ผมเพิ่งไปดู “โขน” ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่เรียกกันว่า “โขนศิลปาชีพฯ” หรือ “โขนพระราชทาน” ในสมเด็จพระนาง เจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อ 12 ชั่วโมงก่อนเขียนต้นฉบับวันนี้เอง
โขนเลิกตอน 5 ทุ่มพอดี ใช้เวลานั่งรถกลับบ้าน 40 นาที และใช้เวลาอาบนํ้าอาบท่าเกือบๆ 20 นาที เข้านอนตอนเที่ยงคืนเป๊ะ
พอเที่ยงวันรุ่งขึ้นก็ได้เวลาเขียนต้นฉบับวันนี้…ซึ่งผมตัดสินใจไว้ตั้งแต่ก่อนนอนแล้วว่าจะต้องเขียนถึงเรื่องโขนนี่แหละ…เพราะประทับใจมาก มีความสุขมากๆ
จึงอยากจะ “บันทึก” ไว้เป็นอีกหนึ่งบทแห่งความทรงจำที่งดงาม ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจและการเมืองของบ้านเราค่อนข้างน่าห่วงกังวล
ผมควรจะได้มีโอกาสเข้าชมตั้งแต่รอบแรกๆ ซึ่งเป็นรอบพิเศษต่างๆ และทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ โดย บริษัท พับบลิคฮิต จำกัด ได้กรุณาจัดไว้ให้เป็นที่เรียบร้อย…แต่โชคร้ายต้องมาติด “โควิด–19” เสียก่อน
มาได้ดูเมื่อรอบคํ่าวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรอบขายบัตรตามปกติ ทำให้ผมได้พบกับประสบการณ์ใหม่ คือได้มีโอกาสร่วมอยู่กับผู้ชมที่ต้องจ่ายเงินมาดูโดยแท้จริง
ดังนั้น ความรู้สึกว่า “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” จึงมาจากฐานแห่งความเป็นจริงมากกว่าในรอบพิเศษที่แขกรับเชิญส่วนใหญ่มักได้รับ “บัตรฟรี”
ที่ผมใช้คำว่า “ประทับใจมาก” และ “มีความสุขมาก” ในช่วง อารัมภกถาเมื่อตะกี้ จึงมิใช่เป็นความประทับใจหรือความสุขจากผมที่ “ดูฟรี” เท่านั้น แต่ได้รวมความประทับใจและความสุขจากคนดูเต็มโรง…ที่ต้องจ่ายเงินสูงสุด 1,800 บาท และตํ่าสุด 600 บาท เอาไว้ด้วย
โดยสังเกตจากเสียงปรบมือ เสียงเฮฮา เสียงฮือฮาที่เกิดขึ้นระหว่างการแสดงหลายสิบครั้งหลายสิบหน
ตามมาด้วยการแห่ไปซื้อของที่ระลึกต่างๆ หลังการแสดงโขนจบแล้วอย่างหนาแน่น ทำให้ผมเดาว่ากว่าจะปิดร้านได้น่าจะไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงให้หลัง…รวมทั้งการต่อคิวยาวเหยียดเพื่อจะถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกร่วมกับรูปปั้น “มัจฉานุ” 1 ในตัวละครของชุดนี้…ซึ่งก็น่าจะอีกเป็นครึ่งชั่วโมง กว่าคิวจะหายไป
สำหรับการแสดงบนเวทีนั้นก็ต้องบอกว่า ตอนนี้ซึ่งเป็นตอน “สะกดทัพ” โดย ไมยราพ พญายักษ์ที่มาร่ายมนตร์สะกดทัพพระรามพร้อมกับลักพาตัวพระรามไปขังไว้ ณ เมืองบาดาลนั้น…ยังมีมนตร์ขลัง “สะกด” คนดูให้ดื่มด่ำกับโขนศิลปาชีพฯ ไม่น้อยไปกว่าการแสดงทุกครั้งที่ผ่านมา
แม้จะเคยมีการแสดงตอน “ศึกมัยราพณ์” มาก่อนแล้วเมื่อ พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นการแสดงครั้งที่ 3 ของโขนศิลปาชีพฯ แต่รายละเอียดของเนื้อหาอาจแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย เพราะ มัยราพณ์ ชุดที่แล้ว แสดงโดยอิงบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 ที่ทรงดัดแปลงจากบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 อยู่บ้าง
แต่ครั้งนี้เป็นการแสดงโดยอิงบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 ซึ่งเขียนชื่อพญายักษ์ว่า ไมยราพ ที่เราค่อนข้างคุ้นเคยโดยตรง
ทราบว่าผู้เรียบเรียงบทใหม่สำหรับการแสดงครั้งนี้ ได้แก่ ดร.สุรัตน์ จงดา และตรวจแก้ไขโดย อาจารย์ ประเมษฐ์ บุณยะชัย ศิลปินแห่งชาติเสาหลักอีกคนหนึ่งของโขนศิลปาชีพฯ
แถมด้วย “บทอิสระ” จากบรรดาตัวตลกหน้าม่านของโขนศิลปาชีพฯ ที่มักจะหยิบเหตุการณ์ทันสมัยมาเรียกเสียงฮา ซึ่งคราวนี้ก็มีทั้งเครื่องตรวจ ATK ยักษ์ที่ขึ้นรวดเดียว 3 ขีด และเพลง คิดสิคิดสิ…คาปูชิโน่ เอสเปรสโซ่ ของ หญิงลี ศรีชุมพล รวมอยู่ด้วย
ฉากประทับใจมีมากมายหลายฉาก เช่น หนุมานตัวโตอมพลับพลา, หนุมานตัวโตเหยียบอกไมยราพ, ฉากเหาะเหินเดินอากาศ และฉาก “เทพชุมนุม” งดงามสุดบรรยาย
รวมทั้งฉากสุดท้ายของสุดท้ายที่ผู้แสดงทุกคนในชุด “ถนิมพิมพาภรณ์” อันอลังการออกมายืนรวมกัน “ไหว้ลา” ผู้ชม
โขนศิลปาชีพฯตอน “สะกดทัพ” จะแสดงที่หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยถึงวันที่ 5 ธันวาคมนี้ บัตรเต็มแล้วทุกรอบ แต่ลองเสี่ยงไปหาข้อมูลที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ดูก่อนเผื่ออาจมีคนติดธุระไปดูไม่ได้…เราจะได้สวมสิทธิ์แทน
หรือไม่อย่างนั้น ก็คงต้องรอว่าจะมีการเพิ่มรอบแสดงหรือไม่เท่านั้นละครับ.
“ซูม”