ในช่วงหลังๆ นี้เรามักได้ยินข่าวว่า คนไทยเราเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น และเป็นเหตุให้มีการฆ่าตัวตายมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งมักจะเป็นข่าวใหญ่ขึ้นหน้า 1 อยู่เสมอๆ
เอกสารชุด “ภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่งปี 2562” ของสภาพัฒน์ ฉบับที่ส่งมาถึงผมล่าสุด เผอิญมีรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์โรคซึมเศร้าของประเทศไทยเรารวมอยู่ด้วย
แม้ข้อมูลหลักที่เขาใช้ในการรายงานจะค่อนข้างเก่าอยู่สักหน่อย แต่ก็มีการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันมาเสริมทำให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในสังคมไทยเราในหลายๆประเด็น
ในภาพรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พบว่ามีผู้มารับการวินิจฉัยและรักษารวมทั้งประเทศ 9.47 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 65.75 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมี 1.44 ล้านคน
แสดงให้เห็นว่ายังมีผู้ป่วยโรคนี้ที่ยังไม่ได้รับการบริการดูแลช่วยเหลืออีกประมาณ 5 แสนคน
จากข้อมูลการสำรวจความชุกโรคซึมเศร้าที่ทำไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2551 พบว่าผู้หญิงจะมีความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 62 อยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 25-59 ปี ถัดไปเป็นวัยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 26.5 ในขณะที่กลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 จะมีประมาณร้อยละ 11.5 เท่านั้น
แม้โรคซึมเศร้าจะเป็นในกลุ่มเยาวชนน้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
ที่สำคัญข้อมูลจากการศึกษาพบว่า แนวโน้มการฆ่าตัวตายของกลุ่มเยาวชนค่อนข้างจะสูงขึ้นกว่ากลุ่มอื่นๆในระยะหลังๆ
สาเหตุที่ทำให้กลุ่มเยาวชนเกิดภาวะซึมเศร้ามาจากการ “เสียศูนย์” เป็นส่วนใหญ่ เช่น เสียศูนย์จากการถูกประเมินในทางลบหรือมีผลการสอบที่น่าผิดหวัง
นอกจากนั้นก็มีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจภาวะการเงิน ความรัก ความสัมพันธ์กับเพื่อน การยอมรับจากเพื่อน ไปจนถึงความรู้สึกผิดกับคนที่เคารพหรือคิดว่ามีความสำคัญสำหรับตัวเขา
ไปจนถึงความสูญเสียอย่างฉับพลันที่ทำให้ช็อกและกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด
พอเป็นโรคซึมเศร้าแล้วก็ควรต้องรีบหาทางรักษาละครับ เพราะเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้มีอาการรุนแรงจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ และจากสถิติพบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอัตราฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่าเลยทีเดียว
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แต่ละปีจะมีเยาวชนอายุ 10-24 ปีทั่วโลก เสียชีวิตประมาณ 2.6 ล้านคน โดย 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตมีสาเหตุมาจากการฆ่าตัวตายที่มีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า
สำหรับประเทศไทยข้อมูลของกรมสุขภาพจิตพบว่าในแต่ละปีจะมีคนพยายามฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน และจะมีฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 4,000 รายต่อปี
จริงๆ แล้วเขายังมีรายละเอียดตัวเลขยุบยิบอื่นๆ หลายๆ ประเด็น เช่น กลุ่มไหนฆ่าตัวตายมากที่สุด กลุ่มไหนน้อยที่สุด แต่อย่าคัดลอกมาลงเลยอ่านแล้วเศร้าเปล่าๆ
เอาเป็นว่าในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี หรือต่ำกว่า 15 ปีก็มีการฆ่าตัวตาย แม้จะยังไม่มากนัก แต่ก็ดูแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ก็มาถึงบทสรุปของรายงานชิ้นนี้ที่ยืนยันว่าการแก้ปัญหาและป้องกันภาวะซึมเศร้าในกลุ่มเด็ก และเยาวชนนั้นสามารถทำได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับครอบครัว สถานศึกษา และสังคม
แต่ที่สำคัญกว่าอะไรทั้งหมดก็คือครอบครัวและคนใกล้ชิดนั่นเอง ที่อยู่ใกล้ปัญหาที่สุด จึงควรจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวมีความใกล้ชิดสนิทสนม เห็นอะไรผิดสังเกตให้รีบพูดจาหาสาเหตุ ก็จะสามารถตัดไฟแต่ต้นลมได้ในที่สุด
สรุปของสรุปก็มาลงเอยที่คำว่า “ครอบครัว” นั่นแหละครับ ขอให้สร้างความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวให้มากที่สุดจะทำให้พิชิตได้ทุกโรค รวมทั้ง “โรคซึมเศร้า” ที่เริ่มมีมากขึ้นในยุคนี้.
“ซูม”