สำนึกเพื่อสาธารณะ สิ่งที่นายทุนไทยต้องมี

เมื่อวานนี้ผมเขียนสรุปไว้ว่า ถ้าไม่มีอะไรขัดข้องทางเทคนิคเกิดขึ้น วันนี้ (23 เมษายน) จะมีการเจรจายกสุดท้าย ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับตัวแทนของกลุ่มซีพีในเรื่องการร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ยืดเยื้อมาพอสมควร

ซึ่งทิศทางการเจรจา ถ้าเป็นไปตามข่าวที่รักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยแถลงไว้ ทาง ซีพี กับพันธมิตรน่าจะยอมตกลงในเงื่อนไขต่างๆ เพื่อร่วมลงทุนในโครงการนี้ในฐานะที่เป็นผู้ประมูลได้

ดังที่ผมเรียนไว้แล้วว่าโดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และกังวลมาโดยตลอดว่าจะเป็นโครงการที่ล้มเหลวและขาดทุนอีกโครงการหนึ่งในอนาคต

แต่เมื่อหลายๆ ฝ่ายเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และในที่สุด ซีพี ซึ่งน่าจะรู้ดีว่าโครงการน่าจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ยังยอมร่วมทุนด้วย ผมก็คงต้องยอมแพ้โดยไม่คัดค้านอีกต่อไป

ในทางตรงข้ามจะหันมาเอาใจช่วยขอให้โครงการนี้จงประสบผลสำเร็จ มีกำรี้กำไรคุ้มค่ากับเงินหลวงที่จะต้องจ่ายก้อนใหญ่

อย่างที่ผมเขียนไว้แล้วหลายครั้งว่า มองอย่างธรรมดาๆ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นโครงการไม่สมเหตุสมผล

ผมมองด้วยสายตาธรรมดาๆ เชื่อว่าผู้โดยสารจะน้อยมาก จะไม่คุ้มทุนในอนาคต แต่เมื่อซีพีเห็นว่าจะคุ้มทุน และพร้อมจะเข้าร่วมแม้ต่อรองไปหลายเงื่อนไขแล้วไม่ได้อะไรมากนักก็ตามที

ผมก็ต้องเชื่อและเคารพในการตัดสินใจของท่าน

แต่ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งของเงินภาษีอากรประมาณ 90,000 ล้านบาท (เพราะซีพีบอกจะขอสนับสนุนแค่นี้จากวงเงิน 120,000 ล้านบาทที่รัฐบาลตั้งไว้ ที่เหลือให้ตั้งเป็นกองทุนสำรองเงินฉุกเฉิน) ของภาครัฐที่ร่วมลงทุนในโครงการนี้ ผมก็ขอถือโอกาสฝากผู้บริหารซีพี ทุกๆท่านไว้ด้วย

ขอให้ท่านเข้าร่วมบริหารโครงการนี้ในฐานะที่ท่านเป็นผู้เสียภาษีคนหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าด้วยรายได้อันมหาศาลของท่าน…ท่านย่อมจะเสียภาษีจำนวนมหาศาลอย่างแน่นอน

เงิน 120,000 ล้าน หรืออาจจะแค่ 90,000 ล้านก็เถอะที่รัฐบาลจะนำมาลงในโครงการนี้ ย่อมเป็นเงินจากภาษีของท่านด้วย

ขอให้ท่านมีจิตใจโอนเอียงมาที่เงินภาษีอากรให้มากกว่าความเป็นผู้บริหารในเครือซีพี ที่จะเป็นเจ้าของสัมปทานนี้

โปรดช่วยบริหารให้มีกำไรให้คุ้มทุน ไม่สูญเสียเงินภาษีไปโดย เปล่าประโยชน์ด้วยจักขอบคุณยิ่ง เสร็จแล้วจะแบ่งกำไรไปที่ซีพีและพันธมิตรให้สมนํ้าสมเนื้อตามสิทธิอันควรของท่านก็เป็นเรื่องที่พึงกระทำ

หากจะขาดทุนก็ขอให้ขาดทุนไปด้วยกัน

อย่าให้เกิดสภาพที่ว่ารัฐขาดทุนยับ แต่ซีพีและพันธมิตรไม่ขาดทุน เป็นอันขาด เพราะจะทำให้ประชาชนทั่วไปเสียความรู้สึก

ผมคงจะต้องขอเรียนผู้บริหารซีพีและบริษัทในเครือของท่าน

ไม่เฉพาะโครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการเล็กๆ โครงการหนึ่งของท่านเท่านั้น

จริงๆ แล้วคงจะต้องขอร้องไปทุกๆ โครงการ ที่ขณะนี้ท่านแผ่ขยายออกไปอย่างมาก และได้เข้ามาประมูลกับภาครัฐบาลในหลายๆ ด้าน

เพราะทุกๆ ครั้งที่มีการประมูล ผมก็จะเห็นแต่ชื่อซีพี…ซีพี กับอีก 4-5 เจ้าเท่านั้นเอง

เมื่อพูดถึง 4-5 เจ้าขึ้นมา ผมก็ขอถือโอกาสฝากไว้ด้วยเลย เพราะ 4-5 เจ้าที่ว่านี้ก็คือบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย นอกจากเครือซีพีแล้ว ก็มีเครือของ ไทยเบฟฯ เครือของ ช.การช่าง ของ อิตัลไทย และ ฯลฯ

อาจจะมีมากกว่านี้อีก แต่อย่างเร็วๆ ผมนึกออกเพียงเท่านี้ ก็ขอฝากเพียงเท่านี้ไว้ก่อน

ผมดูว่าการพัฒนาประเทศไทย ถ้าเป็นไปตามแนวโน้มที่รัฐบาลนี้ปูทางไว้ ก็จะมีแต่บริษัทเหล่านี้แหละที่จะเข้ามามีส่วนพัฒนาในอภิมหาโครงการทั้งหลายมากกว่าบริษัทอื่นใดทั้งหมด

จึงขอฝากความมีหัวใจอันเป็นสาธารณะเอาไว้แก่ทุกๆ ท่านเหล่านี้ด้วย…ขอบคุณที่จะมาร่วมประมูลในโครงการของรัฐบาลจำนวนมาก

ขอให้ยึดหลักไว้นะครับว่า รวยด้วยกัน เจ๊งด้วยกัน…ไม่ใช่รัฐบาลเจ๊ง แต่บริษัทของท่านทั้งหลายที่เอ่ยมานี้มีแต่รวยเอา รวยเอา… ขอบคุณล่วงหน้านะครับ.

“ซูม”