“เงินอ่อน” ดีกว่า “เงินแข็ง” แต่ “อ่อนมากไป” ต้องระวัง

ผมได้ยินข่าวมาหลายวันแล้วว่าเงินบาทไทยเราอ่อนค่าลงมาก ในขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็แข็งขึ้นมาก แต่ก็ไม่ได้สนใจจริงจังนักว่าเงินบาทอ่อนไปเท่าไร และเงินดอลลาร์แข็งขึ้นมาแค่ไหน?

จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ก่อนไปเขียนข่าวกีฬาเกี่ยวกับรายได้ของนักกอล์ฟไทยในคอลัมน์ “จ่าแฉ่ง” ของหน้ากีฬาไทยรัฐ…จะต้องแปลงรายได้ของน้องๆ นักกอล์ฟที่เป็นเงินเหรียญมาเป็นเงินบาท จึงต้องไปเปิดดูอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่แปลข่าว

เห็นแล้วก็สะดุ้ง เพราะผมยังนึกว่า “ดอลลาร์” ละ 33 บาทอยู่เลย ใช้อัตรา 33 บาท เสียจนเคยชิน…ที่ไหนได้กลายเป็น 36.50 บาทไปซะแล้ว แถมยังมีการคาดกันว่าอาจไหลไปถึงดอลลาร์ละ 40 บาทด้วยซํ้า

ทางหนึ่งแม้จะดีใจ เพราะการที่เงินบาทอ่อนค่าลงไปมากเช่นนี้ มีผลให้รายได้ของนักกอล์ฟไทย หรือของนักกีฬาอื่นๆ ที่เป็นดอลลาร์ แล้วแลกกลับมาเป็นเงินบาทจะได้เพิ่มขึ้นอีกแยะ

รวมถึงรายได้จากการขายสินค้าส่งออกอื่นๆด้วยครับ เช่น ทุเรียน เงาะ ข้าว อะไหล่รถยนต์ ไปจนถึงส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างๆ ฯลฯ ก็จะเพิ่มพูนขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

เป็นกำลังใจให้แก่ผู้ส่งสินค้าส่งออกบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง

แต่อีกทางหนึ่งผมก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เพราะการที่ค่าเงินบาทของเราอ่อนค่อนข้างเร็วเช่นนี้…รวมทั้งอ่อนมากพอสมควรเช่นนี้ ย่อมจะมีผลเสียอย่างอื่นตามมาด้วย

โดยเฉพาะสินค้านำเข้าต่างๆ ที่เรายังต้องสั่งซื้อมาจากต่างแดนก็จะกลายเป็นว่าแพงขึ้น เพราะเราต้องเอาเงินบาทจำนวนมากขึ้นไปแลกเป็นเงินดอลลาร์เพื่อจะจ่ายให้แก่เขา

อย่างเช่น “น้ำมันดิบ” ปกติก็แพงขึ้นอยู่แล้ว ครั้นเมื่อเราต้องเอาเงินบาทไปแลกดอลลาร์เพื่อชำระเขา ก็กลายเป็นแพงหนักข้อขึ้นอีกหลายเปอร์เซ็นต์ เพราะเราต้องใช้เงินบาทถึง 36 บาทเศษๆ แทนที่จะเป็น 33 บาท เพื่อไปแลกเงินดอล

นอกจากน้ำมันแล้ว เรายังต้องซื้อข้าวของจากต่างประเทศอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะนักลงทุนต้องซื้อวัตถุดิบเข้ามาด้วย หรือในช่วง แรกๆของการลงทุนต้องซื้อเครื่องจักรมาตั้งโรงงานด้วย

ดังนั้น ในตำราการค้าระหว่างประเทศ แม้จะบอกเคล็ดไว้ว่า การทำให้ค่าเงินอ่อนจะทำให้เราได้เปรียบ เพราะจะทำให้ของเราถูกลงในสายตาต่างประเทศ ทำให้คนอยากซื้อหรืออยากมาเที่ยวมากขึ้น

แต่ทุกตำราก็จะกำชับเสมอๆ ว่า ต้องดูด้าน “นำเข้า” ควบคู่ไปด้วย เพราะมันจะทำให้เราจ่ายแพงขึ้น…ดังนั้น การใช้นโยบายเงินอ่อนจะต้องไม่ปล่อยให้อ่อนมากไป จนเกิดผลกระทบด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการที่สินค้านำเข้าที่จำเป็นบางอย่างจะต้องแพงขึ้น จนทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าส่งออกแพงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียในภาพรวม

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลกในปัจจุบัน ก็อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า…สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งโป๊ก เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ นั้น เป็นผลโดยตรงมาจากการใช้นโยบายทั้งในด้านขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการลดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั่นเอง

เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อของประเทศเขาที่กระฉูดขึ้นไปถึง 9.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 40 ปี

เราคงไม่มีเนื้อที่พอจะอธิบายได้ละเอียดมากนัก เอาเป็นสรุปว่า การดำเนินการต่างๆ ของธนาคารกลางสหรัฐฯล้วนมีผลให้เงินดอลลาร์แข็งโป๊กเหมือนโด๊ปด้วย ไวอากร้า เข้าไปชุดใหญ่แทบทั้งสิ้น

ส่ิงที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งของระบบเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ก็คือ มักมีพวก “เหลือบ” หรือ “ไร” จำนวนไม่น้อยที่แอบแฝงเข้าไปในตลาดที่เป็นเครื่องมือและกลไกด้านเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้กลไกลเหล่านั้นมิได้เคลื่อนไหวอย่างเสรีตามหลักอุปสงค์อุปทานที่แท้จริง

มีการสร้างอุปสงค์อุปทานเทียมขึ้นเนืองๆ ในรูปของการปั่น, การโจมตี, การสร้างข่าวหลอกลวง ฯลฯ สารพัด

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงค่อนข้างห่วงใยที่ค่าเงินบาทของเราอ่อนลงเรื่อยๆ เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีฝูงเหลือบฝูงไรที่ไหนมารังควานหรือไม่

ผมอาจจะเป็นกระต่ายตื่นตูมเห็นเงินบาทอ่อนไปที่ 36 บาทกว่า ก็หวาดกลัวซะแล้ว…ก็ขออภัยท่านผู้รู้ด้วยเพราะบังเอิญเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มาทำหนังสือพิมพ์ ได้น้องๆ ฝ่ายข่าวอาชญากรรมสอนวิชาความรู้ให้ ทำให้รู้เล่ห์เหลี่ยมและอุปนิสัยมนุษย์เยอะกว่าสมัยเป็นนักวิชาการ

ฝากดูแล “ค่าเงินบาท” ด้วยนะครับ ธนาคารแห่งประเทศไทย… อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง…โบราณท่านสอนเราไว้เช่นนี้ครับ.

“ซูม”

ข่าว, ค่าเงินบาท, ดอลล่าร์, เงินอ่อน, เงินแข็ง, ซูมซอกแซก