ในการเสวนาหัวข้อ “50 ปี ประชากรที่เปลี่ยนไป” เมื่อเร็วๆนี้อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ 2 ท่าน ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่ฟังแล้วรู้สึกเหี่ยวๆ อย่างไรก็ไม่รู้ เกี่ยวกับจำนวนประชากร ของประเทศไทยในอนาคตข้างหน้า
อาจารย์ท่านแรกผมสนิทมาก ทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิดเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ยุคที่ผมอยู่สภาพัฒน์ ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ผมเชื่อมั่นและยกนิ้วให้มาตลอดว่าท่านเก่งจริงและรู้จริงในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับ “ประชากรศาสตร์” ของประเทศไทย
อาจารย์ปราโมทย์อยู่กับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มานานมาก และปัจจุบันก็ยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา
ส่วนท่านที่ 2 รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ เป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์…ผมเพิ่งได้ยินชื่อครั้งแรก ต้องขออภัยด้วย…เพราะระยะหลังๆ ผมรู้ตัวดีว่าติดตามอ่านรายงานทางวิชาการด้านต่างๆ น้อยลงไปมาก
ทั้ง 2 ท่านมีความเห็นสอดคล้องกันในการเสวนาครั้งนี้…คือเป็นห่วงว่า ขณะนี้คนไทยเกิดตํ่ากว่าปีละ 6 แสนคนแล้วจะเป็นผลให้ “อัตราเกิด” และ “อัตราตาย” ของคนไทยเท่ากันในเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นอัตราการตายก็จะสูงกว่าอัตราเกิด
อาจารย์ปราโมทย์บอกว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปีที่การเกิดของคนไทยลดตํ่ากว่า 6 แสนคนต่อปี โดยข้อมูลปี 2563 พบว่ามีเด็กไทยเกิด 5.8 แสนคนเท่านั้น และคาดว่าจะลดไปอีกเรื่อยๆ
ไม่เกิน 10 ปีจากนี้ไป อัตราการเกิดของคนไทยจะลดตํ่ากว่า 5 แสนคนต่อปีแน่นอน
ท่านอาจารย์คำนวณว่า จากแนวโน้มที่เกิดขึ้น “อัตราเกิด” กับ “อัตราตาย” ของประเทศไทยจะเท่ากันพอดีในปี 2567 หลังจากนั้น “อัตราตาย” ก็จะสูงกว่า “อัตราเกิด”
สำหรับท่านอาจารย์ ดร.ธีระ ได้นำข้อมูลของท่านมาเสริมแสดงให้เห็นว่า ตัวเลขการเกิดของคนไทยลดลงมากกว่า 1 ใน 3 โดยใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น
ถ้าแนวโน้มยังเป็นอย่างนี้ ประชากรไทยซึ่งมีประมาณเกือบ 70 ล้านคนในขณะนี้จะลดลงมาเหลือเพียงครึ่งเดียว คือไม่เกิน 35 ล้านคน ภายในเวลาไม่นานนัก
ผลกระทบจากการที่คนเกิดน้อยแต่ตายมากกว่า จนทำให้จำนวนประชากรลดลงนั้น ประการแรกเลยก็คือ ของอะไรก็ตามที่เราลงทุนอย่างตั้งใจว่าจะเตรียมไว้สำหรับคนจำนวนมากก็จะไม่เป็นไปตามที่คิดไว้
โรงเรียนจะมีเด็กเรียนน้อยลง มหาวิทยาลัยก็จะมีนิสิตนักศึกษาน้อยลง รถไฟฟ้าก็จะมีคนขึ้นน้อยลง ถนนหนทางต่างๆ ก็จะว่างลง ห้างสรรพสินค้าที่มีมากกว่าดอกเห็ดในปัจจุบันนี้ก็จะโหรงเหรงลง ฯลฯ
ในด้านสังคมนั้น ขนาดของครอบครัวก็จะเปลี่ยนไปคือ จะเล็กลงมาก สืบต่อได้ไม่กี่รุ่นก็หมดซะแล้ว, ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นต่อรุ่นในแต่ละครอบครัวก็จะถ่างออกไปเพราะการเลื่อนอายุสมรส การอยู่เป็นโสดที่นานขึ้น ปู่ย่ากับหลานอาจจะได้เห็นหน้ากันเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น
ท่านอาจารย์ทั้ง 2 ท่านสรุปปัญหาไว้มากกว่านี้ เผอิญผมไม่มีเนื้อที่ที่จะลงได้อย่างละเอียด ก็ขออนุญาตฉายภาพให้เห็นพอสังเขปก็แล้วกัน
แต่ที่ผมยังเบาใจหน่อยก็ตรงที่เคยอ่านข่าวเจอว่า กรมอนามัยท่านออกมาบอกว่าประชากรไทยเราอาจจะลดลงเหลือ 35 ล้านคน ภายใน 20 ปีข้างหน้า นับจากนี้ไปก็เป็นเวลายาวนานพอสมควร
หากคิดอ่านหาทางแก้ไขเสียตั้งแต่วันนี้ก็อาจจะมีทางเปลี่ยนแปลงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย
แม้การจูงใจให้มีลูกเร็วหรือมีลูกมากจะยากกว่าการจูงใจให้มีลูกน้อยอย่างที่เราริเริ่ม เมื่อประมาณแผน 2 แผน 3 ของประเทศไทย (ราวๆ พ.ศ.2510 เป็นต้นมา) ซึ่งได้ผลมาก แผล็บเดียวอัตราเกิดลดฮวบ และยังฮวบจนถึงทุกวันนี้
แต่ผมก็ยังมั่นใจว่า ถ้าเรารีบทำ รีบรณรงค์ รีบสร้างแรงจูงใจเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างน่าจะดีขึ้นได้บ้าง
ช่วง “ลดประชากร” เรามีคุณมีชัย วีระไวทยะ มาเป็นฮีโร่แจกถุงยางจนประสบผลสำเร็จ…จากนี้ไปในช่วงเพิ่มประชากรจะมีใครมาช่วย “ถอดถุงยาง” ทำให้คนเกิดมากขึ้น คงต้องลุ้นกันต่อไป
ใครจะขันอาสาทำงานใหญ่เพื่อชาติก็เชิญนะครับ.
“ซูม”