ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะได้ยินข่าวคราวกันบ้างหรือยังว่า ในช่วงนี้ที่ศูนย์การค้า “One Siam” หรือ “วัน สยาม” อันประกอบด้วยสยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ กำลังมีงานที่น่าสนใจงานหนึ่ง?
จะเป็นงานใหญ่แค่ไหนไม่ทราบได้ เพราะทีมงานซอกแซกยังไม่มีโอกาสไปเยือน แต่ที่แน่ๆ เป็นงานค่อนข้างคลาสสิกระดับโลกเลยเชียวล่ะ เมื่อเหล่าศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงระดับอินเตอร์ถึง 7 ราย ต่างพร้อมใจกันรังสรรค์ผลงานจากตัวการ์ตูนหลายๆ ตัวของการ์ตูนชุด “Peanuts” อันโด่งดังทั่วสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกด้วย ออกมาเป็นผลงานตามสไตล์ของตัวเอง
ตั้งชื่อโครงการนี้ไว้ว่า “Peanuts Global Artist Collective” เสร็จแล้วก็นำผลงานทั้งหมดออกเดินสายไปแสดงตามประเทศต่างๆ จนเป็นที่โจษขานเลื่องลือเรียกความชื่นชมจากแฟนๆ การ์ตูนชุดนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว…และ ณ บัดนี้ ผลงานของศิลปินเอกทั้ง 7 รายที่ว่านี้ เดินสายมาถึงประเทศไทยแล้วครับ
กระจายตัวแสดงโชว์อยู่ที่ศูนย์การค้าแฝดสาม “สยาม วัน” เป็นข่าวคราวฮือฮาพอสมควรในหน้าข่าวสังคม ข่าวสตรี และไลฟ์สไตล์
แฟนๆ การ์ตูนพีนัทส์ย่อมรู้จักตัวเอกอย่างเจ้าหมาน้อย “สนูปี้” อย่างดียิ่ง ตามมาด้วย ชาร์ลี บราวน์ พระเอกที่ไม่ใช่พระเอก เพราะทำอะไรผิดพลาดอยู่เนืองๆ กับ ลูซี่ แวนเพลท์ นางเอกจิ๋วที่เก่งกว่าพระเอก รวมทั้ง ไลนัส แวน-เพลท์ น้องชายของลูซี่ที่ชอบดูดนิ้ว ฯลฯ
7 ศิลปินชื่อก้องจะวาดภาพใครบ้างก็ยังไม่ทราบเช่นกัน เพราะจากข่าวและภาพที่วัน สยาม ส่งมาให้ ไม่แน่ใจว่าจะครบถ้วนหรือยัง
ไปดูกันเองดีกว่านะครับ เขาว่าการแสดงบางอย่างจะเก็บฉากในวันที่ 25 มิถุนายน และบางอย่างจะเลิกในวันที่ 30 มิถุนายน ใครอยากดูให้ครบถ้วนคงต้องรีบไปในวันนี้พรุ่งนี้ รวมทั้งทีมงานซอกแซกด้วย
ต้องยอมรับว่าหัวหน้าทีมซอกแซกตื่นเต้นกับงานนี้มากที่สุด หากไม่ติดขัดภารกิจต่างๆ ที่ประเดประดังเข้ามาในช่วงนี้แล้ว คงจะรีบไปชมงานเสียตั้งแต่เมื่อวันเปิดโน่นแล้วละ
สาเหตุที่ตื่นเต้นก็เพราะหัวหน้าทีมก็เป็น 1 ในแฟนคลับของการ์ตูนชุด “พีนัทส์” ที่รังสรรค์โดย ชาร์ล เอ็ม ชูลซ์ (Charles M. Chulz) มาไม่ต่ำกว่า 51 ปีเต็มๆ เข้านี่แล้ว คือตั้งแต่เมื่อ ค.ศ.1968 หรือ พ.ศ.2511 ช่วงไปเรียนโทที่สหรัฐอเมริกาโน่นแหละ
ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนๆ ชาวอเมริกันว่าอยากรู้และเข้าใจวัฒนธรรมอเมริกัน ต้องอ่านการ์ตูนชุดนี้ เพราะเป็นการ์ตูนที่สะท้อนวัฒนธรรมและความคิดของคนอเมริกันผ่านตัวละครที่มีทั้งคนและสัตว์อันแสนน่ารักทั้งคณะ
วัฒนธรรมแรกเลยที่เรียนรู้ก็คือ วัฒนธรรม “วาเลนไทน์” ที่ฮิตที่สุดในอเมริกา และฮิตมานานมากก่อนจะแพร่ระบาดไปตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ทุกๆ ปีก่อนถึงเทศกาล วาไลนไทน์ เจ้าหนู ชาร์ลี บราวน์ จะกลัดกลุ้มมากที่สุด เพราะวิตกว่าจะไม่มีใครส่งการ์ดวาเลนไทน์ หรือดอกกุหลาบไปให้เขาเลย เป็นมุกเรียกเสียงฮามาโดยตลอด
กล่าวได้ว่าในช่วงปี 1968-1969 จนถึง 1970 ที่หัวหน้าทีมซอกแซกไปเรียนหนังสือที่สหรัฐฯ การ์ตูน พีนัทส์ ฮิตมาก ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับทั่วประเทศ
จำได้ว่าในการส่งยานอวกาศ อะพอลโล 10 ไปดวงจันทร์เมื่อปี 1969 นาซาได้ตั้งชื่อยานอวกาศตัวแม่ว่า ชาร์ลี บราวน์ และเรียกยานลูกที่จะออกจากยานแม่เพื่อไปลงดวงจันทร์ว่า “สนูปี้” ถือเป็นจุดพีกจุดหนึ่งของการ์ตูนพีนัทส์ก็ว่าได้
การ์ตูนพีนัทส์ชิ้นสุดท้ายได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ปี 2000 ในฉบับวันอาทิตย์ของหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ หลังจากที่ ชาร์ล เอ็ม ชูลซ์ ถึงแก่กรรมไปแล้ว 1 วัน
ความจริงเขาเขียนชิ้นนี้ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว โดยเขียนไว้ประมาณ 3-4 ชิ้น ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเลิกวาดการ์ตูน เพราะสุขภาพไม่เอื้อ จึงได้เขียนเป็นเรื่องราวโดยใช้มุกการเล่นเบสบอลของเด็กๆ พร้อมด้วยสนูปี้ และจบด้วยการให้สนูปี้ขึ้นนั่งแป้นพิมพ์ดีดแล้วพิมพ์ข้อความที่บ่งบอกถึงสาเหตุที่เขาต้องยุติการเขียนและอำลาแฟนๆ พร้อมลงลายเซ็นไว้ในตอนท้าย
เป็นข้อความเดียวกับที่เขาเขียนในการ์ตูนประจำวัน เมื่อวันที่ 3 มกราคม ปี 2000 ที่เขาบอกลาคนอ่านไปก่อนแล้ว เพียงแต่ได้เขียนเผื่อฉบับพิเศษวันอาทิตย์ไว้อีก 3-4 ตอน จึงมาจบลงในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ดังกล่าว
ชาร์ล เอ็ม ชูลซ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ปี 1922 ที่เมืองมินเนียโปลิส รัฐมินเนโซตา และมีการศึกษาเพียงระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น อาจเป็นเพราะเกิดสงครามโลกขึ้นพอดี ในช่วงที่เขาเป็นหนุ่ม จึงต้องไปรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารและไปประจำการในยุโรป
หลังสงครามเขาเข้าทำงานในแมกกาซีน การ์ตูนทางศาสนาฉบับหนึ่ง และเข้าทำงาน ในสถาบันศิลปะ และฝึกการวาดการ์ตูนอย่างจริงจัง และเริ่มวาดการ์ตูนลงสื่อเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1947
การ์ตูนชุดพีนัทส์ถือกำเนิดครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม ปี 1950 ตอนเขาอายุ 28 ได้รับการตีพิมพ์จากหนังสือพิมพ์เพียง 7 ฉบับเท่านั้น ทั่วสหรัฐอเมริกา แต่ก็ค่อยๆ โด่งดังขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงจุดที่บูมที่สุดในชีวิตของเขา ปรากฏว่าการ์ตูนพีนัทส์ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ถึง 2,600 ฉบับใน 75 ประเทศทั่วโลก รวม 21 ภาษา
ชาร์ล เอ็ม ชูลซ์ กลายเป็นเศรษฐีไปในที่สุด ว่ากันว่าเขามีส่วนแบ่งจากการเขียนการ์ตูนพีนัทส์ขายในรายวันและเอาตัวการ์ตูนไปทำโฆษณาเฉลี่ยถึงปีละ 30-40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้วก็เขียนอยู่ถึง 50 ปี จะเป็นเท่าไรก็ลองคูณดู เขาเสียชีวิตเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ ปี 2000 สิริอายุ 77 ปี เท่ากับว่าเขียนการ์ตูนพีนัทส์มา 49 ปีเศษๆ รวมเป็นการ์ตูนชุดนี้ทั้งหมดราวๆ 18,000 ชิ้น
เขาประกาศหยุดเขียนเพราะโดนโรคภัยรุมเร้า จนแทบหมดแรงหยิบปากกาคอแร้ง เมื่อ 14 ธันวาคม ปี 1999 หลังจากนั้นอีกไม่ถึง 2 เดือนก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่
นับมาถึงวันนี้เป็นเวลา 19 ปีแล้วที่เขาจากไป แต่โลกทั้งโลกก็ยังไม่ลืมการ์ตูนพีนัทส์ โดยเฉพาะเจ้าสนูปี้ สุนัขตัวเอกยังคงเป็นขวัญใจมหาชนทั่วโลกตราบทุกวันนี้.
“ซูม”