จากวัด “กุฎีดาว” ตำนาน “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” วัดเก่าแก่แห่งยุคอโยธยา…หัวหน้าทีมซอกแซกในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ “รุ่นคละ” (หมายถึงอายุคละกัน…สูงสุดอายุ 81 ปี ตํ่าสุดอายุ 15 ปี) ของท่านศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ก็ออกเดินทางไปพร้อมกับคณะนักเรียนสู่จุดที่ 2 เพื่อการเรียนในชั่วโมงที่ 2 ของคณะนักเรียนพิเศษชุดนี้
ได้แก่ “วัดพนัญเชิงวรวิหาร” ซึ่งเป็นวัดโด่งดังมากแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และของประเทศไทยเราด้วย เพราะเป็นวัดที่ได้รับความเคารพนับถือจากพี่น้องชาวไทยทั่วทุกภาคในปัจจุบันนี้
ท่านอาจารย์สุเนตรให้เหตุผลสำหรับการไปเยือนวัดพนัญเชิงว่า…นอกจากจะไปกราบคารวะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด “พระพุทธไตรรัตนนายก” ที่คนไทยนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อโต” และคนจีนเรียกว่า “หลวงพ่อซำปอกง”…รวมทั้งการสักการะศาล “เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก” ตำนานแห่งความรักระหว่างธิดาพระเจ้ากรุงจีน กับ เจ้าชายสายนํ้าผึ้ง แล้ว
ท่านยังมีความประสงค์จะให้พวกเราซึมซับกับบรรยากาศแห่งความรุ่งเรืองของยุค “อโยธยา” อีกคำรบหนึ่ง
การไปเยือน วัดกุฎีดาว แม้จะได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของอโยธยาอยู่ไม่น้อย…แต่ที่ “วัดพนัญเชิง” และบริเวณโดยรอบ…โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ บริเวณจุดตัดของ แม่นํ้าเจ้าพระยา กับ แม่นํ้าป่าสัก นั้น เราจะได้เห็นร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองของบริเวณดังกล่าว ย้อนหลังไปไม่ตํ่ากว่า 700 ปี
ท่านอาจารย์เล่าว่า เฉพาะองค์ “หลวงพ่อโต” ก็มีหลักฐานแล้วว่ามีการสร้างขึ้นก่อน พระเจ้าอู่ทอง ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีถึง 26 ปี
หากเรานับจากปีสถาปนากรุงศรีฯ อันได้แก่ พ.ศ.1893 มาถึงปัจจุบันนี้ พ.ศ.2565 ก็ราวๆ 672 ปีเข้าไปแล้ว…เมื่อบวกกับ 26 ปี ที่มีการบันทึกไว้เข้าไปด้วย ก็เท่ากับว่าหลวงพ่อโต แห่งวัดพนัญเชิง จะมีอายุถึง 698 ปี
ครั้นเมื่อนับห้วงเวลาแห่งตำนานของ “เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก” ที่บันทึกไว้โดยพระราชพงศาวดารเหนือเข้าไปอีกก็ยิ่งชัดเจนว่า อาณาบริเวณที่อยู่รอบๆ วัดพนัญเชิงน่าจะมีอายุเกิน 700 ปี อย่างแน่นอน
ที่สำคัญตำนาน “เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก” และ “เจ้าชายสายนํ้าผึ้ง” นี้เองที่เป็นจุดเริ่มของการบันทึกความรุ่งเรืองของอาณาจักรอโยธยา ว่าน่าจะมีมาแต่โบราณกาลโน่นแล้ว ด้วยความสัมพันธ์อันดียิ่งกับ พระเจ้ากรุงจีน ถึงขั้นทรง เชิญเจ้าชายสายนํ้าผึ้งเสด็จไปเมืองจีนทางทะเลและเมื่อกลับสู่อโยธยาก็ได้พระราชทานพระธิดาบุญธรรมของพระองค์ อันได้แก่ เจ้าหญิงสร้อยดอกหมาก มาเป็นมเหสีเจ้าชายด้วย
เราคงทราบกันดีแล้วว่า ความรักระหว่างเจ้าชายสายนํ้าผึ้งกับเจ้าหญิงสร้อยดอกหมากจบลงอย่างโศกนาฏกรรม…เมื่อเจ้าชายทรงให้เจ้าหญิงรออยู่ในเรือพระที่นั่งที่มาจอด ณ บริเวณปากนํ้าแม่เบี้ย ใกล้ๆแหลมบางกะจะหน้าวัดพนัญเชิง ปัจจุบันนี้
โดยพระองค์ขอเสด็จเข้าเมืองก่อนแล้วจะมารับในวันหลัง ต่อมาก็หลงลืมจนเจ้าหญิงน้อยพระทัยและเมื่อเสด็จมารับแล้วก็ยังมีการพูดจาหยอกล้อที่ทำให้เจ้าหญิงเสียพระทัยมากขึ้น อีกจึงกลั้นพระหฤทัยถึงแก่ทิวงคตบนเรือสำเภาพระที่นั่งดังกล่าว
เป็นที่มาของชื่อวัดนี้ว่า “พแนงเชิง” ซึ่งแปลว่า “พระนางผู้มีความแง่งอน” แล้วแผลงเป็น “พนัญเชิง” ในภายหลัง…และเป็นที่มาของศาล เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ที่สร้างขึ้นเป็นศาลเจ้าแบบจีน เป็นที่เคารพสักการะสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ท่านอาจารย์สุเนตรนำพาคณะนักเรียนรุ่นพิเศษของท่านไปนั่งบ้างยืนบ้าง เพื่อฟังท่านบรรยาย ณ บริเวณท่าน้ำของวัด ซึ่งมองออกไปจะเห็น แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลมาบรรจบกับ แม่น้ำป่าสัก อยู่ข้างหน้า
หัวหน้าทีมซอกแซกขออนุญาตลงภาพถ่ายที่ได้มาจาก วิกิพีเดีย ประกอบคอลัมน์วันนี้เพื่อให้เห็นทัศนียภาพมุมสูงของ วัดพนัญเชิง ที่ตั้งอยู่ ณ “สามเหลี่ยม” บริเวณที่แม่น้ำ 2 สายตัดกันอย่างชัดเจนมากขึ้น
อาจดูไม่ใหญ่โตกว้างขวางมากนักในปัจจุบันนี้ แต่นึกย้อนไปเมื่อ 700 กว่าปีซึ่งยังไม่มีบ้านเรือน มีแต่แม่น้ำกับต้นไม้ที่ขึ้นหนาทึบ อยู่ริมแม่นํ้า ก็พอจะจินตนาการได้ว่า บริเวณนี้ ในสายตาของคนยุคโน้นน่าจะใหญ่โตกว้างขวางไม่น้อยเลย
สามารถเป็นที่จอด “เรือสำเภา” ของเจ้าหญิงสร้อยดอกหมาก และเรือสำเภาค้าขายอื่นๆ ที่เดินทางทางทะเลเข้าสู่อ่าวไทย เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่าน “บางกอก” ขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ จนไปจอดทอดสมอ ณ บริเวณหน้า วัดพนัญเชิง ดังกล่าว
จากหลักฐาน “สมอเรือ” ที่ใหญ่โตมากที่ขุดค้นพบภายหลัง และหลักฐานอื่นๆ อีกหลายชิ้นทำให้สรุปได้ว่า บริเวณนี้เองที่เปรียบเสมือน ท่าเรือกรุงเทพ หรือ ท่าเรือคลองเตย อันเป็นประตูสู่โลกกว้างของประเทศไทยเรา เมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว
ยังมีการค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยของชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาว โปรตุเกส และชาวจีนที่มากับเรือสำเภาแล้วปักหลักปักฐานอยู่แถวๆ นั้น รวมทั้งยังมีร่องรอยของสำนักโสเภณีโบราณเพื่อบริการลูกเรือและกะลาสีต่างๆ ด้วย
เราจบหลักสูตร “ชั่วโมงที่ 2” ด้วยการแยกย้ายกันไปกราบสักการะทั้ง พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ “หลวงพ่อโต” และ “ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก” ตามอัธยาศัย
สำหรับหัวหน้าทีมเอง ยังถือโอกาสไปยืนดูจุดแม่น้ำเจ้าพระยาบรรจบกับแม่น้ำป่าสักที่เห็นอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลอีกครั้งก่อนกลับพร้อมกับจินตนาการไปตามประสาแฟนนวนิยายและ ละครโทรทัศน์ เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” คนหนึ่ง…ว่า
เมื่อตอนที่ออกขุนศรีวิสารวาจา ราชทูตหนุ่ม เดินทางไปฝรั่งเศส กับพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เมื่อ พ.ศ.2229 นั้นพระเอกของเราอาจจะมาขึ้นเรือสำเภาแถวนี้ด้วยกระมัง?
“ชูม”