“พัง” เพราะ “ผู้นำ” บทเรียนลํ้าค่าจากบราซิล

ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา และใน 5 ประเทศชั้นนำของยุโรปเริ่มจะมีอาการดีขึ้น ทั้งผู้ติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิต เริ่มทรงตัว หรือค่อยๆ ลดลงจนบางประเทศ เช่น เยอรมนี จะกลับมา เตะฟุตบอลกันได้อีกครั้งหนึ่งแล้วนั้น

ก็ปรากฏว่า อีก 2 ประเทศที่ค่อยๆ มาทีหลัง แต่สามารถแซงขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ รัสเซีย ดินแดนหมีขาว และ บราซิล ดินแดนนักเตะเมืองกาแฟที่เราคุ้นเคยอย่างดียิ่ง

รัสเซียจู่ๆ ก็ติดเชื้อใหม่วันละหมื่นกว่าคน 6-7 วันซ้อน แซงพรวดมาจากอันดับล่างๆ เข้ามาเฉียดอันดับ 10 และแล้วก็กระโดดขึ้นเป็นอันดับ 5 ของโลก มียอดผู้ติดเชื้อรวมประมาณ 180,000 ราย ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับ แต่ยังดีที่ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 1,625 ราย ถือว่ายังไม่มากจนเกินไป

ในขณะที่ บราซิล นั้น แรกๆ ก็ไม่เท่าไรนัก เริ่มมาพรวดช่วงกลางเมษายนเป็นต้นมา แล้วก็พรวดขึ้นเรื่อยๆ วันละ 5,000 บ้าง 6,000 บ้าง ในที่สุดก็ขึ้นมาอยู่อันดับ 8 ของโลก มียอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด 140,000 เศษๆ และยอดเสียชีวิตค่อนข้างสูง ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่ที่ 9,700 คาดว่า เมื่อต้นฉบับลงตีพิมพ์ น่าจะเกิน 10,000 แน่นอน

ข่าวคราวการเสียชีวิตของบราซิลจากโควิด-19 อ่านแล้วน่าเวทนามาก เพราะล้มตายกันเป็นเบือจนต้องนำไปฝังแบบหมู่ เพราะบางเมือง พื้นที่ฝังไม่พอเพียง ส่วนหีบศพก็ต้องใช้ไม้อัด เพราะไม่สามารถทำได้ทัน

เท่าที่ผมติดตามข่าวของทั้ง 2 ประเทศ รู้สึกเห็นใจท่านปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งแม้ในตอนแรกชะล่าใจไปหน่อย แต่เมื่อเริ่มตระหนักก็หันมาสู้เต็มที่ จนกระทั่งเกิดโป๊ะแตกในช่วง 6-7 วันหลัง

ยังดีอยู่บ้างยอดผู้เสียชีวิตยังไม่มากนัก ส่วนหนึ่งอาจเพราะผู้ติดเชื้อ รัสเซียแข็งแรงจึงรอด หรือเป็นเพราะการแพทย์ของเขาเข้มแข็ง จึงเสียชีวิตน้อย คงจะได้ติดตามหาเหตุผลกันต่อไป

ที่น่าสนใจและน่าสงสารประชาชนอย่างยิ่งก็เห็นจะเป็น บราซิล นั่นแหละครับ เพราะสาเหตุที่ติดเชื้อมากและตายเป็นเบือขณะนี้ เป็นเพราะ ความดื้อรั้น ขวางโลกของประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนาโร โดยแท้

ท่านมีความเชื่อคล้ายๆ ผู้นำเบลารุสที่มองว่าโควิด-19 เป็นเรื่อง เล็ก อย่ากลัวขึ้นสมอง อย่าไปเชื่อสื่อมวลชน เศรษฐกิจสำคัญกว่า มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งไม่ลงรอยกับรัฐมนตรีสาธารณสุขตลอดเวลา

เพราะไม่ว่า รมว.สาธารณสุขที่ไหนก็เหมือน หมอหนู ของเรานี่แหละที่จะต้องเชื่อฟัง “คณะหมอ” และเสนอให้ล็อกดาวน์ประเทศ

ท่านประธานาธิบดีขู่จะปลดรัฐมนตรี หลุยส์ เอ็นริเก แมนเดตา อยู่หลายหน และในที่สุดก็ปลดจริงๆ เมื่อวันที่ 16 เมษายน แล้วก็ตั้งคุณ เนลสัน เทช ซึ่งมีนโยบายกร้าวน้อยกว่ามาเป็นแทน

ณ วันที่คุณ หลุยส์ เอ็นริเก แมนเดตา ถูกปลดนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อ สะสมอยู่ที่ 25,262 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1,532 ราย

พอท่านรัฐมนตรีสาธารณสุขใหม่มารับตำแหน่ง ก็คลายล็อกทันทีตั้งแต่ 20 เมษายนเป็นต้นมา

จากนั้นสถิติผู้ติดเชื้อของบราซิลก็ดูเหมือนจะวิ่งจู๊ดขึ้นเรื่อยๆ และ ยอดติดเชื้อเริ่มผ่าน 5 หมื่นคน ในวันที่ 24 เมษายน แถมแซง จีน (ซึ่งหยุดแล้ว แต่บราซิลยังไม่หยุด) เมื่อวันที่ 30 เมษายน

วันที่ 3 พฤษภาคม (ตรงกับบ้านเราคลายล็อก) ยอดติดเชื้อสะสมบราซิลทะลุ 100,000 ราย เป็นครั้งแรก หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว (จาก 50,000) เพียงแค่ 10 วัน

วันที่ 7 พฤษภาคม หลายๆ รัฐทางด้านเหนือ เริ่มต้นการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ และอีกหลายๆ รัฐตัดสินใจจะทำตาม

รายงานที่ผมอ่านจบเพียงแค่นี้ และไม่ได้มีการวิเคราะห์อะไรทั้งสิ้น ผมก็เลยถือโอกาสวิเคราะห์ของผมเอง

นี่ถ้าประธานาธิบดีไม่ดื้อรั้นและเชื่อฟังท่าน รมว.สาธารณสุขคนแรก คือเข้มไปเรื่อยๆ สถานการณ์คงไม่หนักหนาสาหัสเท่านี้ และยอดเสียชีวิตก็คงไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้

หวังว่าของบ้านเราหลังคลายล็อกแล้วคงไม่เหมือนเขา เพราะเราคลายอย่างมีเหตุมีผล ปรึกษาคุณหมอทุกขั้นตอน

ก็ต้องขอบคุณผู้นำไทยที่ไม่ดื้อรั้น ไม่อวดดีเหมือนผู้นำบราซิล (และผู้นำสหรัฐฯ ที่ชื่อนายทรัมป์ด้วย)

อย่างของบราซิลหนักข้อถึงขั้นปลด รมว.สาธารณสุขเลย…แล้วไง? ตอนนี้เลยหนักกว่าเก่า เศรษฐกิจก็พยุงไม่ได้ คนก็จะตายเป็นเบือ

ในฐานะแฟนบอลบราซิล บอกตรงๆ ว่าสงสารพี่น้องชาวบราซิลครับ.

“ซูม”