“หมุดหมาย” แผนพัฒนาฯ 13 มุ่ง “พลิกโฉม” ประเทศไทย

ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “สภาพัฒน์” กำลังอยู่ระหว่างการระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่จะประกาศใช้ในปี 2566 ถึงปี 2570 เป็นเวลา 5 ปี

เนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเราใช้ปี พ.ศ. ตามปีงบประมาณ มิใช่ปีปฏิทิน…เพราะฉะนั้น พ.ศ.2566 อันเป็นปีแรกของแผนพัฒนาฉบับที่ 13 จึงจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2565 ซึ่งนับจากนี้ไปก็อีกประมาณ 9 เดือนเศษๆ เท่านั้น

จริงๆ แล้วทางสภาพัฒน์ได้ระดมความคิดความเห็นจากทุกๆ ฝ่ายมาโดยตลอด พร้อมกับ “ยกร่าง” แผนฉบับที่ 13 เอาไว้แล้ว เพื่อเป็น “ตุ๊กตา” ในการระดมความเห็นช่วงสุดท้ายอีกรอบหนึ่ง ก่อนจะนำเสนอ ครม. เสนอรัฐสภาและนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ 1 ตุลาคม ปี 2565 เป็นต้นไป

ผมได้รับเอกสาร “ร่าง” แผนพัฒนาฉบับที่ 13 (สำหรับรับฟังความคิดเห็น) มา 1 ชุด มีรายละเอียดที่ดูน่าสนใจดังนี้ครับ

เขาพาดหัวหน้าปกไว้อย่างน่าสนใจว่า แผน 13 จะ “พลิกโฉมประเทศไทย” สู่ “สังคมก้าวหน้า” และ “เศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” อ่านแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นด้วยความอยากรู้ว่าสภาพัฒน์จะเสนอให้ทำอะไรบ้าง

ก่อนจะเดินไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือ สังคมที่ก้าวหน้าและเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าได้ยั่งยืนดังที่หวังไว้…สภาพัฒน์ ได้มีการสำรวจตัวเราเองและรวบรวมโอกาสและความเสี่ยงต่างๆ ที่เราจะต้องเผชิญเอาไว้อย่างน่าสนใจ เช่นเดียวกับการจัดทำแผนพัฒนาที่ผ่านมาทุกฉบับ

โดยมองว่า “โอกาส” และ “ความเสี่ยง” ตลอดจน “กระแส” ของโลกที่สำคัญๆ ณ นาทีนี้มี 4 ประการด้วยกัน ได้แก่

  1. การปฏิวัติทางเทคโนโลยีและดิจิทัล (ที่รวดเร็วมาก) 2. ความมุ่งมั่นของนานาชาติในการลดก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งดูท่าทีว่าจะเอาจริงมากขึ้น) 3. การเป็นสังคมสูงวัยของหลายประเทศทั่วโลก และ 4. ความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ (สภาพัฒน์ไม่ได้บอกว่า ไผกับไผ แต่อ่านแล้วก็เดาได้ไม่ยาก)

จากนั้นก็ไปสู่การสำรวจตัวเอง เริ่มตั้งแต่ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อประเทศไทย (อย่างมากพอสมควร) ไปจนถึง “ต้นทุน” ทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนต้นทุนทางสังคม ที่ประเทศเรามีอยู่…อาทิ ศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแค่ไหน? ความสามารถในการแข่งขันเป็นอย่างไร? ความพร้อมของ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมีมากน้อยเพียงใด?

ต้นทุนทางสังคมและทรัพยากรมนุษย์นั้นก็ดูตั้งแต่โครงสร้างประชากรของบ้านเราล่วงหน้าไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า, ดูว่าศักยภาพของคนไทยเรามีมากน้อยแค่ไหน? ทรัพยากรป่าไม้, ทรัพยากรทางทะเล, ความสามารถในการจัดการของเสีย และก๊าซเรือนกระจกเป็นอย่างไร?

เมื่อดูทุกอย่างครบถ้วนแล้วก็สรุปและตัดสินใจว่าแผนพัฒนาฉบับที่ 13 จะเป็นแผนที่ก้าวหน้าอย่างมีทิศทางชัดเจน คือเน้นเฉพาะประเด็นที่มีลำดับความสำคัญสูงสุดเท่านั้น

ในส่วนของ เป้าหมายหลัก เขากำหนดไว้ 5 ประการ 5 ตัวชี้วัด… ผมขอสรุปคร่าวๆ ดังนี้ครับ

เป้าแรก การปรับโครงสร้างขนาดการผลิตและบริการสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม…โดยมีตัวชี้วัด ได้แก่ รายได้ประชาชาติต่อหัว เพิ่มขึ้นเป็น 8,800 เหรียญสหรัฐฯ (เมื่อจบแผน 13)

เป้าสอง…การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ ตัวชี้วัดคือต้องทำให้ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) อยู่ในระดับสูงมาก (ค่าไม่ต่ำกว่า 0.82)

เป้าสาม การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม…วัดจากความแตกต่างของความเป็นอยู่ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์ และต่ำสุด 40 เปอร์เซ็นต์…ต่ำกว่า 5 เท่า

เป้าสี่ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน…ตัวชี้วัด ได้แก่ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงจากกรณีปกติอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์

เป้าห้า การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการเสี่ยง ภายใต้บริบทโลกใหม่…วัดด้วยดัชนีรวมสะท้อนความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงมีค่าไม่ค่ำกว่า 100

พอได้เป้าหมายหลักแล้วเขาก็กำหนด “13 หมุดหมาย” เพื่อพลิกโฉมประเทศเอาไว้อย่างน่าสนใจ แต่เนื้อที่วันนี้ผมหมดเสียก่อน ขอเก็บไว้เขียนต่อวันพรุ่งนี้ก็แล้วกัน

นอกจากจะสรุป “หมุดหมาย” ทั้งหมดแล้วก็จะขอฝากความเห็นส่วนตัวของผมเป็นของแถมให้ด้วยเล็กน้อย…อย่าลืมอ่าน “ตอนจบ” พรุ่งนี้กันด้วยนะครับ.

“ซูม”

ข่าว, สภาพัฒน์, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เทคโนโลยี, เศรษฐกิจ, ดิจิทัล, ประเทศไทย, ซูมซอกแซก