เมื่อวานนี้ผมเขียนเล่าว่าผมในฐานะลูกค้าประจำขาเก่าของรถไฟฟ้า “แอร์พอร์ตลิงก์” คนหนึ่ง ซึ่งกลับมานั่งทำงานในโรงพิมพ์ได้เกือบเป็นปกติแล้ว จึงตัดสินใจกลับไประลึกความหลังอีกครั้ง
ออกเดินจากประตูหลังโรงพิมพ์ไทยรัฐไปที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส มุ่งหน้าไปเปลี่ยนขบวนสู่ แอร์พอร์ตลิงก์ ที่สถานีพญาไท
ปรากฏว่าไปถึงตอน 4 โมงเย็น วันพุธที่แล้วยังไม่ใช่เวลาเลิกงานของคนไทย…จึงมีผู้โดยสารชาวไทยไม่มากนัก
แต่ก็มีผู้โดยสารต่างประเทศหรือนักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะพอสมควรลากกระเป๋าคนละใบ 2 ใบ เตรียมตัวเดินทางกลับ ทำให้ทุกที่นั่งเต็มหมดและมีคนต้องยืนบ้างส่วนหนึ่ง
ยังไม่ถึงกับอัดเป็นปลากระป๋องดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงนักท่องเที่ยวพีกสุดๆ ก่อนเกิดโควิด-19 ดังที่ผมบรรยายไว้เมื่อวานนี้
ผมตัดสินใจนั่งไปเรื่อยๆ จนถึงสุวรรณภูมิลงไปเดินสำรวจโน่นนี่ นิดหน่อยด้วยความสุขใจ เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยเข้ามาแน่นสุวรรณภูมิบรรยากาศคึกคักมาก ผู้คนเดินไปเดินมาอยู่ตลอด
ดังนั้นในเที่ยวกลับ จึงมีผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวหนาตาถึงขั้นยืนบางส่วน แต่ก็ยืนแบบสบายๆ ไม่ถึงขั้นเบียดเสียดยัดเยียด
ขณะรถออกวิ่ง ผมเริ่มสำรวจขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์อย่างจริงจัง พบว่าน่าจะพ่นสีใหม่แล้ว แต่ตัวขบวนหรือเครื่องเคราต่างๆ น่าจะเป็นของเดิม ไม่น่าจะมีการซื้อใหม่มาเสริมแต่อย่างใด
ที่สถานีสุวรรณภูมิ แม้จะดูสะอาดสะอ้านแต่ก็ยังไม่มีการสร้างใหม่ หรือตกแต่งทาสีติดเครื่องหมายใหม่ๆ จนผิดหูผิดตาไปจากของเก่า
รวมทั้งสถานีพญาไท ที่ผมขึ้นตอนแรกก็ไม่มีอะไรใหม่ยังคงเหมือนเดิมทุกอย่าง
รวมทั้ง “ห้องน้ำ” ด้านในสุดก็ยังเหมือนเดิมและน่าจะยังเป็น “โถ” เดิมที่สะอาดสะอ้าน เพราะแม่บ้านดูแลดี แต่ไม่ใช่โถใหม่ หรือนำมาเปลี่ยนใหม่แน่ๆ (ยืนยันได้เลย เพราะผมคุ้นเคยมากกับ “ห้องน้ำ” ที่นี่)
สำหรับเสียงประกาศนั้น ผมฟังไม่ทันที่สถานีเพราะพอไปถึงรถจะออกพอดีเห็นคนเดินเร็วๆ ผมเลยต้องเดินเร็วตามไปด้วย จึงไม่ทันฟังเสียงประกาศที่สถานีว่าเป็นอย่างไรบ้าง? เปลี่ยนไปแล้ว? หรือยังเหมือนเดิมอยู่?
แต่เสียงประกาศในขบวนรถยังเหมือนเดิมและเป็นเสียงของสุภาพสตรีคนเดิมที่ผมเล่าไว้เมื่อวานว่า ผมคุ้นเคยกับเสียงประกาศของเธอมาก และชอบใจที่เธอประกาศคำว่า “สถานีต่อไป” ด้วยการลากเสียงยาวออกไปนิดๆ ฟังได้ว่า…“สถานีต่อปาย”
ปรากฏว่า ในวันที่ผมนั่งไปสุวรรณภูมิและกลับมาลงที่ สถานีรามคำแหง ดังที่บันทึกไว้นี้ก็ยังเป็นเสียงเดิม “สถานีต่อปาย” เหมือนเดิมครับ
สรุปว่า ยังคงใช้เทปเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ก่อนโควิด-19 ระบาด สำหรับประกาศต่างๆ ทั้งไทยและอังกฤษ
ทำให้ผมรู้สึกแปลกๆ เพราะเคยได้ยินข่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ส่งมอบแอร์พอร์ตลิงก์ไปให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน ซึ่งอยู่ในเครือของ ซี.พี.และพันธมิตรที่ประมูล “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” ไปดำเนินการก่อสร้างและบริหาร…เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
รวมทั้งมีข่าวว่าบริษัทเอกชนดังกล่าวปรับปรุงโน่นนี่ให้ทันสมัยมากขึ้น หลายอย่าง…แต่ไหงทุกขบวนยังเหมือนเดิมอยู่อีกก็ไม่รู้ซี
ทำให้ผมต้องกลับไปเข้ากูเกิลเพื่อค้นหาข่าวเก่าๆ อ่านอีกครั้ง เพราะตั้งแต่ไม่ได้ใช้บริการของรถไฟฟ้าสายนี้ก็ไม่ได้ติดตามข่าวอะไรที่เกี่ยวข้องอีกเลย
ปรากฏว่า ไปเจอข่าวอยู่ข่าวหนึ่งเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 บอกว่า ครม.มีมติอนุมัติให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน เลื่อนจ่ายค่าสิทธิร่วมทุนแอร์พอร์ตลิงก์ จำนวนแรก 10,671 ล้านบาทได้ เพราะจากผลของโควิด-19 ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยทำให้การใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ลดลง
นอกจากข่าวนี้ก็ไม่ได้มีข่าวอะไรอีก หรืออาจมีแต่ผมยังค้นไม่เจอก็เป็นไปได้
บทสรุปของผมก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างของแอร์พอร์ตลิงก์ ณ นาทีนี้ยังเหมือนเดิมอยู่ครับ ซึ่งก็น่าเห็นใจ เพราะผู้โดยสารลดลงอย่างมากในช่วงโควิดระบาด จนภาคเอกชนต้องขอผ่อนส่งรัฐบาลอย่างที่เป็นข่าว
ผมก็ได้แต่หวังว่า เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มดีขึ้นแล้ว ผู้โดยสารต่างประเทศก็มากขึ้นแล้วแม้จะไม่เท่าเก่าแต่ก็ดีขึ้นมาก…คงได้เห็นของใหม่ๆ ที่แอร์พอร์ตลิงก์บ้างเร็วๆ นี้นะครับ.
“ซูม”