โหนกระแส “หนังภารตะ” เขียนถึง “โสเภณี” กับการพัฒนา

ในช่วง 2–3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ สื่อสังคมออนไลน์บ้านเรามีการพูดถึงภาพยนตร์อินเดียเรื่องหนึ่งอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็น “กระแส” อีกกระแสหนึ่งในบรรดากระแสต่างๆ ที่โผล่ขึ้นมาเป็นระยะๆ ของประเทศไทย

เรื่องราวของภาพยนตร์อินเดียหรือหนัง “บอลลีวูด” เกี่ยวกับชีวิตของหญิงแกร่งแห่งมุมไบ “Gangubai Kathiawadi” ที่เขียนเป็นภาษาไทยว่า คังคุไบ กาเฐียวาดี เจ้าแม่โสเภณี ผู้นำในการต่อสู้เพื่อสิทธิของโสเภณีของอินเดียนั่นแหละครับ

ว่ากันว่าไฮโซไทยจำนวนไม่น้อยชื่นชมนางเอกมาก ถึงกับหันมาแต่งชุดส่าหรีโพสต์เผยแพร่ในโซเชียลกันเป็นที่เอิกเกริก

ผมถามเพื่อนๆว่า หนังเรื่องนี้ฉายโรงไหน จะยอมเสี่ยง “โควิด” ไปดูสักหน่อย เพื่อนตอบว่าฉายใน “เน็ตฟลิกซ์” โน่น…ผมก็เลยชวดดูเพราะไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกเอาไว้

แต่ก็ไม่เป็นไรครับ ถึงไม่ได้ดูก็พอจะเขียนคอลัมน์วันนี้ได้ เพราะแรงบันดาลใจที่อยากเขียนมาจากคำว่า “โสเภณี” เสียมากกว่า ที่จะเขียนถึงภาพยนตร์เรื่องนี้โดยตรง

อย่างที่เราทราบกันดีแล้วว่า โสเภณีเป็นอาชีพคู่โลกมาแต่ดึกดำบรรพ์ ในอินเดียเองก็มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลโน่นแล้ว

ของบ้านเราก็น่าจะมีมานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเคยมีบันทึกของนายลู แบร์ อัครราชทูตจากฝรั่งเศสที่มาเจริญพระราชไมตรีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายมหาราช ระบุว่า ซ่องที่มีโสเภณีมากที่สุดยุคนั้นได้แก่ ซ่องออกญามีน อยู่แถวๆ ไหนของอยุธยาก็ไม่รู้เหมือนกัน

ต่อมาเมื่อผมมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศหลายๆประเทศ ผมก็พบว่า “โสเภณี” เป็นอาชีพสากล มีในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศยากจนหรือร่ำรวยที่เรียกว่า ประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม

สหรัฐฯมีเยอะมากที่กรุงวอชิงตันนั่นแหละ…อังกฤษก็มี ฝรั่งเศสก็เยอะ และที่กรุงอัมสเตอร์ดัมนั้น ตู้ขายบริการตั้งอยู่ริมถนนเลย

ในเอเชียมีทั้งที่มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ โฮจิมินห์ซิตี้ มนิลา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

โดยเฉพาะที่เกาหลีใต้ก่อนจะพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หลังการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเมื่อ พ.ศ.2531 นั้น…ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีโสเภณีมากประเทศหนึ่ง

นักท่องเที่ยวไทยที่ไปเกาหลีใต้ในยุคนั้นเคยเล่าว่า ในโรงแรมที่ไปพัก จะมีสาวๆมานั่งอยู่ในล็อบบี้เต็มไปหมดเกือบ 100 คน แต่งตัวดีหน้าตาดี มีการศึกษาดี แต่ล้วนมารอขายบริการทั้งสิ้น

นักวิเคราะห์รายหนึ่งเคยเขียนว่า เหตุที่กรุงโซลยุคนั้นมีโสเภณีเยอะเป็นเพราะ ประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายทั้งจำเป็นและไม่จำเป็นในกรุงโซลเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ “คนชั้นกลาง” จำนวนมาก ที่จำเป็นจะต้องปรับมาตรฐานการครองชีพของตน ต้องดิ้นรนมาก จึงต้องเข้าสู่อาชีพนี้เพื่อหารายได้เพิ่ม

หลังจากการก้าวขึ้นสู่ประเทศพัฒนาเรียบร้อยแล้ว ภาพเช่นว่านี้ ในกรุงโซลก็หมดไป

ตรงข้ามกับฟิลิปปินส์ในห้วงเวลาเดียวกันที่การพัฒนาประเทศเป็นไปได้ช้า…ทำให้สตรีที่หลั่งไหลมาจากชนบทไม่มีทางเลือก ต้องเดินทางเข้าสู่อาชีพหญิงบริการเป็นจำนวนมาก

ใครไปมนิลายุคนั้น แม้โรงแรมชั้นหนึ่งแบบ 5 ดาว ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้พักนำหญิงบริการเข้าไปนอนด้วยได้ ขอเพียงให้แจ้งโรงแรมเท่านั้น จะมีบริการพิเศษนำเข้ามาให้โดยผ่านประตูเล็กๆด้านหลัง

ประเทศไทยของเราซึ่งมีโสเภณีมาแต่ดึกดำบรรพ์ดังกล่าวแล้ว คงไม่ต้องพูดถึง…อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย แต่ตำรวจก็มักเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทำให้กิจการค้าประเวณีในประเทศไทยเป็นอาชีพที่เคียงคู่กับการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด

มีความเชื่อในแวดวงนักพัฒนาว่า เมื่อประเทศร่ำรวยขึ้น ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยที่ดีขึ้น อาชีพนี้จะค่อยๆหายไปดังเช่น เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ…ซึ่งปัจจุบันแม้ยังมีอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องจำกัดและค่าใช้จ่ายสูงมาก

ของไทยเรายังเป็นแค่ประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงเท่านั้น การที่ยังมีอาชีพนี้อย่างเปิดเผย แม้จะมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีใช้อยู่ จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมายของนักพัฒนาและเชื่อกันว่าอีกนานกว่าจะหมดไป

บอกแล้วไงว่า ข้อเขียนวันนี้ไม่เกี่ยวกับหนังเรื่อง “คังคุไบ” เท่าไรหรอก…แค่อยากโหนกระแสความเป็นผู้นำโสเภณีของเธอ เพื่อเขียนถึงเรื่องโสเภณีทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นอาชีพ “คู่โลก” เท่านั้นเองครับ.

“ซูม”

ข่าว, หนัง, อินเดีย, กระแส, คังคุไบ, บอลลีวู๊ด, ซูมซอกแซก