มคนสาวรุ่นใหม่ที่มักชอบตั้งเป้าหมายว่า ฉันจะต้องรวยเร็วและรวยให้ได้เมื่อจบจากมหาวิทยาลัย

อีกประเด็นที่คุณบัณฑูรกล่าวไว้เป็นประเด็นในเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่เป็นปัญหายิ่งใหญ่และถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ผมขออนุญาต นำมาเขียนต่อวันนี้ เพื่อให้ครบถ้วน

เจ้าสัวบัณฑูรกล่าวถึงสาเหตุของความเหลื่อมล้ำว่า เพราะมนุษย์เรา “เก่งไม่เท่ากัน” คนเก่งกว่าก็กินเรียบกินรวบหมด ในขณะที่คนไม่เก่งย่อมไม่มีทางสู้ และโดนกินเรียบอย่างที่ว่า

ท่านเปรียบเทียบระหว่าง “กทม.” กับหมู่บ้าน “ชายขอบ” หมู่บ้านหนึ่งของ จังหวัดน่าน มีภาพบ้านไม้สังกะสีโทรมๆ ส้วมโทรมๆ และความเป็นอยู่ของผู้คนในครอบครัวยากจนมาให้ดูประกอบคำบรรยาย

คุณบัณฑูรซึ่งหลังจาก “ล้างมือในอ่างทองคำ” จาก ธนาคารกสิกรไทย แล้วก็ไปทุ่มตัวให้กับโครงการ น่าน แซนด์บ็อกซ์ เพื่อแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นป่าต้นธารของ แม่น้ำน่าน 1 ใน 4 ของแม่น้ำที่รวมกันแล้วเป็น แม่น้ำเจ้าพระยา

ท่านต้องไปจังหวัดน่าน ซึ่งท่านบอกว่าท่านโอนทะเบียนบ้านไปอยู่ที่โน่นแล้ว บ่อยครั้งและแน่นอนจะต้องลงไปพบกับสภาพความยากจนของพี่น้องประชาชนชายขอบ แทบไม่เว้นแต่ละวัน

ท่านบอกว่า ผู้คนที่โน่นก็ร้องเพลงกล่อมลูก “จันทร์เจ้าขา” คล้ายๆ ผู้คนในกรุงเทพฯ เหมือนกัน แต่เนื้อร้องจะออกมาในทำนองว่า

“จันทร์เจ้าขา อาหารไม่พอ ครูกับหมอสักคน บ้านฉันก็ไม่มี แก้วแหวนมณี ฉันไม่ต้องการ” แตกต่างไปจากเพลงจันทร์เจ้าขาเนื้อเก่า

เจ้าสัวบัณฑูรสรุปว่า คนซึ่งมีจำนวนมากในบริเวณชายขอบเหล่านี้จะเอาสติปัญญาหรือฝีมือไปสู้ใครเขาได้ในระบบทุนนิยมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างดุเดือดในทุกระดับ

แล้วท่านก็เสนอแนะวิธีที่จะลดความเหลื่อมล้ำไว้ 4 ข้อ ดังนี้

1.เก็บภาษีอย่างทั่วถึงเก็บมันหมดทุกอย่าง เก็บเท่าไหร่อย่างไรไป ตกลงกันในรัฐสภา

2.ช่วยให้สู้กันได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ SME ไม่มีทุน ไม่มีความรู้ จะสู้เจ้าสัวได้อย่างไร แต่ก็ต้องพยายามให้ได้ ให้ความรู้ให้ทุนให้ระบบ ที่เอื้ออำนวย ก็ลองไปทำกันดู

3.อะไรที่มีจำนวนจำกัด อาจต้องมีการจำกัดไม่ให้ใครเอาไปเสีย ทั้งหมดและสำคัญที่สุดก็คือ ที่ดิน ซึ่งมีจำกัด ถึงจุดหนึ่งคงจะต้องมีวิธีจำกัดว่าคน หนึ่งควรมีเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย และต้องไปถกกันอีกในรัฐสภา

4.ถ้าทำได้จะชะงัดมาก…คนทำผิดเหมือนกันต้องรับโทษเหมือนกัน เมาเหล้าขับรถชนคนตายมันไม่สำคัญว่ารถที่ชนเป็นรถซุปเปอร์คาร์หรูหรา หรือรถคันเล็กๆ ใช้แก๊สเป็นน้ำมัน…จะต้องรับโทษเท่ากัน

ข้อหลังจะช่วยแก้ความ “เหลื่อมล้ำในหัวใจ” ของผู้คนได้ทันที ความเหลื่อมล้ำในหัวใจเป็นความเหลื่อมล้ำที่น่ากลัวที่สุด

ครับ! ข้างต้นนี้เป็นข้อความที่ผมเรียบเรียงมาจากปาฐกถาส่วนที่ 2 ของ “เจ้าสัวปั้น” อาจมีตกแต่งให้บ้างเล็กน้อย เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น

ข้อเสนอทุกเรื่องคงไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีการพูดการคิดการเสนอและบางเรื่องก็ได้ทำมาบ้างแล้วแต่ทำแบบครึ่งกลาง ผลจึงออกมาเหมือนไม่ค่อยทำอะไร

ผมต้องขอบคุณเจ้าสัวบัณฑูรที่พูดถึงเรื่องนี้และลงไปทำเรื่องนี้ด้วยตนเองขอให้กำลังใจเจ้าสัวให้ทำต่อไปอย่าได้ลดละ และหวังว่าเจ้าสัวอื่นๆ จะลงไปทำเช่นนี้บ้าง

ผมเห็นด้วยครับว่า “ความเหลื่อมล้ำในหัวใจ” เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด และถ้าเจ้าสัวหรืออาเสี่ยอื่นๆ ลงไปลุยช่วยชนบทมากขึ้น ผมเชื่อเหลือเกิน ว่าจะช่วยแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำทางจิตใจได้อย่างตรงจุด

ขอฝากทุกเจ้าสัวและทุกอาเสี่ยไว้ด้วยนะครับ เพราะนี่คือทางรอดและอนาคตของประเทศไทย.

“ซูม”

ลดปัญหา “เหลื่อมล้ำ” ข้อเสนอจาก “เจ้าสัว”, บัณฑูร ล่ำซำ, น่าน แซนด์บ็อกซ์, ปัญหา, ชนบท, คนรวย, คนจน, สังคมไทย, ซูมซอกแซก