จบเรื่องราวของธุรกิจ “เรือจ้างข้ามฟาก” เมื่อ 100 ปีก่อน ซึ่งเติบใหญ่มาเป็นเรือโดยสารข้ามฟาก เรือด่วนเจ้าพระยา เรือท่องเที่ยวเจ้าพระยา และ ฯลฯ ของบริษัท สุภัทรา จำกัด ไปเรียบร้อยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สัปดาห์นี้เรามาต่อกันที่ 100 ปีของอีกหนึ่งบริษัทที่เติบโตมาอย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน ได้แก่ “กลุ่มสิทธิผล” หรือ บริษัทสิทธิผล 1919 จำกัด ซึ่งถือกำเนิดมาจากร้านรับจ้างปะยางเล็กๆ ใต้ต้นโพธิ์ใน ย่านตลาดน้อย ได้ค่าจ้างแค่เลี้ยงครอบครัวแบบวันต่อวันมาเป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอะไหล่ยานยนต์, ยางรถจักรยานยนต์, ผลิต ภัณฑ์ไฟส่องสว่างและ ฯลฯ รวมมูลค่าธุรกิจถึงกว่า 6 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน
เป็นอีกหนึ่งตำนานของการก่อร่างสร้างตัวของหนุ่มจีนอพยพผู้มาพร้อมกับ “เสื่อผืนหมอนใบ” ที่ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงในผืนแผ่นดินไทย พร้อมกับส่งต่อความสำเร็จมาถึงรุ่นที่ 3 ได้อย่างมั่นคง และน่าจะยืนยาวไปสู่อนาคตอันยาวไกลข้างหน้า จากการวางรากฐานอย่างมีวิสัยทัศน์ของผู้นำรุ่นนี้
แม้ทีมงานซอกแซกจะรู้สึกตื่นเต้นและประทับใจในความสำเร็จของ “กลุ่มสิทธิผล” ที่ก้าวหน้ามาตามลำดับในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา แต่จุดอ่อนของข้อเขียนซอกแซกชุดนี้ก็คือ การขาดข้อมูลรายละเอียดและเกร็ดต่างๆ ของการต่อสู้ดิ้นรนในช่วงแรกๆ เพราะมิได้มีการบันทึกไว้ทั้งข้อเขียนและภาพเหมือนของกลุ่ม บริษัท สุภัทรา จำกัด ที่จัดทำเป็นหนังสือเอาไว้ถึง 236 หน้า ดังที่ทีมงานใช้อ้างอิงตั้งแต่ต้นจนจบ
หลายๆ ประเด็นทีมงานซอกแซกต้องอาศัยการตีความและการเปรียบเทียบกับความทรงจำในอดีต รวมทั้งการค้นคว้าเพิ่มเติมจากสื่อออนไลน์อื่นๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึง “ความยิ่งใหญ่” ในบางประเด็นที่ผู้ก่อตั้ง “กลุ่มสิทธิผล” ได้ดำเนินการมาในอดีตกาล
ในเอกสารที่จัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง 72 ปีของกลุ่ม เมื่อ 28 ปีที่แล้ว เอ่ยถึงความเป็นมาตอนหนึ่งว่า
“บริษัท สิทธิผล 1919 จำกัด ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2462 เดิมใช้ชื่อว่า “ห้างเซ่งง่วนฮง” โดยมีคุณ กนก และคุณโสภา ลี้อิสสระนุกูล เป็นผู้บุกเบิกในเบื้องต้น”
“คุณ กนก เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มอาชีพครั้งแรกด้วยการ ปะยาง และซ่อมรถจักรยาน บริเวณใต้ต้นโพธิ์ย่าน ตลาดน้อย ด้วย ความ วิริยะอุตสาหะ และความมัธยัสถ์ ต่อมาจึงสามารถเซ้งห้องแถว และดำเนินธุรกิจด้านการจำหน่ายรถจักรยานโดยได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้แทนจำหน่ายรถจักรยาน ราเล่ห์ ที่มีชื่อเสียงของประเทศอังกฤษ”
สำหรับคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักรถจักรยาน “ราเล่ห์” และนึกไม่ออกว่าจักรยานยี่ห้อนี้มีความสำคัญอย่างไรกับสังคมไทย? รวมถึงมีความยิ่งใหญ่แค่ไหน?
แต่สำหรับคนรุ่นเก่าอย่างหัวหน้าทีมซอกแซกบอกได้เลยว่า นี่คือจักรยานที่เท่ที่สุด ทันสมัยที่สุด เฟี้ยวที่สุดในยุคก่อน พ.ศ.2500…
ราเล่ห์ มาจากภาษาอังกฤษ Raleigh การเขียนโดยใช้ ห.หีบ การันต์ห้อยท้าย จึงน่าจะถูกต้อง แต่ก็มีคนไทยจำนวนมากเขียนว่า “ราเล่ย์” โดยใช้ ย.ยักษ์การันต์ และก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนทำให้จักรยานอังกฤษยี่ห้อนี้มีชื่อเรียกขานในภาษาไทยว่า “ราเล่ห์” และ ราเล่ย์ ควบคู่กันไป
โรงงานผลิตจักรยานราเล่ห์ ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2431 ที่นอตติงแฮม ประเทศอังกฤษ จากโรงงานเล็กๆ ผลิตได้แค่ 3 คันต่อสัปดาห์ ค่อยๆ ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น
ในปี พ.ศ.2439 ราเล่ห์ กลายเป็นโรงงานผลิตจักรยานใหญ่ที่สุดในโลก มีเนื้อที่เกือบ 19 ไร่ มีคนงาน 850 คน และสามารถผลิตจักรยานได้ถึง 30,000 คันต่อปี
ต่อมา พ.ศ.2457 ผลิตได้มากกว่า 50,000 คันต่อปี แต่ในปีเดียวกันนั้นก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 โรงงานราเล่ห์จำเป็นต้องหยุดการผลิตจักรยานเพื่อไปร่วมผลิตยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพอังกฤษ จนถึงปี 2461 สงครามโลก ครั้งที่ 1 ยุติลง จึงหันมาผลิตจักรยานอีกครั้ง
ตัดภาพกลับมาสู่ประเทศไทยปี 2461 เป็นปีที่หนุ่มพเนจรจากเมืองจีนที่ชื่อ กนก ลี้อิสสระนุกูล เริ่มเก็บหอมรอมริบเงินจากการรับจ้างปะยางจักรยาน และซ่อมจักรยานที่ใต้ต้นโพธิ์ใน ตลาดน้อย ได้ก้อนหนึ่งแล้ว พร้อมที่จะเซ้งห้องแถวที่ตลาดน้อยเพื่อเปิดดำเนินธุรกิจปะยาง และซ่อมจักรยาน รวมทั้งจำหน่ายจักรยานด้วย แบบครบวงจร
อีก 1 ปีต่อมา หรือ พ.ศ.2462 กนก ลี้อิสสระนุกูล ก็บรรลุความฝันของเขาด้วยการเซ้งตึกเปิดร้าน “เซ่งง่วนฮง” ขึ้นที่ตลาดน้อยที่บริเวณ ใกล้ๆ กับต้นโพธิ์ที่เขาเคยรับจ้างปะยางนั่นเอง
เสียดายที่ในช่วงสัมภาษณ์ทายาทรุ่นปัจจุบันของบริษัทสิทธิผล 1919 ลืมถามไปว่า คุณปู่ของพวกเขา นำเข้าจักรยานราเล่ห์อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.ใด แม้จะพยายามค้นหลายแห่งหลายที่ก็ไม่พบหลักฐานในประเด็นนี้
แต่เท่าที่หัวหน้าทีมซอกแซกจำความได้ ตอนอายุ 10 ขวบ หรือ พ.ศ.2494 เริ่มอ่านหนังสือออกแล้ว เคยอ่านโฆษณาในหนังสือพิมพ์ที่ร้านกาแฟข้างบ้านพบว่า ห้างสิทธิผล (เซ่งง่วนฮง) ตลาดน้อย จังหวัดพระนคร ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า เป็น ตัวแทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวในประเทศไทย
เหตุที่จำได้ถึงขนาดนั้นก็เพราะ “ราเล่ห์” คือจักรยานในฝันที่เด็ก 10 ขวบ ของจังหวัดนครสวรรค์ ในวันโน้นที่เติบโตมาเป็นหัวหน้าทีม ซอกแซกวันนี้ อยากได้และอยากขี่มากที่สุด
ยังจำได้เช่นกันว่า เมื่อวันที่มีจักรยานเป็นของตัวเองคันแรก ตอนมาเรียนหนังสือที่ปากน้ำโพ ต้องพบกับความผิดหวังพอสมควร เมื่อพ่อซื้อจักรยาน “ฮัมเบอร์” คู่แข่งให้ แทนที่จะเป็น ราเล่ห์ ที่เราใฝ่ฝัน
พ่อบอกว่า “ฮัมเบอร์” ถูกกว่าหน่อย แต่ก็แข็งแรงดี เองขี่ฮัมเบอร์ไปก่อนก็แล้วกันพ่อมีงบประมาณแค่นี้เอง
แม้จะไม่มีวาสนาได้เป็นเจ้าของราเล่ห์ แต่หัวหน้าทีมซอกแซกก็เคยยืมเพื่อนๆ ขี่และยังจดจำความยิ่งใหญ่ของจักรยานยี่ห้อนี้มาได้จนถึงทุกวันนี้.
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
“ซูม”