เมื่อวันที่ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ คุณดนุชา พิชยนันท์ ออกมาแถลงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งเริ่มฟื้นตัวขึ้น พร้อมกับมีการปรับคำทำนายตัวเลขตลอดทั้งปีเสียใหม่ โดยคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ระหว่างร้อยละ 2.7 ถึงร้อยละ 3.2 นั้น
ผมซึ่งนำถ้อยแถลงของท่านมาเผยแพร่ต่อ ได้ฝากข้อคิดเห็นทิ้งท้ายไว้ว่า แม้เศรษฐกิจไทยของเราจะฟื้นตัวขึ้นก็ตาม…แต่จะมากจะน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการเมืองด้วย
เพราะถ้าหากการเมืองของเรายุ่งเหยิง หรือสับสนวุ่นวายก็จะกลายเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่สภาพัฒน์คาดหมายไว้
พร้อมกับยกตัวอย่างความยุ่งเหยิงและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ตั้งแต่กรณีที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความระยะเวลาการเป็นนายกฯ 8 ปี ของ “บิ๊กตู่” ไปจนถึงเรื่องสภาล่มและ ฯลฯ
ขณะเดียวกันกำหนดการเลือกตั้งในสมัยหน้าก็ใกล้เข้ามา เพราะครั้งที่แล้วปี 2562 เราเลือกกันเดือนมีนาคมจึงครบ 4 ปี เดือนมีนาคม 2566 และจะต้องเลือกกันใหม่ในเดือน 2 เดือนหลังจากนั้น
เดือนมีนาคม 2566 ก็อยู่ห่างจากเดือนนี้ไปแค่ 7-8 เดือนเท่านั้นเอง …ได้เวลาที่จะต้องมีการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่กันแล้ว
ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง ท่านจึงเริ่มเตรียมงานพร้อมกับมีข่าวว่าจะต้องเตรียมเรื่องโน้นเรื่องนี้ทยอยออกมาเป็นระยะ
บรรดาพรรคการเมืองก็ต้องเตรียมตัวเลือกตั้ง เพราะเวลา 7-8 เดือนนั้นสั้นมาก เผลอแผล็บเดียวก็มาถึงแล้ว…จึงต้องเตรียมผู้สมัคร เตรียมหาเสียงล่วงหน้าเสียแต่เนิ่นๆ
ทำให้เกิดความวุ่นวายทาง “ธรรมชาติ” ซํ้าเติมขึ้นมาอีก เพราะทางฝ่ายค้านก็ต้องซัดฝ่ายรัฐบาลเต็มที่ รวมทั้งระดมพลข่มขวัญสุดเหวี่ยง
ความวุ่นวายหรือการทะเลาะกันโดยธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอก่อนการเลือกตั้งและจะเริ่มตั้งแต่การทะเลาะในพรรคเองเพราะต้องเลือกกันว่าจะส่งใครสมัครดี…คนได้รับการเสนอชื่อก็ดีใจ คนไม่ได้รับก็ผิดหวัง…
พรรคร่วมรัฐบาลเองก็จำเป็นต้องทะเลาะกันโดยธรรมชาติ เพราะต้องหาเสียงให้ผู้สมัครของตนได้รับเลือกมากที่สุด จึงหนีไม่พ้นที่จะทะเลาะกันบ้างในช่วงนี้
ผมถึงได้ห่วงนักห่วงหนาว่าความหวังด้านเศรษฐกิจของเราที่สภาพัฒน์มองว่ากำลังฟื้นตัวในปลายปีนี้นั้น อาจจะไม่ฟื้นขึ้นได้ดังที่คาดไว้
สุดแต่ว่าความวุ่นวายทางการเมืองทั้งโดย “เจตนา” ที่จะทำให้เกิดความวุ่นว่าย และความวุ่นวายโดย “ธรรมชาติ” เพราะใกล้จะถึงฤดูเลือกตั้งอย่างที่กล่าวไว้นั้นจะหนักหรือเบาเพียงใด
ผมเดาว่าอาจจะ “หนัก” มากกว่า “เบา” จึงเตรียมตัวทำใจล่วงหน้า
แต่ก็ยังเชื่อมั่นในระบบ “ราชการ” ที่ทุกวันนี้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง จากการได้คนรุ่นใหม่ไฟแรงทางด้านเศรษฐกิจการเงินกลับมาเข้าสู่ระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒน์ บีโอไอ สำนักงบประมาณ ฯลฯ ทำให้คุณภาพของฝ่ายราชการดีขึ้นอย่างมาก
ประกอบกับเราก็มีหน่วยงานกึ่งราชการ คือไม่ใช่ราชการ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่ก็ต้องถือว่าทำงานให้แก่ภาครัฐ จึงใช้คำแทนตนเองว่า “ทางการ” คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ยุคปัจจุบันที่มีนักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินที่แข็งแกร่งไม่แพ้ประเทศอื่นใดในย่านนี้
รวมทั้ง ภาคเอกชน ของไทยเราไม่ว่าจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่หรือ ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน หรือองค์กรที่มีส่วนในระบบเศรษฐกิจ ก็ล้วนมีบุคลากรที่เข้มแข็งไม่แพ้ใครในภูมิภาคนี้เช่นกัน
เราจะเห็นจากผู้บริหารรุ่นใหม่ของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ไต่เต้ามาจากพนักงานหรือลูกจ้าง หรือแม้แต่ลูกหลานของเถ้าแก่เอง ซึ่งมักจะได้เป็นใหญ่แบบสืบสกุล แต่ลูกๆ เถ้าแก่เหล่านั้นก็ล้วนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยดังๆ ชั้นนำของโลกทั้งสิ้น
ผมขอฝากความหวังไว้กับ ภาคราชการประจำ ภาคกึ่งราชการ และ ภาคเอกชน ขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ผมเชื่อว่ามีความแข็งแกร่งพอที่จะผนึกกำลังกันนำพาประเทศไทยของเราให้ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ไปได้ในที่สุด
ผมเชื่ออยู่เสมอว่าถ้าทั้ง 3 ภาค ที่ว่านี้ร่วมมืออย่างเข้มแข็ง… ประเทศไทยของเราไปรอดแน่…แม้ภาคการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองของเราจะยัง “ล้าหลัง” และถอยหลังเข้าคลองไปไกลแค่ไหนก็ตาม.
“ซูม”