หนี้สินครัวเรือนไทย : อันดับโลกที่ไม่อยากได้

เมื่อวานนี้ผมเขียนเกริ่นเรียนท่านผู้อ่านไว้แล้วว่าจะหลบไปต่างประเทศสัก 6–7 วัน ต้องเขียนต้นฉบับแห้งๆ ทิ้งไว้เหมือนที่เคยปฏิบัติมา เวลาหนีเที่ยวทุกครั้ง…พร้อมกับแจ้งด้วยว่า งวดนี้ได้รับเอกสารจากสภาพัฒน์ข้อมูลเพียบมาพอดิบพอดีก็คงจะอาศัยข้อมูลที่ว่านี้แหละเป็นหลักในการเขียน

วันนี้ เรามาเริ่มเขียนถึงรายงานชิ้นแรกที่โดนใจผมที่สุดในเอกสารชุด “ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2562” กันเลยครับ

ได้แก่เรื่อง “หนี้สินครัวเรือน” ที่เป็นปัญหาใหญ่มีการหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้

เอกสารรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก 2562 โดยสภาพัฒน์ เล่มที่ว่านี้พาดหัวเอาไว้ว่า “หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น” พร้อมกับนำเสนอตัวเลขให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา หนี้สินครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นมาอย่างไร

เริ่มจากเมื่อสิ้นปี 2561 มูลค่าของหนี้สินครัวเรือน รวมกันทั้งสิ้น 12.8 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และคิดเป็น

สัดส่วนร้อยละ 78.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สัดส่วนต่อจีดีพีที่ว่าทำให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และอันดับที่ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย เป็นรองจากประเทศเกาหลีใต้และมาเลเซียเท่านั้น

ต่อมาในไตรมาสแรกของปี 2562 พบว่า หนี้สินครัวเรือนยังเพิ่มต่อ โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัยเพิ่มร้อยละ 9.1 ด้านรถยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4

น่าจะมีผลจากการส่งเสริมการขาย การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และเงื่อนไขการผ่อนชำระที่จูงใจ รวมทั้งมีการจัดงานรถยนต์ประเภทมอเตอร์โชว์ต่างๆ หลายงานติดกัน

อีกเหตุหนึ่งน่าจะมาจากใกล้ช่วงเปิดเทอมใหม่ ทำให้ผู้ปกครองที่จะส่งลูกเข้าโรงเรียนต้องออกหาเงินกู้ ทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น

รายงานชิ้นนี้ สรุปไว้ด้วยความห่วงใยตอนหนึ่งว่า “หนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2561 และภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 สะท้อนให้เห็นถึง ความเปราะบาง ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น”

ผมตีความว่า การที่หนี้ครัวเรือนของเรามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะไม่ค่อยดีนัก อันเป็นผลพวงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ภาคครัวเรือนไทย อันเปราะบาง เพราะมีหนี้สินมากจะเดือดร้อนแน่นอน

ในส่วนสุดท้ายรายงานของสภาพัฒน์ฝากข้อเสนอแนะ และวิธีแก้ไขเอาไว้หลายอย่าง ที่ผมไม่สามารถสรุปมาให้อ่านได้เพราะ นอกจากยาวแล้วยังเข้าใจยาก สำหรับบุคคลทั่วไปก็ขอให้ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ทั้งหลายไปหาอ่านกันเอาเองนะครับ

ผมมีความเชื่อมาตลอดว่าประเทศใดก็ตามที่มีประชากรหรือ มีครัวเรือนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นๆ เป็นหนี้เป็นสินรุงรังจะไม่มีวันพัฒนาไปได้อย่างสะดวกและราบรื่น

เพราะคนเราพอเป็นหนี้เป็นสินก็ต้องวิ่งหาเงินมาใช้หนี้สิน หรือไม่ ก็ต้องคอยหลบเจ้าหนี้ที่จะมาทวงหนี้จะมีกำลังใจทำงานได้อย่างไร?

เมื่อไม่มีกำลังใจในการทำงาน ความสามารถในการแข่งขันก็จะน้อยลง จะไปพัฒนาแข่งกับชาติอื่นๆ คงจะเอาชนะได้โดยยาก

ต้องขอขอบคุณสภาพัฒน์ที่มองมาตลอดว่า ปัญหานี้จะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ มีการหยิบยกมาเป็นนโยบายในแผนพัฒนา ถ้าจำไม่ผิดก็คงร่างตั้งแต่แผนที่แล้ว และจากนั้นก็มีการติดตามประเมินผลอยู่เสมอ

ถึงแม้การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทยจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ถ้าไม่พยายามแก้ไขเสียเลยก็จะทำให้สถานการณ์หนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ

พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่ายังมีอีกท่านหนึ่งที่มองว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นปัญหาใหญ่ และได้พูดได้ฝากความห่วงใยรวมทั้งได้ลงมือแก้ไขในส่วนที่ท่านรับผิดชอบมาโดยตลอด

ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย วิรไท สันติประภพ นั่นแหละครับ…ล่าสุดก็ได้พูดจาปราศรัยฝากข้อคิดในเรื่องนี้ไว้หลายๆ ข้อ

พรุ่งนี้ขออนุญาตเขียนต่อนะครับว่า ท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติท่านพูดถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยไว้ว่าอย่างไร?

“ซูม”