วันที่ 9 ก.ค. 64 พ.ญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงมติศบค.ชุดใหญ่อย่างเป็นทางการ โดยมีการประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 งดเดินทาง ห้ามออกจากบ้านในเวลาที่กำหนด ในช่วงเวลา 21.00-04.00 น.
โดยเริ่มมาตรการ 12 ก.ค. 2564 แต่จะมีการเริ่มตั้งด่านตรวจวันที่ 10 ก.ค. เป็นต้นไป
โดยที่ประชุมศบค.ล่าสุดจะใช้กับพื้นควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ไม่ได้รวมทั้งประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี นครปฐม นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา
โดยในส่วนของ 6 จังหวัด กทม. และปริมณฑล จะเน้นให้ทำงานที่บ้าน WFH ให้มากที่สุด ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ให้ปิด 20.00-04.00 น. ส่วนห้างฯให้เปิดเฉพาะซุปเปอร์มาเก็ต สถาบันการเงิน ฯ
นอกจากนี้ มติศบค.ยัง ต่ออายุพ.ร.ก.ฉกเฉินครั้งที่ 13 เพื่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับมติศบค. อย่างเป็นทางการในการประกาศเคอร์ฟิว มาตรการล็อกดาวน์ และการปฏิบัติในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีดังนี้
1. จำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด (เฉพาะกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล)
- กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนใช้การปฏิบัติงานในลักษณะ Work From Home ให้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ และการบริการประขาชน
- ระบบขนส่งสาธารณะ ปิดให้บริการในห้วงเวลา 21.00 น. ถึง 03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
- ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
- ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน ทั้งนี้เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารหรือสุราหรือเครื่องดื่มในร้าน โดยเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม
- สวนสาธารณะ สามารถเปิดให้บริการสำหรับการออกกำลังกายได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ห้ามการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณี ที่มีการรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
2. ห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็นและห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้นเว้นแต่มีความจำเป็นยิ่ง หรือได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี
3. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของ ศบค.ที่ได้มีประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้
4.กำกับดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (DMHTTA) อย่างสูงสุด
5. ให้เริ่มดำเนินการตามข้อ1-4 ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.64 เป็นต้นไป และให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ระดับสถานการณ์ต่างๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24, 25, 26) มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
6. ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด และชุดลาดตระเวน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค 64 เวลา 06.00 น.เป็นต้นไป
ทั้งนี้กรณีตรวจพบผู้ฝ่าฝืนให้บังคับใช้บทลงโทษตามแห่งพ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
ในช่วงหนึ่งของการประชุมนายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะไม่รับเงินเดือน 3 เดือน เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการแก้สถานการณ์ โควิด-19 ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับเงินเดือนนายกรัฐมนตรี เดือนละ 75,590 บาท + อัตราเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวมเป็น 125,590 บาท 3 เดือน รวมเป็นเงิน 376,770 บาท ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รายรับรวมเดือนละ 115,740 บาท รวม 3 เดือน 347,220 บาท