เปิดไทม์ไลน์หญิงไทยติดโควิด 2 ราย แพทย์ยันเป็นซากเชื้อ

หลังจาก 85 วันที่ประเทศไทยไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศ แต่เมื่อวาน (วันที่ 19 ส.ค. 2563) กลับพบหญิงไทย 2 รายตรวจพบเชื้อโควิด-19 หลังจากเข้ากักตัวครบ 14 วันและเดินทางกลับภูมิลำเนาไปแล้ว กระทรวงสาธารณสุขตั้งโต๊ะแถลงด่วนช่วงค่ำวานนี้ เพื่อคลายความตระหนกของประชาชนพร้อมกับยืนยันว่าโอกาสเป็นการระบาดในประเทศรอบสองน้อยมาก เพราะเป็นซากเชื้อ

รายแรก เป็นเพศหญิง อายุ 34 ปี เคยทำงานที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางกลับมาไทยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ไม่มีอาการ เข้ากักตัวที่สถานกักกันที่ราชการกำหนด 2 สัปดาห์ ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 1 วันที่ 5 มิ.ย. ตรวจพบสารพันธุกรรมปริมาณน้อย สรุปผลการตรวจหาเชื้อกำกวม (Inconclusive result) และตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 13 มิ.ย. ผลไม่พบเชื้อ เมื่อกักกันครบ 2 สัปดาห์ ได้รับอนุญาตเดินทางกลับภูมิลำเนา จังหวัดชัยภูมิ และพักแยกตัวจนครบ 30 วัน ต่อมาในวันที่ 17 ส.ค. เตรียมตัวเดินทางต่างประเทศ จึงได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ที่ รพ.รามาธิบดี ผลการตรวจวันที่ 18 ส.ค. พบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ในปริมาณน้อย และเจาะเลือดตรวจพบภูมิคุ้มกัน ขณะนี้แพทย์รับไว้ดูแลในโรงพยาบาล จึงสรุปว่าเป็นผู้ติดเชื้อรายเดิมที่พบซากเชื้อและเคยอยู่ในสถานที่กักกันจนครบกำหนดแล้ว

รายที่ 2 เป็นเพศหญิง อายุ 35 ปี เคยทำงานที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางกลับไทยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. เข้ากักตัวที่สถานกักกันที่ราชการกำหนดนาน 2 สัปดาห์ ทำการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ไม่พบเชื้อ จึงได้รับอนุญาตเดินทางกลับภูมิลำเนา จังหวัดเลย จากนั้นวันที่ 16 ส.ค. เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยรถยนต์ส่วนตัว เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และในวันที่ 18 ส.ค. ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบสารพันธุกรรม ขณะนี้ ทางรพ.รามาธิบดี ได้ติดตามนำตัวมาไว้ดูแลที่โรงพยาบาลแล้ว

ล่าสุดกรมควบคุมโรคได้ประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่ผู้อยู่ใกล้ชิดในครอบครัวและชุมชน ทำการสอบสวนเบื้องต้นเพื่อให้ได้ประวัติเสี่ยงให้คำแนะนำให้เฝ้าระวังอาการ ปฏิบัติตัวป้องกันโรค ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การพบเชื้อโควิด-19 ในผู้ที่พ้นการกักกันโรคแล้ว 14 วัน มีความเป็นไปได้ดังนี้

1. ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่จะเป็น 2-7 วัน อาจพบได้ถึง 14 วัน และอาจจะเป็นไปได้น้อยมากถึง 21 วัน ดังนั้น ในทางปฏิบัติผู้ที่พ้นระยะการกักกันโรคและ 14 วัน มักจะแนะนำให้ไปกักกันที่บ้านต่ออีก 14 วัน เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกัน การกระจายโรค

2. การตรวจพบเชื้อหลังจาก 14 วันไปแล้ว ก็เป็นไปได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในช่วง 14 วัน ที่อยู่ในสถานที่กักกัน เช่น ในเรือสำราญ ดังนั้นในสถานที่กักกัน จึงเคร่งครัด ไม่ให้มีการพบปะกัน ระหว่างผู้ที่กักกันด้วยกัน หรือบุคคลภายนอก

3. ผู้ป่วยนั้นมาติดเชื้อในประเทศไทย โอกาสนี้เป็นไปได้น้อยมาก ขณะนี้ไม่พบการติดต่อเกิดขึ้นในประเทศไทยมากว่า 80 วันแล้ว

4. มีความเป็นไปได้ที่ผู้นั้นติดเชื้อมาจากต่างประเทศ หรือป่วยอยู่ต่างประเทศแล้ว และเมื่อมาถึงเมืองไทย เชื้อมีปริมาณน้อย ในบางช่วงก็ตรวจไม่พบ และต่อมา หรือบางช่วง ก็ตรวจพบ อย่างเช่นการระบาดในรอบแรกของไทย ไทยได้ทำการศึกษาร่วมกับสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย กทม. พบว่า ก่อนกลับจากโรงพยาบาลตรวจไม่พบเชื้อแล้ว หลังจากนั้นติดตามก็ยังมีการพบเชื้อ แต่เชื้อมีปริมาณน้อยมาก

ในการติดตามระยะยาวที่ทำการศึกษา จำนวน 212 คน พบว่าในช่วง 4-12 สัปดาห์ หลังจากที่มีอาการ และผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว ก็ยังตรวจพบเชื้อได้ประมาณร้อยละ 6.6 ของผู้ป่วย เผยแพร่ในวารสาร https://www.biorxiv.org/…/10.1…/2020.07.17.208439v1.full.pdf

อ้างอิง : workpointtoday.com

เชื้อโควิด-19, หญิงไทยติดโควิด, ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ, ซูมซอกแซก