คิดถึง “ตะลุง เทมโป้” จังหวะ “เต้นรำ” ของคนไทย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในการประกวดร้องเพลงลูกกรุงของรายการ “The Golden Song เวทีเพลงเพราะ ซีซัน 4” รอบ “เซมิไฟนอล สาย A” เพื่อคัดเลือกนักร้องเข้ารอบลึกๆ ต่อไปทางช่องวัน 31 นั้น

ทีมงานซอกแซกนั่งดูชมอยู่ด้วยและประทับใจอย่างยิ่งกับการร้องและโชว์ของนักร้องหนุ่มจากปักษ์ใต้รายหนึ่ง

ชื่อที่ทีมงานจดไว้น่าจะเป็นชื่อเล่น เพราะใช้คำว่า “กาแฟ” ส่วนชื่อจริงก็คือ ดนุนันท์ ซึ่งพยายามค้นหานามสกุลแล้วแต่ยังไม่เจอะ จึงขอติดค้างเอาไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ในช่วงแนะนำประวัติเขาแนะนำตัวเองว่าเป็นเด็ก นครศรีธรรมราช และเพลงที่จะร้องก็คือ “เพลงตลุงสากล” จากต้นฉบับเดิมที่ขับร้องโดย เลิศ ประสมทรัพย์ แห่งวงดนตรี สุนทราภรณ์

เนื่องจากรอบนี้เป็นรอบเซมิไฟนอล ในการร้องจึงจะมีนักร้อง “อาวุโส” มาร่วมร้องด้วย ซึ่งทางรายการได้เลือก โดม จารุวัฒน์ นักร้องในสังกัดจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ที่เคยชนะการประกวดร้องเพลงมา 2 รายการคือ “เดอะสตาร์ฯ ปีที่ 8” และ The Mask ชุด “งานวัด”…ที่มาในนามของ “หน้ากากเมียงู”

ทั้งเด็กหนุ่ม “กาแฟ” ผู้เข้าประกวดโกลเด้นซอง และ โดม จารุวัฒน์ ร้องตอบโต้และประสานเสียงได้ดีมาก การเรียบเรียงเสียง ประสานใหม่โดย หนึ่ง จักรวาล ก็ยอดเยี่ยม มาก…และการบรรเลงของวงดนตรีที่หนึ่งกำกับอยู่ก็เยี่ยมเช่นกัน…เยี่ยมแม้กระทั่ง “แดนเซอร์” หรือหางเครื่องที่มาเต้นประกอบในจังหวะตะลุง

แต่เมื่อรวมคะแนนออกมาแล้ว “เพลงตลุงสากล” กับเด็กหนุ่มที่ชื่อ กาแฟ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้และตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย

ด้วยความเคารพกรรมการทั้ง 4 ท่าน และด้วยความเคารพนักร้องอื่นๆ ที่ชนะและผ่านเข้ารอบ ซึ่งล้วนแต่ร้องได้ดีระดับน้องๆ มืออาชีพแทบทุกคน…ทีมงานซอกแซกไม่มีประเด็นที่จะคัดค้านใดๆ

ที่หยิบยกมาเขียนถึงวันนี้ ก็เพื่อจะขอบคุณเด็กหนุ่มผู้เลือก “เพลงนี้” และ “จังหวะนี้” มาขับร้องทำให้หัวหน้าทีมซอกแซกอดที่จะหวนคิดไปถึงยุคที่ประเทศไทยของเรามีความสุขและสนุกสนานกับ “การเต้นรำ” หรือ “ลีลาศ” เมื่อ 70-80 ปี ก่อนเสียมิได้

ยุคที่ฮิตจริงๆ คือประมาณ 60 ปี นับแต่ก่อนปี 2500 เล็กน้อยจนถึงปี 2500 เป็นต้นมา

ผู้คนระดับรายได้ปานกลางไปถึงขั้นสูง ล้วนนิยมการ “เต้นรำ” หรือ “ลีลาศ” อย่างมาก …ในงานราตรีสโมสรต่างๆ จะจบลงด้วยการเต้นรำเสมอๆ

เวทีลีลาศสวนลุมพินี ซึ่งมีรายการดนตรีเพื่อประชาชนในค่ำวันศุกร์จะมีการบรรเลงโดยวงดนตรีวงใหญ่และมีการเต้นรำตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน…ในขณะที่รุ่งขึ้นวันเสาร์ก็จะเป็นงาน “บอลล์” ของสถาบันองค์กร หรือจังหวัด หรือภาค ต่างๆ (เช่น เชียงใหม่บอลล์, ปักษ์ใต้บอลล์, นครสวรรค์หรรษา (บอลล์), งานฉลอง ปริญญาจุฬา-ธรรมศาสตร์-เกษตรศาสตร์…และงานฉลองกระบี่ของโรงเรียนนายร้อย นายเรือ นายเรืออากาศ และตำรวจ (สามพราน) ล้วนเริ่มและจบด้วยการเต้นรำทั้งสิ้น

ไปตามไนต์คลับและบาร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โลลิตา สีดาคลับ, มูแรงรูจ ใน กทม.หรือ เมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่, หาดใหญ่, ขอนแก่น ฯลฯ ก็ล้วนมีไนต์คลับชื่อดัง ซึ่งจะมีการเต้นรำด้วยจังหวะต่างๆ โดยมีสาวคู่เต้น หรือ “พาร์ตเนอร์” ให้เช่าเป็นชั่วโมงในการเต้นรำแต่ละคืนมานั่งรอคอยอยู่เต็มบาร์

จังหวะเต้นรำก็มีทั้งลาตินประเภทช่าช่าช่า, คาลิปโซ่, แซมบ้า ไปจนถึงประเภท บอลรูม เช่น วอลซ์, ฟอกซ์ทรอต, แทงโก้ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นจังหวะที่คิดค้นและแพร่หลายมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น

แต่แล้วในปี พ.ศ.2504 โดยประมาณ ก็มีครูเพลงไทย และอดีตนักร้อง นักดนตรีไทยที่โด่งดังมากท่านหนึ่ง ได้แก่ ครู ล้วน ควันธรรม ได้คิดค้นจังหวะเต้นรำแบบไทยๆ ขึ้นมาได้สำเร็จ

โดยการนำลีลาของการเชิดหนังตะลุงผสมการแสดงโนราของพี่น้องชาวใต้มาประยุกต์ และประดิดประดอยให้เป็นจังหวะ “ตะลุงเท็มโป้”

มีท่าเต้นที่สวยงาม สามารถเต้นคนเดียวก็ได้ แต่ยุคโน้นต้องเต้นคู่ชายหญิง…ก็ปรากฏว่าจังหวะตะลุง ซึ่งมีการโยกย้ายส่ายเอวและส่ายหน้าเท้าที่ไม่รวดเร็วนัก แต่ก็ไม่ช้านัก…คือช้ากว่าช่าช่าช่าหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นสโลว์ สามารถเอาชนะใจนักเต้นรำชาวไทยได้ชั่วข้ามคืน ที่มีการนำออกเผยแพร่นั่นเอง

เมื่อจังหวะตะลุงได้รับความนิยม การแต่งเพลงไทยในจังหวะตะลุงก็ตามมา…ทั้งเพื่อใช้ในการเต้นรำและร้องทั่วๆไป ที่เต้นรำส่วนใหญ่จะเป็นของวง “สุนทราภรณ์” ซึ่งเป็นราชาเพลงเต้นรำอยู่แล้ว และเพลง “ตลุงสากล” ที่แต่งโดย สมศักดิ์ เทพานนท์ ขับร้องโดย เลิศ ประสมทรัพย์ ก็เป็น 1 ในเพลงฮิต ที่มีการบรรเลงมากที่สุดในฟลอร์เต้นรำ ไม่ว่าจะที่เวทีลีลาศสวนลุมพินีหรือตามไนต์คลับต่างๆ

อีกเพลงหนึ่งที่แต่งโดยไม่บอกว่านี่คือเพลงตะลุง แต่ทำนอง เนื้อร้อง จะนำพาไปเอง ซึ่งเมื่อร้องแล้วเต้นตามจะไพเราะมากและโยกย้ายส่ายเอวได้งดงามมาก…ได้แก่ เพลง “สาวทรานซิสเตอร์” ของครู ชลธี ธารทอง ขับร้องโดย อ้อยทิพย์ ปัญญาธรณ์ อันเป็นผลให้เพลงนี้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ทั้งผู้ร้องเพลงและผู้ประพันธ์ในเวลาต่อมา

ทุกวันนี้การเต้นรำและลีลาศหายไปจากฟลอร์โดยสิ้นเชิง เพราะคนรุ่นใหม่หันมาใช้วิธี “ดิ้น” แทนการเต้นรำ…แต่กระนั้นในการแข่งขัน กีฬาลีลาศ ซึ่งยังมีจัดแข่งใน กีฬาแห่งชาติ ของเรา (ล่าสุดที่ศรีสะเกษ) ก็ยังมีประเภทตะลุงเทมโป้ให้แข่งขันชิงเหรียญกันอยู่ด้วย

ต้องขอขอบคุณพ่อหนุ่ม “กาแฟ” จากเมืองนครฯนะครับสำหรับการนำเพลง “ตลุงสากล” มาร้องประกวด…แม้ไม่ได้เข้ารอบแต่ชนะใจ ส.ว.อย่างหัวหน้าทีมซอกแซกได้อย่างท่วมท้น จนอดไม่ได้ที่จะต้องมาเขียนรำลึกความหลังถึงความยิ่งใหญ่ของเพลงในจังหวะ “ตะลุง” เพื่อการเต้นรำที่คิดค้นโดยคนไทยอย่างมีความสุขในวันนี้.

“ซูม”

ข่าว, เพลง, เพลงตลุงสากล, The Golden Song, เวทีเพลงเพราะ, ตะลุง, เทมโป้, จังหวะ, เต้นรำ, ซูมซอกแซก