ลุ้นข่าวดี ราคา “น้ำมัน” คาดครึ่งปีหลังไม่ “พุ่ง” มาก

ผมต้องเขียนต้นฉบับวันนี้ล่วงหน้า ก็เลยไม่ทราบว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคมบ้านเรา ซึ่งจะเป็นราคาช่วงค่ำวันศุกร์ของสหรัฐฯ ปิดลงด้วยบาร์เรลละกี่เหรียญ?

เพิ่มขึ้นหรือว่าลดลงจากวันก่อนหน้านี้ว่างั้นเถอะ

ถ้าจะใช้ราคาเมื่อช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์ล่วงหน้าไปก่อน…ก็พอจะบอกได้ว่า ตัวเลขราคาในวันดังกล่าวค่อนข้างน่าพอใจสำหรับประเทศที่ต้องซื้อน้ำมันมาใช้

ที่ตลาดนิวยอร์กราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ลดลงมาอีก 52 เซ็นต์ต่อ 1 บาร์เรล ปิดที่ 95 เหรียญ 78 เซ็นต์ ต่อ 1 บาร์เรล…ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบทะเลเหนือหรือเบรนท์ที่ลอนดอนก็ลดลงไป 47 เซ็นต์ต่อบาร์เรล ทำให้ราคาที่ลอนดอนอยู่ที่ 99 เหรียญ 10 เซ็นต์ ต่ำกว่า 100 เหรียญต่อไปอีกวันหนึ่ง

ถือว่าเป็นราคาที่แม้จะยังไม่ถูกนัก แต่ก็ยังไม่แพงมากจนเกินไป ดังเช่นในช่วงหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นต้นมา ที่บางครั้งราคาสูงขึ้นไปถึง 120-130 เหรียญ

ส่งผลให้ทั่วโลกซึ่งเกิดภาวะเงินเฟ้ออยู่แล้ว ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นจากความกดดันกระหน่ำซ้ำของราคาน้ำมัน

ขนาดสหรัฐอเมริกายังแถลงตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนมิถุนายนเมื่อ 2 วันก่อนว่าสูงถึง 9.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 41 ปี

สร้างความกังวลใจให้แก่นักวิเคราะห์ที่สหรัฐฯไปตามๆกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะเป็น 0.75 เปอร์เซ็นต์อย่างที่คาดกันไว้

เพราะถ้าเฟดขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์จริงๆ ก็อาจจะนำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญของสหรัฐฯ และเมื่อรวมกับมาตรการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆทั่วโลกด้วย…เศรษฐกิจโลกก็น่าจะหดตัวลงในอัตราที่มากกว่าที่เคยคาดไว้

ดังนั้น การที่ราคาน้ำมันดิบลดลงมาในสัปดาห์นี้ จึงถือเป็นข่าวดีอันจะเป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อของโลกลดลง โดยไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงจนเกินไป

แต่ที่ยังน่าห่วงอยู่บ้างก็ตรงที่การลดราคาครั้งนี้ โดยเฉพาะเมื่อเช้าวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเป็นราคาในวันอังคารของสหรัฐฯนั้นค่อนข้างจะลดลงมากอย่างผิดปกติ

จู่ๆ ที่นิวยอร์กลดพรวดเดียวถึง 8 เหรียญเศษ ที่ลอนดอนก็ 7 เหรียญกว่าๆ เกือบจะ 8 เหรียญต่อ 1 บาร์เรล

ทำให้คาดคิดไปได้ว่าเมื่อลดฮวบฮาบได้เช่นนี้ ถึงคราวขึ้นก็อาจจะขึ้นฮวบฮาบหรือขึ้นทีละมากๆได้อีกเช่นกัน

ต้องจับตาดูกันต่อไปครับ

นักเศรษฐศาสตร์บ้านเราที่อ่านเหตุการณ์ครั้งนี้แล้วสรุปในแง่ดี ก็คือท่านรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) หรือ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล 1 ใน “4 กุมาร” ที่ล้างมือในอ่างทองคำอำลายุทธจักรการเมืองกลับมาเป็นนักการธนาคารเต็มตัว และให้สัญญิงสัญญาว่าจะไม่กลับไปสู่การเมืองอีก

ดร.กอบศักดิ์มองว่า การที่ราคาน้ำมันโลกลดลงมาสู่จุดเริ่มต้นก่อนเกิดสงครามนั้น…ทำให้ราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการกดดันเงินเฟ้อโลกจนพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ณ นาทีนี้เริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว

“มาลุ้นกันว่าราคาน้ำมันโลกในครึ่งหลังของปีจะปรับขึ้นไปสูงเหมือนช่วงแรกของสงครามอีกรอบหรือไม่? หากไม่ขึ้นสูงไปเช่นเดิมโดยยังวิ่งอยู่ประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ในครึ่งหลังของปีจะค่อยๆ ลดลง…สงครามของเฟดกับเงินเฟ้อ (ที่สหรัฐฯ) จะบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น”

ดร.กอบศักดิ์ค่อนข้างเชื่อว่า สถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกในช่วงครึ่งปีหลังจะต่างจากช่วงครึ่งแรกด้วยเหตุผล 2-3 ข้อ ที่ผมไม่มีเนื้อหาจะคัดลอกเอามาลงได้

เอาเป็นว่าผมเชื่อท่านก็แล้วกัน พร้อมกับภาวนาขอให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่กลับมาขึ้นอย่าง “บ้าเลือด” อีกครั้งเหมือนห้วงเวลาที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันก็ฝากไปถึงบรรดาสินค้าต่างๆที่กำลังทยอยขึ้นราคาโปรดอดใจรออีกหน่อยตามคำขอของกระทรวงพาณิชย์ด้วยจะขอบคุณยิ่ง

เผื่อว่าราคาน้ำมันดิบโลกลดไปมากกว่านี้…ข้าวของต่างๆอาจไม่ต้องขึ้นราคาก็ได้ (โดยเฉพาะมาม่า อาหารขวัญใจคนจน…หากจะอึด ไว้อีกสักระยะหนึ่ง อาจไม่ต้องขึ้นราคาเลย และจะเป็นขวัญใจคนจน ไปตลอดกาล…ขอเอาใจช่วยนะครับ)

“ซูม”

ข่าว, ราคา, น้ำมัน, ตลาดโลก, เศรษฐกิจ, ซูมซอกแซก