ความหลังกับ “บิดา อสม.” คุณหมอ…“อมร นนทสุต”

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมพาดหัวคอลัมน์ของผมไว้ว่า “อาลัยผู้ให้กำเนิด อสม.” พร้อมกับเขียนแสดงความอาลัยต่อการจากไปของอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข คุณหมออมร นนทสุต เอาไว้สั้นๆ ประมาณ 2 ย่อหน้า

เหตุเพราะเพิ่งได้รับข่าวในขณะที่เตรียมต้นฉบับอย่างอื่นไว้แล้ว จึงเขียนพอให้ทราบไว้ก่อนเท่านั้น

วันนี้ขออนุญาตเขียนถึงอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข คุณหมอ อมร นนทสุต ทั้งคอลัมน์เลยนะครับ

ถ้าจะว่าไปแล้วผมเคยเขียนถึงท่านไว้ละเอียดพอสมควรเมื่อประมาณกลางเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ อสม. หรือ ผู้สื่อข่าวสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กำลังโด่งดังเพราะได้รับคำชมจาก WHO ว่าเป็นกำลังสำคัญยิ่งในการช่วยป้องกันมิให้โควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงในประเทศเรา

ผมก็หยิบเรื่องราวของ อสม.มาขยายความว่ามีหน้าที่อะไร? ทำงาน อยู่ที่ไหน? ใครเป็นผู้ให้กำเนิด? ซึ่งก็ลงท้ายด้วยการกล่าวถึงคุณหมอ อมร นนทสุต ผู้ที่มาประสานงานกับ สภาพัฒน์ ในการจัดทำแผนพัฒนาฉบับที่ 4 พ.ศ.2520-2524 เพื่อขอจัดทำโครงการสาธารณสุขมูลฐานในชนบทไทยทั่วประเทศ และจัดให้มี อสม. ขึ้นในทุกจังหวัด

ต่อมาในแผนพัฒนาฉบับที่ 5 พ.ศ.2525-2529 ในยุคป๋าเปรมเป็นนายกฯ ท่านสนใจเรื่องการ พัฒนาชนบท จัดตั้ง คณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ ขึ้น โดยตัวป๋ามาเป็นประธานด้วยตนเอง

กระทรวงสาธารณสุขถือเป็น 1 ในกระทรวงหลักของการแก้ปัญหาหลักในชนบทยุคนั้นรวม 3 ปัญหา ได้แก่ “ยากจน เจ็บไข้และไม่รู้” ซึ่งต่อมามีผู้เสนอว่า ภาษาของสภาพัฒน์เข้าใจยาก ขอแก้ใหม่และเรียง ลำดับใหม่เป็น “โง่ จน เจ็บ” กลายเป็นสโลแกนโด่งดังอยู่หลายปี

เรื่อง “เจ็บ” หรือเจ็บไข้ได้ป่วยนี่เอง ที่เป็นหน้าที่หลักของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้มีการวางโครงข่ายไว้ตั้งแต่แผน 4 แล้วอย่างที่ว่า…ดังนั้น เมื่อ สภาพัฒน์ นำนโยบายพัฒนาชนบทของป๋าเปรมมาใช้ ก็ได้อาศัยกลไกและโครงข่ายของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาการเจ็บไข้ในชนบททั่วประเทศอย่างค่อนข้างได้ผล

สำหรับคุณหมออมรนั้น ผมทำงานกับท่านตั้งแต่ท่านยังเป็นอธิบดีกรมอนามัย จนกระทั่งท่านได้ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังได้ประสานงานกับท่านอีกหลายปี

เมื่อคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติมีนโยบายให้สร้างโรงพยาบาลอำเภอให้ครบทุกอำเภอ ซึ่งใน พ.ศ.นั้นขาดอยู่ 200 กว่าอำเภอ ท่านก็รับไปดำเนินการจนแล้วเสร็จ

คณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติมองว่า ปัญหาโรค ขาดสารอาหารของเด็ก ในชนบทเป็นเรื่องใหญ่ จัดโครงการและงบประมาณลงไปให้…ท่านก็รับไปดำเนินงานร่วมกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขของท่าน จนกล่าวได้ว่าโรคขาดสารอาหารของเด็กๆ ในชนบทแทบจะไม่มี หรือเหลือน้อยมากภายในไม่กี่ปีผ่านมา

อยู่มาวันหนึ่งท่านปลัดอมรก็เสนอว่าควรจะได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับ ความจำเป็นพื้นฐานของประชาชนในชนบทที่เรียกว่า จปฐ. ขึ้น เราจะได้ รู้ว่าในบรรดาความจำเป็นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีพึงได้ทั้งหลายนั้น พี่น้องชาวชนบทอยู่ในระดับไหน? อย่างไร?

พวกเราฝ่ายเลขานุการก็นำเรื่องเสนอคณะกรรมการอนุมัติให้จัดทำข้อมูล จปฐ. ควบคู่ไปกับข้อมูลเศรษฐกิจสังคมระดับหมู่บ้านที่เรียกว่า กชช. 2 ค ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาชนบทริเริ่มขึ้น และมอบหมายให้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ดำเนินการ

เท่าที่ผมติดตามข่าวคราวมาตลอด ทราบว่ายังมีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ขออนุญาตนำผลงานบางส่วนของอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข อมร นนทสุต มาเล่าสู่กันฟังเป็นการเพิ่มเติมในวันนี้เพื่อเป็นการยืนยันว่าท่านมิใช่เป็นเพียงผู้ให้กำเนิด “อสม.” จนมีการขนานนามว่า ท่านคือ “บิดาของ อสม.” เท่านั้น

แท้ที่จริงท่านยังมีส่วนสำคัญในการช่วยรัฐบาลไทยในอดีตแก้ปัญหาความ “เจ็บไข้” ในชนบทไทยอย่างได้ผลอีกด้วย

ขอกราบขอบพระคุณคุณหมอ “อมร นนทสุต” แทนพี่น้องชนบทไทยไว้ ณ ที่นี้…และขอให้คุณงามความดีทั้งหลายที่ท่านบำเพ็ญไว้แก่ประเทศชาติอันอเนกอนันต์ จงดลบันดาลให้ท่านประสบแต่ ความสุข ความสงบ ณ สัมปรายภพไปตราบกาลนาน.

“ซูม”