เผลอแผล็บเดียว…โปรแกรม “เที่ยวทิพย์” ย้อนอดีตความทรงจำของหัวหน้าทีมซอกแซก ที่โชคดีมีโอกาสเดินทางซอกแซกทั่วไทย
ทั้ง “ท่องเที่ยว” และ “ทำงาน” ครบทุกจังหวัด… จึงถือโอกาสช่วงโควิด–19 ระบาดเดินทางไปไหน ไม่ได้ รำลึกความหลังพร้อมจัดอันดับความประทับใจไล่เรียงกันมาจนถึงอันดับที่ 6 แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน…
สัปดาห์นี้มาต่ออันดับที่ 7 กันเลยครับ และก็อยู่ในกรุงเทพมหานครของเรานี่เอง ไม่ต้องเดินทางไกลให้เหนื่อยยากเหมือนจังหวัดอื่นๆ
นั่นก็คือ การไปนั่งเรือล่อง “แม่น้ำเจ้าพระยา” ช่วงไหลผ่านเมืองหลวงแห่งสยาม ก่อนไหลลงสู่อ่าวไทยนี่แหละครับ
ดังที่ทราบกันแล้วว่า แม่น้ำเจ้าพระยาถือกำเนิดจากแม่น้ำ 4 สาย ปิง–วัง–ยม–น่าน ที่ไหลมารวมกัน 2 ขยัก…ขยักแรก แม่น้ำปิงกับแม่น้ำวัง รวมกันที่ อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก กลายเป็นแม่น้ำปิงไหลล่องลงมาเรื่อยๆ ในขณะที่อีกซีกหนึ่งแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านก็ไหลรวมกันที่ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ กลายเป็น แม่น้ำน่าน จากนั้นก็ไหลมาเจอกับ แม่น้ำปิง ในขยักที่ 2 ที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ กลายเป็น แม่น้ำเจ้าพระยา
ไหลผ่านอำเภอช่วงล่างของนครสวรรค์ ผ่านอุทัยธานี ผ่านชัยนาท ผ่านสิงห์บุรี ผ่านอ่างทอง ผ่านพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี, นนทบุรี, กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ เป็นจังหวัดสุดท้าย รวมทั้งสิ้น 372 กิโลเมตร
หากจะกล่าวถึงความสวยความงามของแม่น้ำสายนี้คงต้องเริ่มต้นตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงมา เหตุเพราะจะเป็นจังหวัดที่ได้รับแรงหนุนจากน้ำทะเล ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้ลงมาจนถึงกรุงเทพฯ มีน้ำเต็ม 2 ฟากฝั่งตลอดทั้งปี ไม่เว้นแม้แต่ในฤดูแล้ง
หัวหน้าทีมซอกแซกเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกเมื่ออายุ 10 ปี โดยอาศัยมากับเรือเอี้ยมจุ๊น บรรทุกพืชผลของญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง จากปากน้ำโพ เพื่อจะไปส่งมอบต่อให้แก่พ่อค้าส่งออกที่ทรงวาด กรุงเทพฯ
ยังจำได้ว่า ขณะเดินทางเป็นช่วงปิดเทอมฤดูแล้ง ขบวนเรือโยงประมาณ 7-8 ลำ เห็นจะได้ ต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับถึง 10 วัน ล่อง 3 วันขึ้นอีก 7 วัน เพราะต้องเจอบริเวณตื้นเขินที่เป็นดอนทรายน้ำแห้ง ลูกเรือต้องลงไปช่วยกันเข็น ช่วยกันดันอยู่ตลอด ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมาถึงอ่างทอง
มาเข้าขบวนผูกโยงเรียงลำดับกันได้อย่างสวยงาม ก็ต่อเมื่อถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีน้ำเอ่อเกือบเต็มฝั่งนั่นแหละ
ยังจำได้เช่นกันว่า เมื่อขบวนเรือโยงผ่านจังหวัดนนทบุรี เข้าใกล้กรุงเทพฯ เข้าไปทุกขณะนั้น เด็กน้อยวัย 10 ปีอย่างหัวหน้าทีมซอกแซกถึงกับออกไปนั่งที่หัวเรือมองทิวทัศน์ 2 ฟากฝั่งด้วยความตื่นตะลึงในความสวยงามและความยิ่งใหญ่อลังการของสิ่งปลูกสร้างเท่าที่เห็นอยู่ในสายตาเบื้องหน้า
ตื่นเต้นกับตึกโดมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟบางกอกน้อย และโรงพยาบาลศิริราช ตื่นเต้นที่สุดเมื่อผ่าน ท่าราชวรดิฐ มองเห็นพระบรมมหาราชวัง และวัดพระแก้วตระหง่านอยู่ทางซ้าย ต่อมาก็เป็นพระปรางค์วัดอรุณฯ ด้านขวา และอีกหน่อยเดียวก็เป็น สะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งในยุคนั้นมีเพียงสะพานเดียวเท่านั้น ที่สร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมจังหวัดพระนครเข้ากับจังหวัดธนบุรี
พอขบวนเรือลอดผ่านสะพานพุทธก็มองเห็นท่านํ้าราชวงศ์ ทรงวาดอยู่ข้างหน้าเป็นอันถึงจุดหมายปลายทาง หลังจากเดินทางล่องมาถึง 3 วัน
นึกไม่ถึงว่าอีก 8 ปีต่อมา ตอนอายุ 18 ปี จะได้เดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง และคราวนี้มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนจะมาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลูกแม่โดม ริมฝั่งเจ้าพระยาที่เคยนั่งมองอย่างตื่นตะลึงช่วงนั่งเรือโยงเข้ากรุงในครั้งแรกนั่นเอง
ด้วยความผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่เล็กๆ กระมังครับ ที่ทำให้หัวหน้าทีมซอกแซกหลงใหลชื่นชม และจะมีความสุขทุกครั้งที่มีโอกาสนั่งเรือไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อเติบโตออกมาทำงานทำการเรียบร้อยแล้ว
ประกอบกับหัวหน้าทีมซอกแซกมีโอกาสเดินทางไปในหลายๆ ประเทศ และความที่เป็นคนชอบน้ำก็จะต้องหาเหตุลงเรือท่องลำน้ำสำคัญของประเทศต่างๆ อยู่เสมอเพื่อที่จะเปรียบเทียบกับแม่นํ้าเจ้าพระยาของเรา
แม้จะยอมรับว่าในบางประเทศเขายิ่งใหญ่สวยงามมากๆ เช่น ที่แม่น้ำฮัดสัน ในมหานครนิวยอร์ก, แม่น้ำหวงผู่ ที่เซี่ยงไฮ้, ปากอ่าวซิดนีย์ ที่ออสเตรเลีย, แม่น้ำเทมส์ ลอนดอน, ลำคลอง กลางอัมสเตอร์ดัม, ลำน้ำสุมิดะ ที่โตเกียว ฯลฯ
แต่ความยิ่งใหญ่ของเขานั้นก็ไม่สามารถที่จะทำให้หัวหน้าทีมลดความชื่นชมในแม่น้ำเจ้าพระยาสายเล็กๆ ของเราสายนี้แต่อย่างใด
เหตุผลสำคัญก็คือ ต่างฝ่ายต่างก็มีดีไปคนละอย่าง…ของเขามีดีที่ยิ่งใหญ่อลังการ แต่ของเรามีดีตรงที่จะเห็น “ศิลปะทันสมัย” จากสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ทันสมัยเป๊ะเหมือนกัน…เคียงคู่กับ “ศิลปะโบราณ” อันงดงามตระการ เช่น วัง เช่น วัดวาอาราม ฯลฯ ตั้งเรียงรายสลับกันไปอย่างตื่นตาตื่นใจ แบบหาที่ไหนไม่ได้ในโลกนี้
ด้วยเหตุนี้นักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางมาเมืองไทย ซึ่งมักจะมีโอกาสได้นั่งเรือล่องเจ้าพระยา กลางวันบ้างกลางคืนบ้าง สุดแต่จังหวะและเวลาที่บริษัททัวร์จัดให้…ต่างก็แสดงความชื่นชมในความสวยงามและบรรยากาศของเรา จนกลับไปกล่าวชม หรือเขียนถึงด้วยความประทับใจอยู่เสมอ
โควิด-19 ซาลงเมื่อไร และเปิดประเทศไทยได้เมื่อไร “ขบวนเรือล่องเจ้าพระยา” หนึ่งในจุดขายที่สำคัญของการท่องเที่ยวบ้านเราคงจะได้กลับมาทำหน้าที่อีกครั้งหนึ่ง
ก็ต้องลุ้นให้โควิด–19 ซาเร็วๆ “ลุงตู่” ท่านจะได้เปิดประเทศได้ใน 120 วัน จากนี้ไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้.
“ซูม”