รีวิว…1917 งานสร้างสรรค์บนเส้นเรื่องความสูญเสีย 9/10

“…สนามรบที่งามตรึงใจ…”

นี่คือความรู้สึกแรกของเราที่ผุดขึ้นมาเมื่อนึกถึง “1917” ภาพยนตร์ที่สร้างพื้นที่ใหม่ของการนำเสนอเรื่องราวบนแผ่นฟิล์มสำหรับเราในยุค 2020 เพราะความงามที่เรารู้สึกนั้น ไม่ได้ก่อเกิดจากความละเมียดละไม ระบำรำฟ้อน ดนตรีโหมกระหน่ำยิ่งใหญ่ ไม่ได้สวยงามด้วยสีสัน ไม่ได้สวยงามด้วยหน้าตานักแสดงนำระดับแม่เหล็ก ไม่มี Computer Graphic อลังการใดๆ แต่เป็น “แง่งามในความรู้สึก” ที่เกิดจากการปรุงอย่างพอดิบพอดีของทีมงานผู้สร้างทุกชีวิต 

ต้องบอกว่า การมีชื่อผู้อำนวยการสร้างที่มีดีกรีหนังดังอย่าง The Rhythm Section, Skyfall, Mary Poppins Returns หรือ Black Swan ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไรสำหรับความรู้สึกของเรา แต่เป็นทุกชีวิตจริงๆ ที่ทำให้หนังเรื่องนี้งามขึ้นมาได้ เพราะมันจำต้องอาศัยความงามมาตั้งแต่ Idea ของเรื่องที่จะเล่า

เริ่มด้วยคำถามๆ ง่ายๆ ที่เราอยากจะให้คุณผู้อ่านลองคิดตามถ้าหากเป็นทีมสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า

“…เมื่อนึกถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 เราจะนึกถึงอะไร ?…”

แน่นอนว่าหลายคนนึกถึงสมรภูมิรบที่คร่าชีวิตประชากรโลกไปกว่า 40 ล้านคน มากมายยิ่งใหญ่กว่าสงครามใดในโลกก่อนหน้า หรือการต่อสู้ด้วยอากาศยานครั้งแรกของมนุษยชาติ หรือฟางเส้นสุดท้ายที่ก่อสงครามคือ การลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันด์แห่งออสเตรีย

ทุกสงครามที่เป็นที่จดจำสำหรับเรา ถูกมองด้วยภาพใหญ่ ความสูญเสีย ใช่หรือไม่ ?

แต่เปล่าเลย…สำหรับทีมสร้าง พวกเขาเลือกเอาส่วนเล็กที่สุดที่แทบจะเรียกว่าเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลเสียด้วยซ้ำด้วยเรื่องราวที่เป็นเรื่องเล่าหลงเหลือปากต่อปาก จดจำกันอยู่ในหมู่คนส่วนน้อยมาเล่าเรื่อง (ดังเช่นในคำอุทิศท้ายเรื่อง)

หนังเล่าเรื่องด้วยภารกิจของ “พลทหารเบลค” (Dean-Charles Chapman – กษัตริย์ทอมแมน แห่ง Game of Thrones) ทหารอังกฤษผู้ต้องออกเดินทางเข้าไปในแดนศัตรู ตัดตรงไปส่งข่าวให้ยกเลิกการยกพลบุกของอีกหน่วยรบที่กำลังไล่ตามโจมตีฝ่ายเยอรมันที่แกล้งทำเป็นถอยทัพ เพื่อล่อทหารอังกฤษเข้าไปในกับดักที่ได้วางไว้ โดยมีเพียง “พลทหารสโคฟิลด์” (George MacKay) เพื่อนเพียงคนเดียวที่เขาได้รับอนุญาตให้เลือกและร่วมเดินทางไปกับเขา แถมยังยิ่งเพิ่มระดับความบีบใจเข้าไปอีกด้วยเงื่อนไขว่า หากภารกิจครั้งนี้ล้มเหลว จะมีทหารอังกฤษเสียชีวิตกว่า 1,600 นาย…หนึ่งในนั้นคือพี่ชายของพลทหารเบลคเอง

นี่ยังไม่นับรวมการนำเสนอปมในใจของพลทหารสโคฟิลด์ ที่ทำให้เขาไม่อยากพักรบกลับไปบ้าน ไปเจอครอบครัว เพราะ “ความรู้สึกบางอย่างที่สนามรบได้มอบให้” ซึ่งการเล่าโดยปัจเจกนี้ ได้เปิดพื้นที่ทางความรู้สึกให้เราได้เข้าใจพลทหารสโคฟิลด์ จากสิ่งที่เขาได้เจอในระหว่างปฏิบัติภารกิจนี้โดยไม่ต้องอารัมภบท หรือแต่งบทพูดเล่าอะไรยืดยาวกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วใดๆ

นอกจากนี้การเลือก “พื้นที่ของปัจเจก” มานำเสนอเราจึงได้เห็นอะไรต่อมิอะไรที่เราไม่เคยคิด ไม่เคยตั้งคำถามเมื่อได้เรียนรู้เรื่องราวในสนามรบ เราได้เห็นม้าที่เปื่อยเน่าในสนามรบ สัมผัสความเจ็บแปลบกลางฝ่ามือจากลวดหนาม ความกระอักอ่วนเมื่อลื่นล้มเอามือทิ่มเข้าไปในกลางลำตัวทหารที่เสียชีวิต การเล่าในส่วนที่เล็กขนาดนี้คือการเปิดทางให้องค์ประกอบศิลป์ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และทีมกำกับศิลป์ได้แสดงผลงานของตนได้น่าประทับใจในทุกฉากจริงๆ อันนี้ต้องยอมใจ

แต่เท่านั้นไม่พอ เมื่อทีมสร้างเลือกที่จะรวม “เรื่องของปัจเจกชน” อย่างพลทหาร รวมกับการถ่ายทำแบบ “อภิมหา Long Take” ด้วยการถ่ายทำแบบ A One-Shot หรือ Continuous Shot Feature Film ที่ต้องใช้ลูกบ้ายำรวม Long Take หลายๆ ฉากมาปรุงด้วยเทคนิคการตัดต่อ ให้เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นต่อเนื่องกันทั้งเรื่อง ที่สำคัญคือต่อกันเป็นเนื้อเดียวอย่างใจหาย แล้วอาศัยจังหวะ Cut แบบชนิดที่จังหวะนี้การ Cut ก็เป็นการสื่อความหมายที่จำเป็นจริงๆ เข้าไปผสมอีก กราบใจทีมกล้องและทีมตัดต่อตรงนี้อีกหนึ่งจังหวะ

เพราะการทำแบบนี้มันทำให้เรารู้สึกว่าเราคือตัวละคร เราคือสองพลทหาร ที่ได้ดื่มน้ำนมอุ่นๆ ที่รีดไว้ในโรงนา วิ่งหลบกระสุนในขณะที่ไอร้อนจากเปลวเพลิงกำลังเผาไหม้เมือง อุดจมูกปิดทางหายใจพลทหารเยอรมันขี้เมา เข้าไปซ่อนชั้นใต้ดินกับหญิงชาวฝรั่งเศส เหนื่อยล้าพอๆ กับลุ้นระทึกเมื่อสัมผัสความเย็นเฉียบของแม่น้ำที่ไหลไปสู่ป่า

และเจ้าความรู้สึกที่เราไม่รู้ว่าจะเจออะไร ลุ้นไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าโดยไม่มีพักหายใจนี่แหละ มันคือคือรู้สึกเดียวกับชีวิตที่เราใช้ๆ กันอยู่ทุกวัน !

ทั้งสองสิ่งจึงเป็นส่วนผสมที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้พิเศษ

แล้วเมื่อนำมารวมกับโจทย์พื้นฐานของหนังทุกเรื่อง ศิลปะการสื่อความในภาพ หรือที่ศัพท์หนังเขาว่า Mise-en-scène (มิส-ซ็อง-แซน) ที่เฉียบขาด ก็ทำให้เราตกตะกอนความคิด ความรู้สึกบางอย่างไปโดยปริยาย ทั้งการปรากฏของต้นเชอร์รีในโรงนาและป่าของฝรั่งเศส หรือพลทหารชาวอินเดียกับบทสนทนาของการเป็นสมาชิกหน่วยรบ รถยนต์ของกองทัพอังกฤษที่ติดหล่ม ซึ่งหากจับสังเกตได้ เราจะพบ “ความหมายระหว่างบรรทัด” ของภารกิจนี้ได้ดียิ่งขึ้น (แต่จะเป็นอะไรนั้น เราไม่ขอสปอยล์เด็ดขาด)

น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ ศิลปะของโลกภาพยนตร์ที่แท้จริง…

เราได้เห็นเห็นความน่าชิงชังของสงครามโดยไร้ซึ่งฉากกดขี่ข่มเหง ประชากรพลัดพราก แผ่นดินต้องแยกบ้างเมืองต้องแตกสลายใดๆ แต่เจ็บปวด อ้างว้าง เงียบงัน จนความหวังคือสิ่งที่มีค่าเพียงสิ่งเดียวสำหรับชีวิตมนุษย์อย่างเหลือเชื่อ เสมือนหนึ่งได้ลัดเลาะสนามเพลาะสีขาวตามแนวทุ่งหญ้าสีเขียว ประปรายไม้ดอกอยู่ลิบๆ ที่ฉบับพลันระเบิดเป็นถ่านเถ้าสีดำและคงลงท้ายกลายเป็นหนองบึงโคลนและซากศพ ลวดหนามเกี่ยวกระหวัดถักกั้นอิสรภาพไปพร้อมๆ กับสายตาของพลทหารกับสารสำคัญในมือ เพื่อลงท้ายด้วยภาพชายคนหนึ่งทรุดลงพิงกับไม้ใหญ่ทอดมองทุ่งหญ้าและไม้ดอกใกล้ๆ เสมือนหนึ่งได้กลับไปยังจุดเริ่มต้นของเรื่อง เฝ้ามองรูปถ่ายในมือ ด้วยความรู้สึกพร่างพรู ก่อเกิดความคิดและคำถามต่อสิ่งที่เราได้เคยกระทำต่อกันในฐานะมนุษย์ ว่าเราต่างพาพันธุ์เผ่าและชีวิตของเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร…

จึงไม่ต้องแปลกใจที่ “1917” จะควบตรงส่งแรงม้าขึ้นไปคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่า จากงาน Golden Globes 2020 ล่าสุดจนทุกคนหันกลับมองมองหนังฟอร์มเงียบแต่เฉียบขาดเรื่องเรื่องนี้ ที่การันตีความ “คม” ด้วยการเข้าชิงออสการ์ปี 2020 มากถึง 10 รางวัล

เราจึงขอเรียนเชิญให้ทุกท่านไปร่วมชมภาพยนตร์เรื่องนี้กันโดยพร้อมเพรียม และไม่ว่าเมื่อถึงวันประกาศผลออสการ์ปี 2020 ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ (ตามเวลาเมืองไทย) คุณอาจจะเป็นทีม #1917Movie โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

คะแนน : 9/10

Pitirach Joochoy