ยินดี “Baby Shark” ยอดวิวทะลุ “หมื่นล้าน”

ไม่ใช่ข่าวใหม่แต่ประการใดสำหรับรายงานที่สื่อสำนักใหญ่ๆ ทั่วโลกหลายสำนัก รายงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า วิดีโอชุด Baby Shark Dance ซึ่งเป็นวิดีโอเพลงเด็ก และได้รับความนิยมจากเด็กๆ ทั่วโลกนั้นเป็นมิวสิกวิดีโอที่มียอดวิวสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในยูทูบอีกปีหนึ่ง

ด้วยยอดวิวล่าสุดขณะที่แถลงข่าวสูงถึง 10,006,818,583 วิว หรือ 10,006 ล้านวิวเศษ

ทิ้งอันดับ 2 ซึ่งได้แก่เพลง Despacito ของศิลปินแร็ปเปอร์โตริโก หลุยส์ ฟอนซี ที่มียอดวิว 7,701,677,153 วิว หรือ 7,701 ล้านวิวเศษ ในนาทีเดียวกันไปถึง 2 พัน 3 ร้อยกว่าล้านวิวเลยทีเดียว

สำหรับอันดับที่ 3 ได้แก่เพลง Johny Johny Yes Papa เพลงเด็กเช่นกัน ของ Chu Chu TV ซึ่งมียอดวิว 6,101 ล้านเศษ, อันดับ 4 ก็คือเพลง Shape of You ของนักร้องอังกฤษ เอ็ด ชีราน ซึ่งมียอดวิว 5,586 ล้านวิวเศษ และอันดับ 5 ได้แก่เพลง See You Again ของนักร้องผิวสีแห่งสหรัฐฯ วิช คาลิฟา ซึ่งมียอดวิวทั้งสิ้น 5,384 ล้านเศษ

เหตุที่มองกันว่าข่าววันนี้ไม่ใช่ข่าวใหม่ก็เพราะเพลงเด็ก Baby Shark Dance นั้น ทำสถิติยอดผู้เข้าชมสูงสุดติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

แต่ที่ตื่นเต้นและฮือฮากันมากจนสื่อระดับโลกต้องนำมาพาดหัว และรายงานข่าวเอิกเกริกอีกครั้ง ก็เพราะเพลงนี้เป็นเพลงแรกของยูทูบที่ทะลุหลัก 10,000 ล้านวิวนั่นเอง

อะไรไม่อะไรเป็นที่เชื่อกันว่า MV เพลงนี้น่าจะครองอันดับ 1 ไปอีกนานแน่ๆ เพราะจากสถิติวันแถลงข่าวมาจนถึงวันที่ทีมงานซอกแซกลงมือเขียนรายงานวันนี้ผ่านมาแค่ 7 วันเท่านั้น ยอดวิวกลายเป็น 10,050,308,868 ล้านซะแล้ว หรือเพิ่มขึ้นอีกถึง 43 ล้านวิวเศษ

ในขณะที่อันดับ 2 Despacito เพิ่มขึ้นแค่ 8 ล้านวิวเศษๆ เท่านั้นเองในเวลาเดียวกัน…จะเอาอะไรมาสู้ล่ะ

ในหลายๆ รายงานที่บันทึกกันไว้ระบุคล้ายๆ กันว่า เพลงและการเล่นที่เกี่ยวกับการเต้น Baby Shark น่าจะเกิดขึ้นในการไปเข้าแคมป์ไฟของบรรดาลูกเสือ หรือนักเรียน โดยเฉพาะในยุโรป ย้อนหลังไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน

เนื่องเพราะในการไปเข้าค่ายและเต้นแคมป์ไฟกันนั้นแล้ว คุณครูหรือผู้ควบคุมมักจะนำเพลงที่เหมาะแก่การเต้นทั้งที่เป็นเพลงเก่าแก่เป็นตำนานนับร้อยๆ ปี และเพลงใหม่ๆ ที่แต่งหรือดัดแปลงขึ้นตามเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาให้เด็กๆ เต้นกันอยู่เสมอ

ดังนั้น เมื่อปี ค.ศ.1975 หรือ พ.ศ.2518 ประมาณ 46 ปีที่แล้ว ซึ่งมีภาพยนตร์ที่ฮิตมากเรื่องหนึ่งของโลก ออกมาสร้าง ความฮือฮา นั่นก็คือภาพ ยนตร์เรื่อง JAWS ที่ว่าด้วยฉลามยักษ์กินคน ที่มาคาบสาวน้อยที่เล่นน้ำอยู่ริมทะเลไปรับประทาน จนต้องมีการไล่ล่าอย่างตื่นเต้น… ทำให้ “ฉลาม” กลายเป็นเรื่องที่พูดถึงกันทั่วโลก

คุณครู “แคมป์ไฟ” จึงได้แต่งเนื้อร้องและคิดท่าเต้นแบบปลาฉลามขึ้น โดยเฉพาะใน “ท่าเต้น” นั้น จะมีการใช้ฝ่ามือมาประกอบให้ดูเป็นลักษณะลีลาการว่ายน้ำผาดโผนต่างๆ ของ “ฉลาม” เพื่อเพิ่มความสนุกสนานอีกด้วย

ต่อมาใน ค.ศ.2007 ก็ได้มีการนำท่าเต้นและเพลงร้อง Baby Shark มาบันทึกมิวสิกวิดีโอลงยูทูบเป็นครั้งแรกในเวอร์ชัน “ภาษาเยอรมัน” ปรากฏว่าฮิตมากในเยอรมัน และก็แพร่หลายไปทั่วโลก ทำให้มีเวอร์ชันออสเตรเลียและเวอร์ชันของสหรัฐอเมริกาฮิตตามมา

และแล้วก็มาถึง “เวอร์ชันเกาหลี” อันได้แก่เวอร์ชันที่เรียกว่า Pink Fong ของบริษัทด้านการบันเทิงและการศึกษา SmartStudy แห่งกรุงโซลนำลงยูทูบเมื่อ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015 โดยออกมาเป็นชุดๆ แบบครอบครัวฉลาม ทั้งปู่ ทั้งย่า และคุณพ่อ คุณแม่ มากันครบ

ด้วยภาษาอังกฤษที่น่ารัก เสียงเพลงประกอบท่าเต้น โดยมีเด็กเกาหลีหน้าตาน่ารักนำแสดง

ด้วย ส่งผลให้ Baby Shark ในเวอร์ชันของ “พิงค์ฟอง” ฮิตอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามโลก (ยิ่งกว่าลามทุ่งว่างั้นเถอะ)

และแล้วในวันที่ 2 พฤศจิกายนปี 2020 หรือ ประมาณ 4 ปี หลังจากนำลงยูทูบ “เบบี้ชาร์ค” เกาหลีก็กลายเป็นมิวสิก วิดีโอเพลงแรกที่ทะลุ

ยอดวิว 7,500 ล้านวิว และ ต่อมาเมื่อ 13 มกราคม 2022 ดังกล่าว เจ้าฉลามน้อยเชื้อสายเกาหลีก็ผ่านหลัก 10,000 ล้านไปอย่างที่สำนักข่าวต่างๆ รายงานไว้ตอนต้น

เนื่องจากนักร้องนำได้แก่เจ้าหนูวัย 10 ขวบ เกาหลีเกิดในอเมริกา ส่วนเด็กหญิงวัย 9 ขวบ ที่ร้องคู่กันก็เป็นเด็กเกาหลี เกิดที่นิวซีแลนด์…ภาษาอังกฤษจึงเป๊ะด้วยกันทั้งคู่

ทำให้มิวสิกวิดีโอชุดนี้ได้รับความสนใจอย่างสูงทั้งโลก และกลายเป็นเวอร์ชัน “อินเตอร์” ที่สมบูรณ์แบบ

ดูวิธีการทำงานของเขาแล้วก็อดนึกถึงทฤษฎี “ส่งคนเกาหลีไปทั่วโลก” ของเขาเสียมิได้ ที่ส่งคนไปอยู่ในประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วยุโรปและอเมริกา จนถึงอเมริกาใต้ ซึ่งนอกจากจะไปทำงานหาเงินในต่างแดนส่งกลับบ้านแล้วยังไปเป็นเอเย่นต์ขายสินค้าตั้งแต่มือถือไปจนถึงคอมพิวเตอร์รถยนต์รวมทั้งสินค้าวัฒนธรรม เช่น ละคร “แดจังกึม” และ K-POP วงต่างๆ

ขณะเดียวกันเพื่อให้สินค้า โดยเฉพาะทางด้านวัฒนธรรมของเขาเป็น “อินเตอร์” มากขึ้น เขาก็จะใช้ลูกๆหลานๆ ของเขาที่เกิดที่เมืองนอก ภาษาอังกฤษปร๋อมาเป็นนักร้อง นักแสดงนำ หรือเป็นพรีเซนเตอร์ให้แก่สินค้าดังกล่าว

ไทยเราเองก็ส่งพลเมืองไปอยู่อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย จนบางประเทศใหญ่พอๆ กับอำเภอ อำเภอหนึ่ง มีลูกหลานเกิดขึ้นที่โน่นจำนวนมาก

อาจถึงเวลาต้องเชิญชวนลูกไทยหลานไทย ภาษาอังกฤษเป๊ะๆ มาร้องเพลง “รำวงลอยกระทง” เนื้อฝรั่งลงยูทูบกันบ้างละครับ

เผื่อจะฮิตมีคนดูติดตามเป็นพันๆ ล้านแบบเกาหลีก็ได้นะครับ…ของพรรค์นี้ไม่ลองจะรู้ได้ยังไงล่ะ อังเคิ่ลตู่?

“ซูม”

ข่าว, Baby Shark, เพลง, ยูทูป, ยอดวิว, สูงสูด, เกาหลี, เด็ก, ซูมซอกแซก