ประชาธิปัตย์ “ผลัดใบ” สู่ยุค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”

ในที่สุดผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่แทนคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ออกมาเรียบร้อย โดยชัยชนะเป็นของคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ด้วยเปอร์เซ็นต์เหนือกว่าคู่แข่งขันอื่นๆ

หนังสือพิมพ์รายงานข่าวว่า คุณจุรินทร์ได้คะแนนรวม 50.5995 เปอร์เซ็นต์ เป็นอันดับที่ 1 ตามมาครับ คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้ 37.216 เปอร์เซ็นต์ เป็นอันดับ 3 และ คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ 3.6965 เปอร์เซ็นต์ เป็นอันดับ 4

ผมไม่ทราบวิธีคิดคะแนนคิดเปอร์เซ็นต์ว่าพรรคประชาธิปัตย์เขาดำเนินการกันอย่างไร แต่ก็คงจะไม่ลงไปดูในรายละเอียดละครับ

เมื่อเป็นที่ยอมรับของสมาชิกพรรคและไม่มีการทักท้วงว่าคำนวณไม่ถูกต้องอย่างโน้นอย่างนี้แบบการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ กกต.ผมก็ถือว่าผลการเลือกหัวหน้าพรรคของประชาธิปัตย์เป็นที่ยุติ

ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ

เท่าที่ผมเคยมีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยและติดตามการทำงานของคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มาพอสมควร ผมก็แอบให้คะแนนคุณจุรินทร์ไว้ค่อนข้างสูงพอใช้

คงจะสามารถรับตำแหน่ง “ผู้นำ” ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

คุณสมบัติข้อหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นจุดเด่นของคุณจุรินทร์ก็คือ ความสุภาพอ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว ยอมรับฟังความเห็นคนอื่น แต่ก็ยึดมั่นในหลักการและความถูกต้องและพร้อมที่จะสู้ในสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าถูกต้อง

ในแบบที่ภาษาไทยเราใช้คำว่า “อ่อนนอก แข็งใน”

คุณสมบัติข้อนี้น่าจะเหมาะสมกับการเป็นผู้นำ…ไม่เฉพาะพรรคประชาธิปัตย์หรอกครับ แต่ควรเป็นคุณสมบัติของผู้นำทุกประเภทตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงไปจนถึงผู้บริหารในทุกๆ องค์กร

ก็ขอให้กำลังใจครับ ขอให้คุณจุรินทร์ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแน่นอนจากการผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 73 ปี ย่อมต้องมีทั้งยุครุ่งโรจน์และรุ่งริ่งเป็นของธรรมดา

มาถึง พ.ศ.นี้ แม้จะไม่ถึงกับรุ่งริ่งเสียทีเดียวนัก แต่ก็ต้องถือว่าการมีเสียงเพียง 52 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎรย่อมไม่ใช่พรรคใหญ่อย่างที่เคยเป็นในอดีตอย่างแน่นอน

ยังมีความจำเป็นที่คุณจุรินทร์จะต้องบริหารด้วยความระมัดระวังรอบคอบเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงเกียรติคุณของพรรคให้กลับมาเป็นพรรคชั้นแนวหน้าอีกครั้งหนึ่งให้จงได้

สำหรับปัญหาใหญ่เฉพาะหน้าที่คุณจุรินทร์ และกรรมการบริหารพรรคจะต้องตัดสินใจก็คือการจะเข้าร่วมกับรัฐบาลบิ๊กตู่หรือไม่? อันเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้

ร่วมหรือไม่ร่วม? ย่อมมีทั้งผลดีและผลลบต่อพรรคทั้ง 2 ประการ ในยุคที่ความเห็นทางการเมืองของคนไทยแบ่งแยกออกเป็นหลายฝั่งหลายฟากอย่างทุกวันนี้

เป็นประเด็นหลักที่คุณจุรินทร์และคณะกรรมการบริหารของท่านจะต้องช่วยกันขบคิดช่วยกันหาคำตอบที่ถูกต้องและเหมาะสมทั้งในบริบทของพรรคและบริบทของประเทศ พร้อมกับให้คำตอบแก่สังคมไทยโดยเฉพาะคนที่เป็นแฟนคลับของพรรคประชาธิปัตย์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ตลอดเวลาที่ผมอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชน ซึ่งโดยหน้าที่จะต้องคบหาสมาคมพูดคุยทำความรู้จักกับพรรคการเมืองทุกพรรค

หากจะดูเหมือนลำเอียงพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์มากหน่อยก็คงไม่ใช่เพราะอะไรหรอกครับ…เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่อยู่ยั้งยืนยงคงกระพันมาตั้งแต่ผมยังไม่เข้าสู่วงการ และยังอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงบัดนี้

ยิ่งในยุคเผด็จการครองเมืองยุคก่อนๆและไม่มีพรรคอื่นหลงเหลืออยู่เลยก็มีประชาธิปัตย์นี่แหละที่คงอยู่แม้จะอยู่อย่างเงียบๆหงอยๆแต่ก็สามารถฟื้นกลับมาได้ในทันทีทันควันที่เผด็จการจบสิ้นลง

ผมก็เลยมีโอกาสพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าคนอื่น

และนานกว่าคนอื่นด้วยประการฉะนี้ แต่ระยะหลังก็ดีขึ้นเมื่อมีหลายๆพรรคอายุยืนยาวมากขึ้นทำให้ผมมีเพื่อนคุยมากกว่ายุคก่อนๆ เยอะ

ขอให้กำลังใจอีกครั้งขอให้พรรคประชาธิปัตย์อยู่ยั้งยืนยงต่อไป…ปีนี้อายุ 73 ปีเข้าไปแล้ว…ยังไงๆ ก็ต้องอยู่ถึง 100 ปีนะครับเพื่อทำสถิติพรรคการเมืองแรกของไทยที่มีอายุ 100 ปีว่างั้นเถอะ.

“ซูม”