เมื่อบ่ายๆ วันอาทิตย์ที่ผ่านมา “สำนักวิจัยซูเปอร์โพล” ได้ออกมาเปิดเผยถึงผลการสำรวจเรื่อง “ประเมินเอเปก” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศรวม 1,156 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ได้รับคำตอบที่สำคัญๆดังนี้
ข้อแรก กลุ่มตัวอย่างถึง 85.6 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าประเทศไทยและประชาชนไทยจะได้รับประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิดจากการประชุมนี้มากถึงมากที่สุด
ร้อยละ 10.3 ตอบว่าปานกลาง และร้อยละ 4.1 ระบุว่า ได้น้อยมากจนถึงไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
ข้อสอง ประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 82.5 พอใจมากที่สุดต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีผลงานจัดประชุมเอเปกในประเทศไทยดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด ในขณะที่ร้อยละ 11.4 ตอบว่า พอใจปานกลาง และร้อยละ 6.1 พอใจน้อยถึงไม่พอใจเลย
ข้อสาม ส่วนใหญ่ร้อยละ 81.9 พอใจมากถึงมากที่สุดต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่หารือกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น และอื่นๆ ในการค้าระหว่างประเทศ เช่น ข้าว กล้วยไม้ ฯลฯ
เท่าที่ผมติดตามผลการสำรวจวิจัยของสำนักนี้มาพอสมควร พบว่าท่านหัวหน้าโพลและนักวิชาการต่างๆเป็นนักวิชาการเก่าจากมหา วิทยาลัยที่มีความรู้ และความชำนาญด้านการสำรวจวิจัยมาก่อนทั้งสิ้น
และเคยประกาศจุดยืนขององค์กรเอาไว้ว่า “การขับเคลื่อน, ทุ่มเท และยึดมั่นในสิ่งถูกต้องชอบธรรม เป็นค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรของเรา เพื่อทำงานให้ได้ข้อมูลที่ดีตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพตอบแทนแผ่นดินนี้”
ผมจึงเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมว่าการสำรวจของ “ซูเปอร์โพล” ครั้งนี้เป็นไปตามหลัก “จริยธรรมแห่งวิชาชีพ” ทุกประการ
เมื่อเชื่อเช่นนั้นแล้ว ก็รู้สึกดีใจและภูมิใจในความสำเร็จต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตดังที่หลายๆ ฝ่ายคาดหวังไว้
ผมเรียนท่านผู้อ่านไว้หลายครั้งแล้วว่า ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยและเชื่อมั่นในความสามารถตลอดจนพลังของคนไทยในทุกระดับมาโดยตลอด
เราอาจอ่อนด้อยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงทางด้านธุรกิจการค้าที่ทันสมัยอยู่บ้าง แต่เราก็แข็งแกร่งมากในด้านศิลป วัฒนธรรมและความสามารถทางด้านการให้ “บริการ” หรือซอฟต์เพาเวอร์ อันเป็นผลมาจากความมีจิตใจและอุปนิสัยที่เป็นมิตรแก่ชนทุกชาติ
ทำให้ผลลัพธ์ในการพัฒนาประเทศของเรา เมื่อมองจากรายได้ประชาชาติออกมาในระดับกลางๆ ได้ชื่อว่าเป็นประเทศรายได้ปานกลางอย่างทุกวันนี้
หากเราสามารถกำจัดจุดอ่อนของเราได้โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรของเราให้มีความรู้ความชำนาญในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น มีนักธุรกิจการค้าที่ทันยุคสมัยมากขึ้น และรักษาความโดดเด่นด้าน “ซอฟต์เพาเวอร์” ของเราไว้ให้ได้ควบคู่กันไป
ผมยังเชื่อว่าโอกาสในการก้าวขึ้นสู่ประเทศรายได้สูงขั้นต้นของเราไม่ใช่เป็นเรื่องไกลเกินฝันแต่อย่างใด
ขอให้เราใช้ความสำเร็จของเราที่สามารถจัดการประชุมเอเปกครั้งนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นจุดเริ่มที่จะหันไปเน้นการพัฒนาด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการค้าขายทันสมัยที่เรายังอ่อนด้อยอยู่ เพื่อให้เราก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างเต็มสตีม? ยิ่งขึ้น
ขอขอบคุณ “ทีมไทยแลนด์” ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอีกครั้งครับ เมื่อวานผมเอ่ยเอาไว้เป็นตัวอย่างพอสมควร และใส่เครื่องหมาย ฯลฯ ไว้ แสดงว่ายังมีอีกมาก กรุณาไปเติมคำในช่องว่างกันด้วย
ยิ่งมาได้ดูการโพสต์ของผู้นำประเทศต่างๆ ที่ประทับใจการจัดของเราอย่างยิ่ง เช่น ท่านนายกฯ ลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ และท่านประธานาธิบดี มาครง แห่งฝรั่งเศส แล้วก็ยิ่งปลื้มใจอย่างบอกไม่ถูก
เห็นด้วยกับผลสำรวจของซูเปอร์โพลครับที่บอกว่าไทยเราจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบ “เต็มคาราเบล” หลังจากการประชุมเอเปก อย่างที่ผมพาดหัวไว้วันนี้.
“ซูม”