เว็บไซต์ข่าวทุกสำนักเผยแพร่ข่าว เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ว่ากระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564 ออกมา เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสิ้น 12 ท่านด้วยกัน
แต่ด้วยเนื้อที่คอลัมน์อันจำกัด ผมไม่สามารถที่จะนำรายชื่อของทุกๆ ท่านมาลงได้…ขออนุญาตเขียนแสดงความยินดีอย่างเฉพาะเจาะจงถึงศิลปินแห่งชาติที่ผมติดตามผลงานมาโดยตลอด และก็ได้เคยเขียนถึงท่านเอาไว้บ้างแล้ว เพียงท่านเดียวเท่านั้นในวันนี้
ได้แก่ ครูสลา คุณวุฒิ ผู้ประพันธ์เพลงลูกทุ่งชื่อดังที่ได้รับการยกย่องในสาขาศิลปะการแสดงนั่นเอง
เพลงของครูสลาที่ถูกใจผมมากที่สุด ฟังแล้วต้องรีบเข้ากูเกิลเพื่อค้นหาทันทีว่า ใครคือผู้แต่งเพลงนี้…ก็คือเพลง “ดอกหญ้าในป่าปูน” เพลงฮิตล้านตลับของ ต่าย อรทัย เมื่อ พ.ศ.2540 กว่าๆ นั่นแหละครับ
ช่วงนั้นผมเพิ่งวางมือจากงานพัฒนาชนบท และกลับมาเขียนหนังสือเต็มตัวกับไทยรัฐ ไม่นานนัก ยังคิดถึงงานพัฒนาชนบทที่ผมเคย ทำมาร่วมๆ 30 ปีอยู่มาก
โดยเฉพาะ “ชนบทอีสาน” ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นชนบทที่ยากจนที่สุด ของประเทศ และมีการอพยพไปหางานทำในกรุงเทพฯมากที่สุดเช่นกัน
พวกเรานักพัฒนาชนบทตระหนักดีว่า คงยากที่จะห้ามการเดินทาง เพราะมนุษย์เราล้วนใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า อย่างไรเสียก็จะต้องพยายามเดินทางไปสู่อนาคตที่เขาคิดและเชื่อว่าดีกว่าจนได้
เมื่อกรุงเทพมหานครกลายเป็นความหวังของคนจนทั้งประเทศ รวมทั้งคนจนอีสานด้วย…ทำให้เขามุ่งหน้าลงมาต่อสู้ชีวิต เพื่อความอยู่รอด และเพื่ออนาคตที่เขาคิดว่าดีกว่า เราจะไปห้ามเขาได้อย่างไร
จริงๆ แล้วเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนด้วยซํ้า
อย่างที่ผมเขียนไว้เมื่อเร็วๆ นี้ ตอนพูดถึงวันครบ 240 ปีกรุงเทพฯ ว่า เมื่อห้ามเขาไม่ได้ เราก็ควรหาทางช่วยเขาด้วยการติดอาวุธทางปัญญาให้เขาลงมาสู้กับความโหดร้ายของกรุงเทพฯได้อย่างปลอดภัย
จึงมีการเร่งรัดด้านการศึกษาทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน การขยายและพัฒนาคุณภาพโรงเรียนมัธยมระดับอำเภอ ไปจนถึงการจัดหาที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านอย่างที่ผมเคยเขียนไว้
โดยหวังว่าการมีความรู้ที่สูงขึ้นและการรับรู้ข่าวสารมากขึ้นจะช่วยให้พี่น้องชนบทของเรา “เดินทาง” มาสู่ฝันได้สะดวกขึ้น…ไม่โดนเอารัดเอาเปรียบอย่างมากมายเหมือนในอดีตกาล
ผมคิดว่าเนื้อหาของเพลง “ดอกหญ้าในป่าปูน” สะท้อนการเดินทางของชาวชนบทที่ผ่านการติดอาวุธทางปัญญามาแล้วคนหนึ่ง
ครูสลาสมมติให้ ต่าย อรทัย เป็นสาวอีสานที่อพยพมาทำงานในเมืองหลวง หลังเรียนจบ ม.ปลาย (ตามแผนเร่งรัดการศึกษาระดับมัธยม)
เสร็จแล้วเด็กสาวนักสู้คนนี้ก็เอาแรงเป็นทุนสู้งานเงินเดือนต่ำๆ แล้วเก็บหอมรอมริบไปเรียนต่อภาคค่ำ…แม้ระหว่างทำงานจะโดนเอารัดเอาเปรียบ โดนดูถูกดูหมิ่นบ้างแต่เธอก็ข่มใจไว้ไม่ถือสา
โดยเปรียบตัวเองเสมือนดอกหญ้าที่ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหนก็บานได้
ทุกที่…แม้ในป่าปูนก็บานได้…ทำให้เธอเรียนจบได้รับปริญญา สวมมงกุฎดอกหญ้า ที่สมัยหนึ่งบัณฑิตมหาวิทยาลัยนิยมสวมพร้อมกับเสื้อครุย กลับไปให้ญาติที่บ้านที่ชนบทชื่นชม
เป็นเนื้อเพลงที่งดงามมากและเป็นกำลังใจให้แก่ชาวชนบทที่ลงมาสู้ชีวิตในเมืองหลวงในยุคนั้นอย่างมาก
ที่สำคัญ “ต่าย อรทัย” ก็ถ่ายทอดได้ดีมาก…สมควรแล้วที่เทป ขายดีจนกลายเป็นเพลงล้านตลับของ แกรมมี่โกลด์ ในที่สุด
นอกจากเพลงนี้แล้ว หลายๆ เพลงที่เกี่ยวกับภาคอีสานและแรงงานอีสานที่ครูสลาแต่งล้วนเป็นเพลงที่ให้กำลังใจ ให้ต่อสู้ ให้ทำงานหนักไม่ท้อแท้ ไม่มีสักเพลงเดียวที่จะสอนให้ก้าวร้าวหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม
เพลงทุกเพลงของครูสอนให้มองตัวเองแล้วก็เอาจุดแข็งของเราเอง เอาความอดทน มานะบากบั่นของเราออกมาสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ…นี่คืออาวุธที่สำคัญที่สุดที่ซ่อนอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน ที่สามารถ จะนำออกมาใช้อย่างได้ผล
ขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรมนะครับที่เห็นคุณค่าของครูสลา… และขอบคุณครูสลาด้วยครับ สำหรับผลงานอันงดงามทุกชิ้นที่คุณครูบรรจงสร้างสรรค์ให้แก่สังคมไทย.
“ซูม”