พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา เรียนลัด “ประวัติอยุธยา” ที่นี่

รายงานซอกแซกพิเศษชุดเรียนประวัติศาสตร์อยุธยาของหัวหน้าทีมซอกแซกมาถึงบทสุดท้ายแล้วนะครับสัปดาห์นี้

โดยจะขอนำท่านผู้อ่านแวะเข้าชมของเก่าของโบราณอันทรงคุณค่าที่ขุดค้นได้จากกรุต่างๆของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มาตั้งแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ในจำนวนที่มากพอที่จะทำให้พวกเราชาวไทยรุ่นหลังได้มีโอกาส “เรียนรู้” และ “เรียนลัด” เพื่อทราบถึงประวัติความเป็นมาและความยิ่งใหญ่ในอดีตของกรุงศรีอยุธยาได้ภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมงจากการเข้าเยี่ยมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราแวะไปสักการะ วัด ราชบูรณะ อันเป็นวัดที่สร้างโดย เจ้าสามพระยา เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระเชษฐา ของพระองค์ท่าน ได้แก่ เจ้าอ้ายพระยา และ เจ้ายี่พระยา ที่กระทำยุทธหัตถีแย่งบัลลังก์ที่ว่างลงจากการเสด็จสวรรคตของพระราชบิดา

ปรากฏว่าทั้ง 2 พระองค์สิ้นพระชนม์ชีพบนหลังช้างไปด้วยกัน–อาณาประชาราษฎร์จึงอัญเชิญ เจ้าสามพระยา พระอนุชาองค์สุดท้องขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเมื่อพระราชทานเพลิงพระศพแก่เจ้าพี่ทั้ง 2 แล้ว ก็ทรงสร้างวัดนี้ขึ้น ณ บริเวณพระราชทานเพลิงพระศพนั้นเอง พระราช ทานนามว่า “วัดราชบูรณะ” สืบมานับแต่บัดนั้น

จนกระทั่งกาลเวลาผ่านไป 532 ปี และผ่านยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มาสู่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี…ก็ปรากฏว่า ใน พ.ศ.2499 นั้นเอง

ก็มีการลักลอบขุดพระปรางค์ในวัดนี้ ภายหลัง“กรุแตก” คนร้ายพบวัตถุโบราณมีค่าและเครื่องทองของใช้ประจำยุคต้นๆของกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก เป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ยุคนั้น ดังที่ทีมงานซอกแซกได้เขียนเอาไว้แล้ว

ต่อมา กรมศิลปากร ก็เข้าทำการ “ขุดกรุ” ในวัดราชบูรณะอย่างเป็นทางการ ค้นพบโบราณ วัตถุอันทรงคุณค่าอีกมากมาย รวมทั้ง “พระเครื่อง” จำนวนไม่น้อย ซึ่งในช่วงแรกกรมศิลปากรได้ดำเนินการไปจัดเก็บไว้ในสถานที่และพิพิธภัณฑ์อื่นๆหลายแห่ง แม้แต่นอกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จากนั้นไม่นานนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทอดพระเนตรวัตถุโบราณบางส่วน ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทรงมีพระราชดำริ แก่กรมศิลปากรว่า ควรจะสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นเอง เพื่อเก็บรวบรวมโบราณ วัตถุอันทรงคุณค่าจากวัดราชบูรณะและสถานที่อื่นๆที่ค้นพบในภายหลังมาแสดงไว้ในที่เดียวกัน

ประกอบกับ กรมศิลปากรได้รับเงินบริจาคจากประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่ประสงค์จะเช่าพระเครื่องบางส่วนจากกรุวัดราชบูรณะไปบูชา…จึงมีงบประมาณต้นทุนในการก่อสร้างอาคารหลังแรกขึ้น และก่อสร้างจนแล้วเสร็จในที่สุด ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมราชินีนาถ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปททรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2504 และทรงให้อัญเชิญพระนาม สมเด็จพระราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา ให้เป็นนามของพิพิธภัณฑ์

เพราะนอกจากจะใช้ตั้งแสดงโบราณวัตถุจากกรุของวัดราชบูรณะของเจ้าสามพระยาเป็นหลักแล้ว เงินงบประมาณตั้งต้นจำนวนหนึ่งยังมาจากเงินบริจาคเช่าพระเครื่องจากกรุของวัดแห่งนี้ดังได้กล่าวไว้

ในอาคารจัดแสดงที่ 1 ซึ่งเป็นอาคารแรกนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ชั้น …โดย ชั้นบน ใช้จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่ค้นพบ และได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในจังหวัดมหานครศรีอยุธยา เช่น พระพุทธรูป, พระพิมพ์, ตู้พระธรรมลายรดนํ้า รวมถึงพระบรมสารีริกธาตุจาก วัดมหาธาตุ แห่งกรุงศรีอยุธยา และเครื่องทองอันสวยงามมากจากกรุ วัดราชบูรณะ เป็นต้น

สำหรับ ชั้นล่าง ใช้เป็นที่จัดแสดงโบราณ วัตถุที่ค้นพบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆด้วย โดยเฉพาะพระพุทธรูปและเศียรพระพุทธรูปที่สำคัญจากวัดต่างๆ

โบราณวัตถุสำคัญที่นำมาแสดงและควรแวะชมเพื่อเป็นความรู้และบุญตาก็เช่น พระแสงดาบทองคำ สมัยอยุธยา, พระเต้าทักษิโณทกทองคำ, ช้างทรงเครื่องทองคำ, บานประตูไม้จำหลักรูปเทวดาทรงพระขรรค์ จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ รวมถึงครุฑโขนเรือศิลปอยุธยา โบราณ ฯลฯ

ยอมรับว่าตื่นตาตื่นใจจริงๆ กับสิ่งที่เห็นใน พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ซึ่งปัจจุบันนี้มีอาคารแสดงถึง 3 อาคารด้วยกัน

ท่านอาจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ท่านสรุปกับพวกเราว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีไทยยาวนานถึง 417 ปี นับว่ายาวนานที่สุดในบรรดาราชธานีทั้งหลายของเรา จึงได้ชื่อว่าเป็นยุคสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของราชอาณาจักรสยาม ซึ่งแม้ต่อมาจะพลาดท่าเสียทีแก่ข้าศึกแต่ก็ยังเหลือร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองทั้งหลายทั้งปวงเอาไว้อย่างมาก

ยกตัวอย่างใน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา นี่แหละครับ…ขนาดว่าหลุดไปอยู่ในการครอบครองของบุคคลที่ไม่สมควรครอบครองเสียเป็นจำนวนไม่น้อย…รวมทั้งที่ถูกเผา ถูกทำลายไประหว่างเสียกรุงก็อีกมาก…แต่เท่าที่พอเหลืออยู่และตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้แล้วละครับว่า เราเคยเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่จริงในบูรพา

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ ดร.สุเนตร สำหรับการบรรยายที่เปี่ยมไปด้วยความรู้คู่ความสนุก จนมองเห็นภาพต่างๆ ลอยเด่นขึ้นมากลางซากปรักหักพังต่างๆ

ขอบคุณคุณ เข็มทัศน์ มนัสรังษี ประธานบริษัท เคเบสต์ ฟาร์ม จำกัด ผู้จัดคอร์สพิเศษชุด “เจาะเวลาหาอดีตกรุงศรีอยุธยา” ขึ้นจนทีมงานซอกแซกมีเรื่องมาเขียนได้ถึง 5-6 สัปดาห์

ปล.ขอบคุณร้านอาหาร “ขาวละออ” อยุธยา ด้วยนะครับ ที่เสิร์ฟอาหารกลางวันแก่คณะนักเรียนพิเศษชุดนี้ด้วย “ปลาทูโอมาน” คู่กับ “น้ำพริกไทย” ทำให้หัวหน้าทีมซึ่งเชยมากเพิ่งจะมีโอกาสรับประทานเป็นครั้งแรก มีเรื่องเขียนผ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” ว่าด้วย “วิกฤติปลาทูไทย” ได้อีกหลายวัน และล่าสุด กรมประมง ท่านชี้แจงมาว่า กำลังดำเนินการแก้ไขวิกฤติทั้งหลายอยู่พร้อมกับให้สัญญาว่า “ปลาทูไทย” จะต้องไม่หมดไปจากท้อง “ทะเลไทย”.

เอวัง…ก็มีด้วยประการฉะนี้แล.

“ซูม”

ข่าว, ประวัติศาสตร์, อยุธยา, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ, เจ้าสามพระยา, กรุงศรี, ซูมซอกแซก