ยุค “เลี้ยงลูก” ด้วย “มือถือ” ผลดี “มหันต์” ผลร้าย “อนันต์”?

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงการไปทัวร์ “พิพิธภัณฑ์ทันสมัย” หลายๆ แห่งที่ถนนคลอง 5 อำเภอคลองหลวง ปทุมธานี เมื่อวันหยุดยาวที่ผ่านมา

ด้วยความชื่นชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ พร้อมกับทิ้งท้ายอยากเห็นเด็กไทยทุกหมู่เหล่า รวมทั้งลูกหลานคนจนได้มีโอกาสไปเที่ยวชมอย่างทั่วถึง

วันนี้ผมจะเขียนต่อนะครับ แม้จะไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องพิพิธภัณฑ์เท่าไรนัก แต่ประเด็นความคิดที่อยากจะเขียนเรื่องนี้ก็มาจากการไปทัวร์พิพิธภัณฑ์คราวนี้นั่นเอง

เหตุเพราะในระหว่างที่ผมนั่งพักเหนื่อยเอาแรงอยู่ตามลำพังในเก้าอี้ที่เขาจัดไว้เป็นระยะๆ ก็พลันได้ยินพ่อแม่ลูกหลายต่อหลายคู่ที่เป็นคนไทยแท้ๆ พูดจากันเป็นภาษาอังกฤษ

มีการซักถามตอบโต้และอธิบายด้วยภาษาอังกฤษกะหนุงกะหนิงไปหมด

ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า เด็กไทยรุ่นใหม่ในปัจจุบันน่าจะมีมากเปอร์เซ็นต์พอสมควรที่พ่อแม่ทิ้งไว้กับ โทรศัพท์มือถือ จนโทรศัพท์มือถือแทบจะกลายเป็นพ่อแม่คนที่ 2 ของเด็กๆ ไปเลยทีเดียว

“ผลดี” ที่เห็นได้ชัดเจนประการแรกก็คือเด็กๆ ลูกมือถือยุคนี้ พูดจาภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว และสำเนียงเป็นฝรั่งเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

เนื่องเพราะเจ้าหนูทั้งหลายมีโอกาสได้ดูการ์ตูนภาษาอังกฤษต่างๆ ผ่านยูทูบกันตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ทั้งศัพท์แสงและสำเนียงการพูดภาษาอังกฤษของเด็กๆ ถอดแบบออกมาจากยูทูบเปี๊ยบ

ดังที่เราเคยได้ยินข่าวว่าเด็กอีสานคนหนึ่งพูดภาษาอังกฤษเหมือนเด็กอังกฤษเลยทั้งๆ ที่อยู่กลางท้องทุ่งท้องนาแท้ๆ แต่ก็มาขยายความตอนหลังว่าเพราะปู่ ย่า ไม่มีเวลาเลี้ยง เลยให้เจ้าหนูอยู่กับโทรศัพท์มือถือ…หรือให้มือถือเป็นคนเลี้ยงนั่นเอง

ปรากฏว่าเจ้าหนูเปิดดูแต่การ์ตูนฝรั่งทำให้สุ้มเสียง สำเนียงพูดออกมาเป็นฝรั่งไม่มีอีสานเจือปนแม้แต่น้อย

ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นในครัวเรือนของเด็กไทยทั่วประเทศเช่นกัน เพราะพ่อแม่รุ่นใหม่ล้วนฝากมือถือเลี้ยงแทบทั้งสิ้น ทำให้เด็กรุ่นใหม่เรียนภาษาอังกฤษจากการ์ตูนได้ทั้งสำเนียง ได้ทั้งศัพท์แสง ดังที่กล่าวไว้แล้ว

ครั้นเมื่อพ่อแม่เล่นด้วย คือใช้วิธีพูดจาเป็นภาษาอังกฤษกับลูกๆ ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ไปถึงเรื่องยากๆ เด็กๆ ก็ยิ่งกระตือรือร้นมากขึ้น ทำให้ภาษาอังกฤษแตกฉานไปตามๆ กัน

จึงเกิดภาพครอบครัวไทยพูดกับลูกเป็นภาษาอังกฤษ ที่ผมได้ยินหลายต่อหลายครอบครัวที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เมื่อ 2 วันก่อน

ผมได้ยินแล้วก็ยิ้ม เพราะเด็กๆ ออกเสียงได้ดีมาก เพราะมี “เปปป้าพิก” Peppa Pig การ์ตูนอังกฤษช่วยดัดลิ้นให้…ในขณะที่พ่อแม่ แม้จะใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องและเรียนสูง แต่ก็เรียนมาในยุคก่อนมือถือ

มีครูไทยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ…จึงออกสำเนียงกันแบบไทยๆ เวลาเจรจากับลูก จึงได้ยินสำเนียงอังกฤษแบบไทยกับอังกฤษเป๊ะโต้ตอบกันไปมา แทบจะทุกครอบครัว (เว้นครอบครัวที่พ่อแม่ไปเรียนนอกมาตั้งแต่เล็กๆ)

ถามว่าปรากฏการณ์เช่นนี้ จะเป็นผลดีแก่อนาคตเด็กไทยหรือไม่? ก็น่าจะตอบว่าเป็นผลดี เพราะในอนาคตคนไทยจะพูดภาษาอังกฤษเก่งขึ้นชัดเป๊ะมากขึ้นไม่เหมือนคนไทยรุ่นผม ขนาดเรียนโท เรียนเอกมาจากนอกแล้ว แต่ลิ้นก็ยังแข็งออกเสียงภาษาอังกฤษบางคำไม่ถูกต้องอยู่ดี

และที่น่าจะเป็นผลดีอีกอย่างก็คือในกรณีนี้พ่อแม่จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น คอยถาม คอยตอบเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดความรัก ความผูกพัน ความใกล้ชิด ระหว่างครอบครัวเพิ่มขึ้น

แต่เผอิญในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นสะพานสำหรับ “สื่อ” สารพัดนั้น จะมีเรื่องราวหลั่งไหลเข้ามาทั้งดีและร้ายเต็มไปหมด

พ่อแม่ที่ทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้กับลูก ย่อมไม่มีเวลามาพูดคุยได้ทุกเรื่อง ลูกจึงไปแสวงหากันเอง ที่โชคดีก็เจอเรื่องดีๆ ที่โชคร้ายก็เจอเรื่องร้ายๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในทุกวันนี้

แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะถ้าไม่ให้ลูกเล่นมือถือ ลูกก็จะเชยระเบิด และจะตกรุ่น ถึงขั้นแทบทำมาหากินไม่ได้ในอนาคต

การให้มือถือเป็นพ่อแม่หรือครูคนที่ 2 จึงจำเป็น เพียงแต่จะต้องคอยดูแลอยู่ห่างๆ และคอยเป็นเกราะป้องกันภัย รวมถึงคอยชี้แจงในบางเรื่องบางอย่างที่ถูกต้องควบคู่กันไป

พยายามทำให้เหมือนกับเวลาพูดภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นกับลูกๆ ที่พูดคล่องปรื๋อนั่นแหละครับ จะได้ทั้งความรัก ความอบอุ่นและความปลอดภัยไปพร้อมๆ กันอย่างที่ผมว่า

โลกยุคนี้ไม่มีทางหลบเลี่ยงโทรศัพท์ “มือถือ” ไปได้แล้ว เพียงแต่เราจะหาทางใช้เจ้า “วัตถุ” ที่มี “คุณอนันต์” และ “โทษมหันต์” ชิ้นนี้ให้เกิดผลดีมากกว่าผลร้ายได้อย่างไรเท่านั้นเอง?

“ซูม”

ข่าว,​ เลี้ยงลูก, มือถือ, ยูทูป, พิพิธภัณฑ์, ซูมซอกแซก