เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เปิดตัวหนังสือ อนิช คาพัวร์: จักรวาล สุญตา และความเป็นแม่ ที่เล่าถึงเนื้องานและความหมายของสัญลักษณ์ในผลงานศิลปะของศิลปินชื่อดัง อนิช คาพัวร์
ทั้งในแง่ศาสนาพุทธ และฮินดู ในมุมมองเกี่ยวกับศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลป์ ศาสนา ความศรัทธาและปรัชญา โดย ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ร่วมเป็นบรรณาธิการ และยังได้เล่าถึงนิทรรศการที่จัดแสดง ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร(วัดโพธิ์) วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร และเดอะปาร์ค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา
โดยมี คุณคริส แครกเนลล์ ประธานสภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย คุณเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย คุณอปัรณา ปัฏวรธัน ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมอินเดีย ศูนย์วัฒนธรรม สวมรวิเวกานันท์ สถานเอกอัครราชทูตอินเดียกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย คุณพลภัทร สุวรรณศร ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ คุณโลเรดานา ปัซซีนี-ปารัชชานี นักวิชาการและภัณฑารักษ์อิสระผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศิลปะเอเชียอาคเนย์ และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมภายในงาน
คุณคริส แครกเนล ประธานสภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ศิลปะและวัฒนธรรมช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก โดยศิลปะและวัฒนธรรมเป็นวิธีในการสื่อสาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมและการบอกเล่าเรื่องราวของประเทศนั้นๆ ยกตัวอย่างประเทศไทย เราเพิ่งได้เห็นศิลปินนักร้องอย่างมิลลิพูดถึงข้าวเหนียวมะม่วงที่อเมริกา และส่งผลอย่างเห็นได้ชัดว่าศิลปะและวัฒนธรรมช่วยสร้างการจ้างงานอีกด้วย ทั้งนี้ในประเทศไทย อาทิ วัด อาหาร ล้วนแต่บอกเล่าเรื่องราว และประวัติศาสตร์ของประเทศชาติว่าเป็นอย่างไร และนั่นคือสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับผู้ที่ไม่เคยมาเยี่ยมเยียนประเทศไทย หรือคนที่คิดจะมาลงทุน รวมถึงคนที่อาศัยอยู่ที่ประเทศไทย ดังนั้น ศิลปะและวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้”
ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ กล่าวว่า “บทความในหนังสือเล่มนี้ เป็นการวิเคราะห์งานออกแบบสถาปัตยกรรม 2 ชิ้น โดยสถานที่ติดตั้งงานศิลปะของ Anish Kapoor ก็คือ วัดโพธิ์ กับ วัดอรุณฯ โดยเนื้อหาวิเคราะห์ถึงแนวคิดการออกแบบที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งงานทั้ง 2 ชิ้นเป็นตัวอย่างของงานที่ถือได้ว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่มีความก้าวหน้าทั้งทางวัสดุ แนวคิด และคอนเซปต์ในช่วงสมัยนั้น การเอางาน contemporary art มาจัดแสดงในพุทธสถาน คือการเอางานศิลปะร่วมสมัย โดยเฉพาะจากต่างวัฒนธรรมมาตั้งอยู่ในพื้นที่ศาสนสถานแบบประเพณีของไทย ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีและควรสนับสนุนให้มีต่อไปในอนาคตเพราะว่างานที่เกิดขึ้นทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์หรือบทสนทนาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และทำให้ Space หรือพื้นที่ ซึ่งคนไทยเราคุ้นเคย พอมีงานศิลปะสมัยใหม่เข้ามามันทำให้พื้นที่ภายในเปลี่ยนไป คนเข้ามาดูจะเกิดความรู้สึกใหม่ ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผมคิดว่าอธิบายงานของ Anish Kapoor สำหรับคนที่อาจจะไม่รู้จักศิลปินท่านนี้ว่าเป็นใคร และมีลักษณะการทำงานอย่างไร และทำให้เห็นว่างานศิลปะร่วมสมัยหรือสมัยใหม่สามารถที่จะผสานกันกับศิลปะแบบประเพณีและสามารถสร้างบทสนทนาใหม่ๆที่ไม่รู้จบให้เกิดขึ้นได้”
สำหรับผู้ที่สนใจหนังสืออนิช คาพัวร์ : “จักรวาล สุญตา และความเป็นแม่” สามารถ inbox มาได้ที่ Facebook : Bkkartbiennale ในราคา 2,500 บาท
ติดตามข่าวสารและตารางกิจกรรมของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ Bangkok Art Biennale เพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale