เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเขียนเรื่องซอกแซกว่าด้วยการไปเดินลอดอุโมงค์ เชื่อมสนามหลวงและหน้ากรมศิลปากร กับรั้วพระบรมหาราชวัง ด้านหน้าวัดพระแก้วที่เรียกว่า “อุโมงค์ลอดถนนหน้าพระลาน” ด้วยความประทับใจอย่างยิ่ง
ถึงขนาดตั้งชื่อเรื่องว่า “อุโมงค์หน้าวัดพระแก้ว (ตามชื่อที่ชาวบ้านนิยมเรียก) สวยมาก! ไปเดินกันหรือยัง?”
เนื่องจากคอลัมน์ซอกแซกวันอาทิตย์นั้นออกแบบไว้สำหรับการเล่าถึงอะไรก็ได้ที่น่าสนใจ น่ารู้ น่าดู น่าเที่ยว น่ารับประทาน น่าไปถ่ายรูป ฯลฯ เพื่อความสนุกสนาน เพื่อความเบิกบานใจของท่านผู้อ่านที่พักผ่อนอยู่กับบ้านในวันหยุด ผมจึงเล่าเฉพาะเรื่องที่น่ารู้น่าดู และน่าสนุก ฯลฯ เท่านั้น
จะไม่แสดงความคิดความเห็นอะไร อะไรในทางวิชาการ หรือในทางการเมือง หรือในทางใดก็ตามที่จะเป็นเรื่องที่ชวนให้เวียนหัว หรือเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม…ตั้งแต่เปิดคอลัมน์นี้มากว่า 40 ปีแล้ว
ทำให้รายละเอียดตกหล่นไปเป็นอันมาก จึงขออนุญาตนำมาเขียนเล่าเพิ่มเติมในวันนี้ เพื่อให้ครบถ้วนตามที่ได้ไปเห็นมาและค้นคว้าไว้ล่วงหน้า
จากเอกสารที่ค้นคว้าได้พบว่าในการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.เมื่อ 9 ก.ย.2562 ที่ประชุมซึ่งมีอดีตผู้ว่าฯ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นประธานได้อนุมัติรวม 2 โครงการคือ โครงการก่อสร้าง อุโมงค์ลอดถนน หน้าพระลาน 2 จุด คือ จุดแรกจากหน้ากรมศิลปากรไปบริเวณใกล้ๆ ประตูมณีนพรัตน์ เพื่อเข้าสู่วัดพระแก้ว กับจุดที่ 2 เป็นอุโมงค์สั้นๆ จากหน้าที่ทำการ ไปรษณีย์หน้าพระลานไปสู่บริเวณกำแพงรั้วพระบรมมหาราชวังใช้งบประมาณ 945 ล้านบาท
ส่วนโครงการที่ 2 ได้แก่ โครงการก่อสร้าง อุโมงค์ลอดถนนมหาราช จากบริเวณทางลงใกล้ๆ ท่าเรือ ท่าช้าง ไปสู่บริเวณกำแพงวังฝั่งตรงข้ามระยะสั้นๆ 90 เมตร ใช้งบประมาณ 180 ล้านบาท รวม 2 โครงการ 1,225 ล้านบาท
แนวความคิดในการก่อสร้างอุโมงค์ทั้ง 3 แห่ง ใน 2 โครงการนี้ ก็มาจากความคิดทั่วๆ ไปของผู้บริหารเมืองใหญ่ทั่วโลกที่มีรถยนต์แล่นไปแล่นมามากๆ กับจุดที่ผู้คนจะต้องเดินข้ามถนนมากๆ นั่นเอง ซึ่งมักจะเกิดปัญหารถติด หากจะต้องคอยเปิดไฟเขียวไฟแดงเพื่อให้ผู้คนข้ามถนน
ทางแก้ก็คือทำ สะพานลอย ข้ามหรือไม่ก็ขุดอุโมงค์ลอดให้คนเดินข้ามสะพานลอยหรือเดินมุดลงใต้ดินทางใดทางหนึ่งอย่างที่เราเห็นเยอะมากที่โตเกียวที่ฮ่องกงนั่นเอง…ซึ่งระยะหลังการขุดอุโมงค์ลงใต้ดินเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะแม้จะลงทุนสูง แต่ก็อาจใช้ประโยชน์อย่างอื่นเพิ่มเติมได้
ซึ่งของเรานั้นในข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมพระบรมมหาราชวังวันละ 3 หมื่นกว่าคนในช่วงพีกๆ ขณะเดียวกันก็มีคนไทยไปไหว้พระแก้วและชมพระบรมมหาราชวังวันละเป็นหมื่นๆ คนเช่นกัน
ต้องเดินข้ามถนนทั้ง 2 สายนี้ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรเป็นอันมาก จะสร้างสะพานลอยย่อมไม่เหมาะสม จึงเป็นที่มาของการสร้างอุโมงค์ ลงใต้ดินทั้ง 3 อุโมงค์ดังกล่าว
ที่ต้องปรบมือให้ก็เพราะของเราไม่เพียงแค่จะทำอุโมงค์ทางเดินเท่านั้น ยังทำเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้นั่งพักผ่อนกันชิลชิล หลังจากเดินไปเดินมาอีกด้วย รวมทั้งสร้าง ห้องน้ำ ไว้ให้บริการประชาชนตามหน้าที่หลักของ กทม.เอาไว้ในทุกๆ อุโมงค์
ที่ผมชื่นชมมากและเขียนเชียร์ไว้สั้นๆ ในคอลัมน์ซอกแซกที่วันนี้จะขอขยายความให้ยาวขึ้นอีกนิดก็คือ “ห้องน้ำ” นั่นแหละครับ
ขอบคุณ กทม.ด้วยที่ทั้ง 2 อุโมงค์ที่เสร็จแล้ว ท่านสร้างห้องน้ำให้สุภาพสตรีมากกว่าให้สุภาพบุรุษ …โดยเฉพาะใน อุโมงค์หน้าพระลาน ที่เพิ่งสร้างล่าสุด และเนื้อที่กว้างมากถึง 6,280 ตารางเมตร ท่านสร้างห้องน้ำชายไว้ 21 ห้อง และห้องน้ำหญิงถึง 55 ห้อง
นับเป็นความคิดริเริ่มที่ต้องชมเชยอย่างมาก เพราะอย่าลืมว่าปัญหาห้องน้ำหญิงเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เพราะผู้หญิงต้องใช้เวลาเข้าห้องน้ำนานกว่าชาย ทั้งๆ ที่แค่ปัสสาวะเหมือนกัน
เราจะพบว่า ตามห้างต่างๆ ผู้หญิงต้องยืนเข้าคิวรอห้องน้ำจนล้น งานแสดงคอนเสิร์ต หรือละครเวทีช่วงเบรก ห้องน้ำหญิงก็จะยาวเหยียด กว่าผู้หญิงแต่ละคนจะเข้าไปได้ต้องรอคิวกลั้นแล้วกลั้นอีก
จึงเป็นที่มาของการคิดค้น “ที่ปัสสาวะรวม” ของผู้หญิงที่จะช่วยประหยัดเวลาการใช้ห้องน้ำ เป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกเมื่อหลายปีก่อน
กทม.แม้จะไม่ได้สร้างห้องน้ำ “โถรวม” อะไรอย่างที่ว่า แต่ก็ใช้วิชาคณิตศาสตร์อย่างง่ายๆ เมื่อผู้หญิงต้องใช้เวลามากกว่าผู้ชาย 2 เท่า…เราก็สร้างห้องน้ำให้ผู้หญิง 2 เท่าของผู้ชายไปซะเลย
ครับ! ก็เป็นรายละเอียดเพิ่มเติมที่ผมอยากจะเขียนเพิ่มสำหรับสารคดีซอกแซกชุด “อุโมงค์หน้าพระลาน” และก็ขอจบด้วยคำชมและคำเชิญชวนอีกครั้งหนึ่งว่า…สวยมากครับอุโมงค์นี้…ไปเดินกันหรือยัง?
“ซูม”