ขณะผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ ในช่วงบ่ายๆ ของวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2564 นั้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรอบเช้าประจำวันพาดหัวข่าวว่า ยอดป่วยโควิด-19 สะสมของประเทศไทยเราทะลุ 1 ล้านอย่างเป็นทางการวันแรกแล้ว
โดยมียอดผู้ติดเชื้อใหม่ประจำวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม รวม 19,851 ราย ทำให้ยอดติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 นับแต่มีการพบผู้ติดเชื้อวันแรกมาจนถึงบัดนี้ (ศุกร์ 20 ส.ค.) เท่ากับ 1,009,710 ราย ทะลุหลัก 1 ล้านราย เป็นที่เรียบร้อย และเป็นอันดับที่ 34 ของโลก
ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตประจำวันศุกร์เท่ากับ 240 ราย ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่มีการระบาดเป็นต้นมา ขึ้นไปอยู่ที่ 8,826 ราย เป็นอันดับที่ 51 ของโลก เมื่อนับจำนวนผู้เสียชีวิตรวมกัน
ผมจำได้ว่าเมื่อวันที่เราผ่านทะลุหลัก 1 หมื่นราย ผมได้หยิบมาเขียนเป็นเชิงปลอบใจและให้กำลังใจพี่น้องชาวไทยตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ หรือนักรบเสื้อขาวทั้งหลายให้สู้ต่อ
ครั้นเมื่อผ่านหลัก 1 แสนราย ผมก็หยิบมาเขียนอีก…และสาระก็คล้ายๆ กับตอนทะลุหมื่นรายนั่นแหละคือ ปลอบใจ ให้กำลังใจ และขอให้สู้ต่อไป โอกาสชนะอยู่ไม่ไกลนัก
ดังนั้น เมื่อเรายังไม่ชนะเพราะการติดเชื้อยังไม่หยุดและกลายเป็นว่า วันนี้เราทะลุ “หลักล้าน” ซะแล้ว ผมก็คงต้องทำหน้าที่บันทึกไว้อีกครั้ง
ทำให้ผมอดที่จะนึกย้อนหลังไปเมื่อ 30-40 ปีก่อนโน้นเสียมิได้…มีดาราตลกที่มาเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ท่านหนึ่ง ชื่อคุณ ดอกดิน กัญญามาลย์ เวลาที่ภาพยนตร์ของท่านสามารถโกยเกินได้ทะลุ 1 ล้านบาท วันแรก ท่านจะเหมาหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ
เพื่อลงรูปของท่านขณะสวมวิก “หัวล้าน” แบบลิเก พร้อมกับตะโกนว่า ภาพยนตร์ของท่านได้ “1 ล้านแล้วจ้า” เรียกรอยยิ้มได้จากแฟนๆ หนังไทยทั่วประเทศ
แต่ยุคนี้…ล้านแล้ว จ้า…ในกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมดังกล่าว คงไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีหรือสมควรที่จะเรียกรอยยิ้มแต่อย่างใด
มีแต่ความรู้สึกเศร้าใจสลดใจและเสียใจอย่างยิ่ง สำหรับญาติมิตรของผู้ที่ต้องเสียชีวิตไปเกือบ 9,000 ราย จาก 1 ล้านราย ที่ติดเชื้อ
เมื่อย้อนกลับไปดู ไทม์ไลน์…ก็ยิ่งรู้สึกใจหายมากขึ้น
เราเจอเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกและประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2563 เริ่มต้นด้วยเชื้อสะสม 35 ราย เป็นอันดับร้อยกว่ามากๆ ของโลก
ซึ่งเราก็รักษาอันดับร้อยกว่าๆ ไว้ได้ในอีก 8 เดือนต่อมา โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ยอดสะสมอยู่ที่ 3,569 รายเท่านั้น
ทว่าในช่วงปลายปี เราเริ่มมีการระบาดรอบ 2 ที่มาจากแรงงานต่างด้าวสมุทรสาคร ทำให้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ยอดติดเชื้อสะสมพุ่งขึ้นไปที่ 6,884 ราย และเริ่มจะมีเสียงบ่นกันแล้วว่า…หนักกว่าระลอกแรก
จากนั้นการติดเชื้อก็พุ่งไม่หยุด และเริ่มมีข่าวว่าเราเจอกับสายพันธุ์ใหม่ “เดลตา” ที่ในขณะนั้นเรียกกันว่าสายพันธุ์อินเดีย
ทำให้เราพุ่งจากประมาณ 7,000 ราย ในวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็น 101,447 ราย หรือทะลุ 1 แสนราย เมื่อ 16 พฤษภาคม 2564 ดังที่ ผมบันทึกไว้ โดยใช้เวลาแค่ 4 เดือนครึ่งเท่านั้นเอง
จากนั้นยอดก็ยังกระฉูดจากทะลุ 1 แสนเป็นทะลุ 1 ล้าน โดยใช้เวลา 3 เดือนกับ 4 วัน…รวดเร็วหนักข้อเข้าไปอีก
ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความวุ่นวายต่างๆ ทั้งในด้านการสาธารณสุข, การเมือง, การสังคม และสารพัดเหตุการณ์ที่อยู่บนข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับวันนี้ (กรุณาอ่านและสรุปกันเอาเองนะครับ)
ก็ไม่รู้จะปลอบใจหรือให้กำลังใจซึ่งกันและกันอย่างไรดี เพราะตอนเชื้อทะลุแสนเขียนปลุกปลอบและให้กำลังใจเอาไว้เสียดิบดี คิดว่าเราจะเอาชนะได้ กลับกลายเป็นติด “ทะลุล้าน” อย่างรวดเร็วซะงั้น
นึกถึงเพลงเก่าๆ ที่เคยร้องปลอบใจยามอกหัก หรือสิ้นหวังขึ้นมาได้ ชื่อเพลง “ผู้แพ้” ครับ ขับร้องโดยคุณ นริศ อารีย์ แต่งโดยท่าน โพธิรักษ์ แห่งสำนักสันติอโศก ตอนยังไม่ได้บวชเชียวนะเนี่ย
มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า “แพ้ไปทุกสิ่งอกเอ๋ย ไม่เหลืออันใดเลย ชะตาเอ๋ยช่างเลวทราม”
นี่ประเทศไทยเราจะแพ้ไปทุกสิ่งอกเอ๋ย–จริงๆ หรือเนี่ย…แพ้โควิด แพ้เศรษฐกิจ แล้วก็แพ้เด็กๆ “กาเหว่า” นั่นด้วย ปล่อยให้เขาป่วนเมืองกันอยู่ได้ทุกวัน–เฮ้อ!
“ซูม”