“มุกดาหาร” ในความทรงจำ วันนี้-วันนั้นต่างกันไกล (ลิบ)

เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมไปนอนค้างที่จังหวัดมุกดาหาร ชายแดนประเทศไทยด้านตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ติดประเทศ สปป.ลาวมาหนึ่งคืนกับอีกครึ่งวันกว่าๆ ครับ

นับเป็นช่วงเวลาที่ทรงคุณค่าและเปี่ยมไปด้วยความสุขอย่างแท้จริง

เพราะนอกจากจะได้กลับไปเยี่ยมจังหวัดที่อยู่ใน “ความทรงจำ” อย่างลึกซึ้ง และไม่มีวันลืมเลือนได้ของผมเป็นการส่วนตัวแล้ว

ยังได้มีโอกาสฟังเทศน์ฟังธรรมได้สนทนากับพระผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน รวมทั้งได้เดินทางไปกราบไหว้พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกหลายๆ ที่ของจังหวัดมุกดาหาร ได้บุญได้กุศลและความอิ่มอกอิ่มใจกลับมาอย่างประมาณค่ามิได้

เรื่องฟังเทศน์ฟังธรรม ผมขอขยักไว้เล่าในคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” วันอาทิตย์นะครับเพราะเนื้อที่ยาวหน่อย จะได้เขียนกันยาวๆ วันนี้ขอเขียนเฉพาะประเด็นเรื่องความทรงจำก่อนก็แล้วกัน

ผมไป “มุกดาหาร” ครั้งแรกประมาณ พ.ศ.2510 ในภารกิจเกี่ยวกับประเมินผลการพัฒนาเศรษฐกิจภาคอีสานร่วมกับเพื่อนๆ ชาวสภาพัฒน์ยุคโน้นประมาณ 4-5 คน

เรานั่งรถ “แลนด์โรเวอร์” ข้ามภูพานไปสู่สกลนครไปทะลุริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วก็ลัดเลาะผ่านหลายๆ อำเภอที่อยู่ริมแม่น้ำโขง รวมทั้ง มุกดาหาร ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครพนมนี้ด้วย

จำได้ว่าแวะคุยกับท่านนายอำเภอเพื่อขอทราบข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคมต่างๆ พบว่าในแง่การทำมาหากินถือว่ามุกดาหารอยู่ในเกณฑ์ดีพอใช้ อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารการกิน โดยเฉพาะปลาจากแม่น้ำโขงและข้าวจากน้ำที่สูบจากแม่น้ำโขงขึ้นมาทำนาครั้งที่ 2 ได้ด้วยบางพื้นที่

แต่ก็มีปัญหามากด้านสุขภาพอนามัยและความยากจนในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะรายได้ที่เป็นตัวเงินค่อนข้างต่ำมากอย่างน่าใจหาย

รวมทั้งปัญหาหลักคือ หลายๆ พื้นที่ของจังหวัดนครพนมใน พ.ศ.ดังกล่าว เริ่มระอุและมีเสียงปืนจากการสู้รบระหว่างคนไทยเราด้วยกันเองมากขึ้น…หลังวันเสียงปืนแตกเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2508 ที่เรณูนคร

ท่านนายอำเภอยังเตือนพวกเราด้วยซ้ำว่านั่งรถ แลนด์โรเวอร์ ซึ่งเป็นรถตรวจการณ์ของราชการให้ระวังอันตรายไว้ด้วย

ต่อมาในช่วงต้นปี 2525 อีก 15 ปีให้หลัง “ป๋าเปรม” เป็นนายกรัฐมนตรีประกาศใช้นโยบาย 66/23 ตั้งแต่ พ.ศ.2523 เปิดโอกาสให้นักรบในป่าสามารถวางปืนกลับมาช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองได้…ทำให้เหตุการณ์เริ่มสงบลง แต่ก็ยังมีควันหลงอยู่บ้าง

ในปีที่ว่านั่นเอง ผมมีโอกาสติดตามคณะผู้ใหญ่ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐไปเปิด โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๑ (บ้านแข้) อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม ซึ่งอยู่ติดกับอำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม

เรานอนค้างที่มุกดาหาร เพราะมีโรงแรมเล็กๆ พอให้พักอาศัยได้อยู่โรงแรมหนึ่งก่อนไปคำชะอี ยังจำได้ว่าทางอำเภอทั้ง 2 อำเภอ ได้จัดกำลัง อส.ถือเอ็ม 16 คุ้มกันพวกเราไปตลอดทาง

เพราะควันหลงจากการสู้รบยังไม่หมดดีนักอย่างที่ว่า

พอเราเปิดโรงเรียนไทยรัฐวิทยาได้พักหนึ่ง ประมาณเดือนกันยายนของปีเดียวกันนั้น อำเภอมุกดาหารก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น จังหวัดใหม่ ของประเทศไทย และอำเภอคำชะอี ที่เราไปสร้างโรงเรียนให้ก็ย้ายสังกัดจากนครพนมมาขึ้นกับมุกดาหารนับตั้งแต่นั้น

ต้องขอบคุณนโยบาย 66/23 จริงๆ ที่ทำให้คนไทยวางปืนแล้วออกมาช่วยกันพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่

ทำให้จังหวัดมุกดาหารที่ผมเคยไปด้วยความหวาดเสียวในอดีตกลับมาเป็นจังหวัดที่เจริญรุ่งเรือง และอยู่เย็นเป็นสุขดังเช่นทุกวันนี้

ด้วยสะพานมิตรภาพไทยลาว 2 ทำให้มุกดาหารกลายเป็นประตูสู่อินโดจีนไปเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2555 เพราะด้วยทางหลวงหมายเลข 239 จากที่นี่สามารถที่จะเดินทางเข้าสะหวันนะเขต ของ สปป.ลาว ทะลุต่อไปได้ถึงเมืองกวางจี, เว้ และสุดทางที่ดานัง เวียดนาม

ทำให้การค้าชายแดนและการเดินทางท่องเที่ยวผ่านชายแดน ที่ด่านมุกดาหารเป็นไปอย่างคึกคักและเมืองมุกดาหารก็เจริญเติบโต มีตึกรามบ้านช่องสวยงาม เพราะเป็นทั้งเมืองค้าขายและเมืองท่องเที่ยว

ผมมีโอกาสขึ้นไปไหว้หลวงพ่อแก้วมุกดาศรีไตรรัตน์ บนภูเขา ข้างเมือง มองลงมาเห็นตัวเมืองใหญ่โตกว้างขวางแทบจำไม่ได้เลย

ผมจึงต้องตั้งชื่อหัวเรื่องยาวเหยียดในวันนี้ว่า “มุกดาหารในความทรงจำ วันนี้-วันนั้น ต่างกันไกล (ลิบ)” ด้วยประการฉะนี้แหละครับ.

“ซูม”

"มุกดาหาร" ในความทรงจำ วันนี้-วันนั้นต่างกันไกล (ลิบ), แม่น้ำโขง, สะพานมิตรภาพไทยลาว 2, นครพนม, หลวงพ่อแก้วมุกดาศรีไตรรัตน์, ซูมซอกแซก