ลาแล้ว สปอร์ตเรดิโอ “25 ปี” เคียงคู่วงการกีฬา

ผมได้รับแจ้งจากน้องๆ ที่เป็นผู้บริหารของบริษัทสยามอินเตอร์มัลติมีเดีย ซึ่งเป็นเจ้าของวิทยุกีฬา “สปอร์ต เรดิโอ” และออกอากาศที่คลื่น FM96 ของกรมการรักษาดินแดนกองทัพบกว่าทางบริษัทได้ตัดสินใจที่จะยุติการออกอากาศของคลื่นกีฬาแห่งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป เป็นการยุติด้วยความเข้าใจอันดี ซึ่งกันและกันทั้ง 2 ฝ่าย

“ทาง รด.เขาเข้าใจเราดี เพราะเราเช่าเวลาเขามานานมาก…เขารู้ว่าทุกวันนี้สื่อทุกแขนงยากลำบากกันหมด คนฟังน้อยลง เรตติ้งลดลงโฆษณาไม่เข้าตามเป้า ทำให้เราขาดทุนมาหลายปี…เขาก็กรุณาลดค่าเช่าให้อย่างเต็มที่ แต่เราไม่ไหวเองจำเป็นต้องยุติการออกอากาศเพียงเท่านี้”

ประโยคข้างต้นนี้ผมเรียบเรียงจากความทรงจำที่น้องๆ เล่ามาทางโทรศัพท์…อาจจะตกหล่นประเด็นปลีกย่อยไปบ้าง แต่สำหรับประเด็นที่เป็นสาระหลักนั้นน่าจะครบถ้วนทุกประการ

นั่นก็คือนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป จะไม่มีสปอร์ตเรดิโอ ออกอากาศทางคลื่นวิทยุอีกแล้ว

สำหรับผมเองฟังน้องพูดจบก็ไม่ประหลาดใจอะไรมาก เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งข่าวเศร้าๆ ที่น้องแจ้งให้ทราบข่าวนี้จะต้องเกิดขึ้น

ในยุค “สื่อสังคมออนไลน์” ครองโลกอย่างทุกวันนี้ “สื่อเก่า” ทุกประเภท ล้วนได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งหมด…

ขนาดในปีที่ภาวการณ์โลกและของประเทศเป็นปกติดี…สื่อเก่าอย่างเราก็ยากลำบากอยู่แล้ว พอเจอโควิด-19 กระหน่ำซ้ำอีกแรงเท่านั้นสถานการณ์ก็ทรุดฮวบลงไปอีกทันที

จึงไม่แปลกอะไรที่คลื่นวิทยุต่างๆ ซึ่งแม้ในยุคสื่อเก่าเฟื่องฟูก็เป็นได้แค่สื่ออันดับ 3 เท่านั้นคือ รองจากโทรทัศน์ รองจากหนังสือพิมพ์ จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ดังนั้นเมื่อน้องๆ แจ้งข่าวนี้มาผมจึงรับฟังด้วยอาการที่สงบนิ่ง ก่อนจะแสดงความเห็นใจ และให้กำลังใจเมื่อน้องๆ แจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมว่า บริษัทสยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จะยังยืนหยัดสู้ต่อไป

เพราะยังมีกิจการพิมพ์หนังสือเล่มต่างๆ ที่ยังไปได้ดีและมีกำไร เนื่องจากหนังสือที่บริษัทจัดพิมพ์และเป็นผู้นำตลาดอยู่ในขณะนี้ อันได้แก่ “นิยายกำลังภายใน” ต่างๆ นั้นยังไปได้ดีมาก

และที่ไปได้ดีที่สุดอย่างเหลือเชื่อกลายเป็น “การ์ตูนญี่ปุ่น” ที่เรียกว่า “มังงะ” นั่นแหละครับ พิมพ์เท่าไรก็ขายเกลี้ยงไม่เหลือ ซึ่งบริษัทจะเดินหน้าต่อไป ยอมแพ้โยนผ้าเฉพาะ “วิทยุ” เท่านั้นเอง

โดยส่วนตัวผมเองมีความผูกพันกับ “สปอร์ตเรดิโอ” อย่างมาก เพราะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นวิทยุแห่งนี้มาเกือบ 24 ปี เข้านี่แล้ว

ยังจำได้ดีว่าหลังจากผมตัดสินใจเกษียณตัวเองก่อนกำหนดจาก “สภาพัฒน์” เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2540 เพื่อมาเขียนหนังสือกับไทยรัฐเต็มตัว ได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น…คุณระวิ โหลทอง เจ้าพ่อสื่อกีฬาแห่งค่ายสยามสปอร์ต ก็โทร.มาเชิญชวนผม

แจ้งให้ทราบว่าคุณระวิ ซึ่งฝันจะจัดทำ “วิทยุกีฬา” ทั้งคลื่นสักคลื่นหนึ่งมาตลอดนั้น บัดนี้ฝันเป็นจริงแล้ว เพราะได้คลื่น FM99 จาก อสมท. มาบริหารตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ปี 2539

เมื่อทราบว่าผมลาออกจากราชการ (ปี 2540) มีเวลาว่างแล้วจึงอยากให้มาจัดวิทยุที่คลื่นนี้สักช่วงเวลาหนึ่ง

ประสาคนชอบกีฬา และมีคอลัมน์ “จ่าแฉ่ง” อยู่ในไทยรัฐอยู่แล้ว ผมตอบ โอเค แทบไม่ต้องคิดอะไรและตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ซึ่งตรงกับวันแรงงานแห่งชาติของปีดังกล่าว ผมก็ไปออกรายการสดครั้งแรกกับสปอร์ตเรดิโอ ที่ห้องส่ง ซึ่งเป็นห้องแถวห้องหนึ่งที่คลองเตย

จากนั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของ สปอร์ตเรดิโอ ในช่วง 8 โมงมาจนถึงทุกวันนี้

นึกถึงภาษิตกำลังภายในที่ว่า “คลื่นลูกใหม่ไล่คลื่นลูกเก่า” เทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบันก็คือ “สื่อใหม่ไล่สื่อเก่า” ยังไงยังงั้น

สำหรับสื่อเก่าอายุ 80 ปี อย่างผมไม่มีอะไรจะเสียใจครับ เพราะลูกเต้าเติบโตเป็นฝั่งเป็นฝาหมดแล้วไม่มีอะไรต้องห่วง

ห่วงแต่น้องๆ สื่อเก่าอายุ 30-40-50 ปี ที่กำลังสร้างครอบครัวที่จะต้องเผชิญชะตากรรมกันต่อไปเท่านั้นเอง

สู้ สู้ สู้ ตายนะน้องๆ หลานๆ…ลุง “จ่าแฉ่ง” คนตกรุ่นเหมือนกันก็คงจะให้กำลังใจได้เพียงเท่านี้แหละน้องเอ้ย! หลานเอ๊ย!

“ซูม”

สปอร์ตเรดิโอ, วิทยุ, กีฬา, สื่อ, สื่อออนไลน์, ซูมซอกแซก