หน้าข่าวเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวพาดหัวเหมือนๆ กัน ในหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ว่า “ไตรมาสแรก ปตท. ขาดทุน 1,500 ล้านบาท”
พร้อมกับลงรูปประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประกอบข่าวเอาไว้ด้วย
ผมเข้าใจว่าเนื้อหาของข่าวที่นำมาลงนั้น ซีอีโอชาญศิลป์คงไม่ได้แถลงด้วยตนเอง แต่เป็นสาระสำคัญที่สรุปมาจากรายงานผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ท่านลงนามส่งไปแจ้งแก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่นเอง
ท่านจะส่งไปวันไหน ข่าวไม่ได้บอกไว้แต่เมื่อนำมาลงตีพิมพ์ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 เช่นนี้ จึงเท่ากับว่า ท่านซีอีโอชาญศิลป์ท่านทำหน้าที่ แม้ในวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งเลยทีเดียว
เนื่องจากท่านจะมีอายุครบ 60 ปีพอดี ในวันที่ 13 พฤษภาคม และต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีโดยไม่ต้องรอไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ หรือสิ้นเดือนกันยายน ดังเช่นพนักงานของ ปตท.ตำแหน่งอื่นๆ
ถือว่าเป็นการทำหน้าที่วันสุดท้ายที่ออกจะเศร้าๆ หน่อย เพราะต้องบอกกับตลาดหลักทรัพย์และผู้ถือหุ้นทั้งหลายว่า…3 เดือนแรกของปีนี้ ปตท.ขาดทุนเทียบกับ 3 เดือนแรกของปีที่แล้ว ที่ท่านนี่แหละลงนามแจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่ามีกำไรสุทธิถึง 29,312 ล้านบาท
ท่านได้แจงสาเหตุของการขาดทุนเอาไว้ด้วยว่าเป็นเพราะการแพร่ระบาดไปทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจการทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ประกอบกับกลุ่มโอเปกและพันธมิตรไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตอีกด้วย ส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานนํ้ามันล้นตลาดในขณะที่อุปสงค์ก็ลดลง
ราคาน้ำมันจึงลดจาก 67.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงต้นไตรมาสมาอยู่ที่ 23.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงสิ้นไตรมาส ทำให้กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีผลประกอบการขาดทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ในตอนท้ายท่านย้ำกับตลาดหลักทรัพย์ว่า ปตท.จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และรักษาความแข็งแกร่งของกลุ่มตามแนวทาง 2 Rs อันได้แก่ Resilienc และ Restart รวมทั้งจะใช้มาตรการ ลด-ละ-เลื่อน อาทิ ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น เลื่อนการลงทุนที่ไม่เร่งรัดออกไปก่อน ฯลฯ
อันจะเป็นผลทำให้ ปตท.สามารถรับมือกับสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ครับ! พอทิ้งท้ายปัจฉิมลิขิตเสร็จสรรพ ท่านก็ส่งไม้ต่อให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ท่านใหม่ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รับหน้าที่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามผลการดำเนินงานของ ปตท.มาตั้งแต่ต้นก็เห็นว่าองค์กรนี้มีวัฒนธรรมที่ดีงามอยู่อย่างหนึ่งคือ ในการคัดเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดก็ดี หรือตำแหน่งสำคัญๆ ต่างๆ ก็ดี ได้ยึดหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสมาโดยตลอด
ทำให้สามารถเลือกคนดีมีฝีมือมาทำงานให้ ปตท.ได้โดยไม่ขาดตอน รวมทั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่จะมารับตำแหน่งแทนคนเก่าท่านนี้ก็เป็นลูกหม้อที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง อยู่กับ ปตท.มาถึง 30 ปี
แม้สถานการณ์เศรษฐกิจของโลก รวมไปถึงสถานการณ์ด้านพลังงานของโลกจะมีปัญหาค่อนข้างหนักดังที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว
แต่ผมก็ยังมั่นใจว่า ปตท.จะสามารถฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้อีกครั้ง เหมือนกับที่เคยฝ่ามาหลายครั้งในอดีตจนสามารถก้าวมายืนหยัดอย่างโดดเด่น ณ จุดนี้
สำหรับอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ที่ก้าวลงจากตำแหน่งเรียบร้อยแล้วนั้น ผมขอเรียนว่าแอบเอาใจช่วยอยู่ตลอดเวลา 18 เดือนเต็มๆ ที่ดำรงตำแหน่ง…ในฐานะที่ท่านเป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์รุ่นน้องผม
นานๆ จะมีนักเศรษฐศาสตร์มาเป็นหมายเลข 1 ของ ปตท.สักทีอาจจะเป็นคนแรกและคนสุดท้ายก็ได้ จะไม่ให้ผมเอาใจช่วยได้ยังไงล่ะ
ก็ดีใจครับ ที่ผลงานโดยรวมของท่านสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ค่อนข้างสูงขององค์กรนี้ไปได้…แต่ที่ต้องมาขาดทุนตอนท้ายเนี่ย ช่วยไม่ได้เลยจริงๆ เพราะไม่ว่าใครบริหารก็ต้องขาดทุนทั้งนั้นแหละ
ขอให้ใช้ชีวิตหลังเกษียณ (อายุ 60 ปี สมัยนี้ถือว่าหนุ่มมาก) ให้มีความสุขนะครับ.
“ซูม”