“เราจะไม่ลืมประวัติศาสตร์” คำสัญญาจากกระทรวงศึกษาฯ

ผมเพิ่งกลับจากการไปร่วมประชุมสัมมนากับคณะผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้ง 111 แห่งจากทั่วประเทศ ที่โรงแรมนภาลัยอำเภอเมืองอุดรธานี เมื่อไม่กี่ชั่วโมงนี่เอง บรรยากาศของที่ประชุมตลอดจนคำบรรยายของท่านวิทยากรต่างๆ ยังกึกก้องอยู่ทั้งในหูและในสมองอยู่จนถึงบัดนี้

ดังที่ผมเคยเรียนท่านผู้อ่านไว้แล้วว่า การประชุมสัมมนาครั้งนี้ จะว่ากันด้วยหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรลืม” สืบเนื่องมาจากมูลนิธิไทยรัฐ ที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนดูแลโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้ง 111 แห่ง เห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรีนุช เทียนทอง ที่จะฟื้นฟูการเรียน การสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยให้กลับมาเป็นวิชาเอก ในหลักสูตรการเรียน การสอนอีกครั้งหนึ่ง

เราจึงเสนอตัวที่จะเป็นโรงเรียน “ทดลอง” ในการที่กลับมาสอน เน้นวิชาประวัติศาสตร์ไทยอย่างจริงจังตามโครงการของท่านรัฐมนตรี

พร้อมกับจัดประชุมสัมมนาเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจและเตรียมความพร้อมที่จะทดลองเรียน ทดลองสอน วิชาอันสำคัญยิ่งนี้ ขึ้นทันทีตามสไตล์ของพวกเราชาวไทยรัฐที่ชอบทำอะไรแบบเร่งด่วนอยู่เสมอ เพราะอยู่กับการเสนอข่าวด่วนมากว่า 70 ปี เข้านี่แล้ว

วิทยากรท่านแรกของเรา ได้แก่ ท่านรองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม นั่นเอง นอกจากจะรับเชิญเพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดแล้ว ท่านยังขันอาสาช่วยบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์เป็นประเดิมให้ด้วย

ดร.วิษณุกล่าวว่า ประโยชน์ของวิชาประวัติศาสตร์โดยสังเขปมีอยู่ 3 ประการ…ประการแรกหากจะใช้ภาษาอังกฤษก็คือคำว่า To understand เพราะวิชาประวัติศาสตร์ทำให้เราเข้าอกเข้าใจและซาบซึ้งตรึงใจในเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นแก่ชาติบ้านเมืองเราในอดีต ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นใครมาจากไหนก่อร่างสร้างตัวมาอย่างไร

ประโยชน์ประการที่สองท่านใช้คำภาษาอังกฤษว่า To be proud คือความภาคภูมิใจ เพราะเมื่อเรารู้ว่าชาติบ้านเมืองของเรามีความเป็นมาอย่างไรแล้ว เราก็ย่อมจะเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างและสั่งสมไว้

สำหรับประการที่สามนั้น ท่านรองวิษณุใช้คำว่า To apply ซึ่งแปลว่านำไปประยุกต์ใช้ เพราะเมื่อเรารู้เรื่องราวในอดีต รู้ว่าอะไรเป็นจุดอ่อนอะไรเป็นจุดแข็งอย่างละเอียดแล้ว เราก็สามารถที่จะนำไปใช้เพื่อการตัดสินใจต่างๆ ที่จะเดินต่อไปในอนาคตได้อย่างดียิ่ง

ความสนุกของคำบรรยายของท่านรองวิษณุก็คือตัวอย่างที่ท่านเล่าประกอบนั่นเอง…มีทั้งเกร็ดประวัติศาสตร์ในยุคเก่าจนถึงเกร็ดการเมืองยุคหลังๆ ที่ฟังแล้วก็นึกภาพออกและต้องร้องอ๋อขึ้นมาทันที

หลังจากท่านรองวิษณุบรรยายจบแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรีนุช เทียนทอง ก็ขึ้นมาบรรยายต่อ โดยยอมรับข้อเสนอแนะทั้งหมดที่รองวิษณุเสนอไว้ เพื่อที่จะนำไปรวบรวมกับข้อเสนออื่นๆ ในการจัดทำหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ให้น่าสนใจต่อไป

ท่านรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งว่า จริงๆแล้วทุกวันนี้ก็ยังสอนวิชาประวัติศาสตร์อยู่ แต่อาจเป็นเพราะไปรวมอยู่ในหมวดวิชาที่เรียกว่า “สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม” ทำให้คำว่า ประวัติศาสตร์ หายไปเมื่อมองจากโครงสร้างหลักสูตรในภาพรวม

ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่ให้ความสำคัญ…ซึ่งท่านก็ให้คำมั่นว่าจะไปหาทางนำเสนอให้ชัดเจน และให้มองเห็นความสำคัญทันที โดยไม่แอบๆ ซุกไว้ดังที่ผ่านมา

รวมทั้งจะไปปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนให้วิชาประวัติศาสตร์ได้รับความสนใจจากนักเรียนมากยิ่งขึ้น

พร้อมทั้งขอบคุณมูลนิธิไทยรัฐที่สนับสนุนโครงการนี้

ผมฟังทั้ง 2 ท่านจบแล้วก็เกิดความหวังขึ้นมาว่า จากนี้ต่อไปวิชา ประวัติศาสตร์ จะกลับมาเป็นวิชาเอกที่เด็กๆไทยจะสามารถเรียนด้วยความรัก ความเพลิดเพลิน และเข้าใจเข้าถึงคุณประโยชน์ต่างๆของวิชาประวัติศาสตร์ตามที่ท่านรองวิษณุกล่าวไว้

พวกเราที่ไทยรัฐจะเกาะติดเรื่องนี้ต่อไปครับ แม้จะตระหนักดีว่ารัฐบาลอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงเวลา…ท่านรัฐมนตรีกระทรวง ศึกษาธิการอาจมาแล้วไป…แต่ไม่ว่าท่านใดจะไปหรือจะมา หากไม่ดำเนินการต่อในเรื่องนี้ พวกเราชาวไทยรัฐจะทวงถามไม่หยุดนะครับ…กราบเรียนทุกๆ ท่านล่วงหน้าเอาไว้ด้วย.

“ซูม”

ข่าว,​ วิชา, ประวัติศาสตร์, โรงเรียน, การศึกษา, ซูมซอกแซก