วันนี้วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2562 แล้วนะครับ…อีกแค่ 6 วันเท่านั้น เอง วันตัดสินโชคชะตา และอนาคตของประเทศไทย อาทิตย์ที่ “24 มีนาคม” ก็จะโคจรมาถึง
รักคนไหน? ชื่นชอบพรรคใด? อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคิดกันไว้หรือยังเอ่ย?
ในระหว่างที่รอการตัดสินใจของท่านผู้อ่านอยู่นี้ผมก็ขอทำหน้าที่ชวนท่านผู้อ่านคุยเรื่องเลือกตั้งเพื่อสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งให้คึกคัก ครึกครื้นต่อไปเรื่อยๆ ก็แล้วกัน
มีอยู่ประเด็นหนึ่งครับที่ผมได้รับทั้งโทรศัพท์ และจดหมายบ่นมาว่าทำไมสูตรการจัดสรรปันส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อคราวนี้ถึงได้ยากจัง ฟังแล้วก็งงไปหมด
ท่านผู้อ่านรายหนึ่งเขียนมาว่า “คุณซูมช่วยสรุปสั้นๆ ให้ผมเข้าใจหน่อยได้ไหม? ถ้าทำได้จะขอบคุณเป็นที่สุดเลยเชียว”
ก็ลองดูครับ แต่ถ้าผมสรุปแล้วก็ยังมึนงง หรือไม่รู้เรื่องเพิ่มมากขึ้นไปอีก…คงจะต้องขออภัยล่วงหน้า เพราะถ้าจะว่าไปแล้วคนสรุปก็งงๆ อยู่เหมือนกันแหละ
สูตรที่จะใช้ในการจัดสรรปันส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งครั้งนี้เขาเรียกกันว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ครับ มาจากภาษาอังกฤษว่า “Mixed Member Apportionment System” หรือ MMA
สูตรนี้จะเริ่มด้วย (1) เอาคะแนนของผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งหมดทั่วประเทศลบด้วย Vote No และบัตรเสียทั่วประเทศเช่นกันซะก่อน เพื่อให้เหลือเฉพาะบัตรดีเท่านั้น
จากนั้น (2) ให้นำคะแนนที่หักแล้วตาม (1) มาหารด้วยจำนวน ส.ส. 500 คน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ผลออกมาเท่าไรก็จะเป็น คะแนนโดยประมาณสำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน
มีการประมาณการกันว่าคะแนนดังกล่าวจะอยู่ที่ 70,000 คะแนน สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งมีความหมายว่าพรรคไหนได้คะแนนเสียงทั้งประเทศ 70,000 เสียง ก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไป 1 ที่นั่ง
แต่ของจริงจะออกมาเท่าไรเราคงต้องดูว่าในวันที่ 24 มีนาคมพี่น้องประชาชนจะออกมาใช้สิทธิใช้เสียงมากน้อยเพียงใด
เอาละ เมื่อได้คะแนนโดยประมาณสำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนแล้วเราก็ข้ามไปที่ขั้นตอนต่อไปคือ (3) ซึ่งจะเป็นการนำคะแนนจาก ส.ส.เขต ที่แต่ละพรรคได้รับรวมกันทั้งประเทศมาหารด้วย “คะแนนโดยประมาณสำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน” (ตามข้อ 2)
ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นตัวเลขจำนวน “ส.ส.จะพึงมี” ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าพรรคใดพรรคหนึ่งจะสามารถมี ส.ส.ได้ไม่เกินจำนวนนี้
ขั้นต่อไป (4) ให้นำจำนวน “ส.ส.จะพึงมี” ที่คำนวณได้ตาม (3) ไปลบด้วย จำนวน ส.ส.เขต ที่พรรคนั้นได้รับจากการเลือกตั้ง
ผลลัพธ์ออกมาเท่าไร…ก็คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้น จะได้รับจัดสรร
เพื่อให้มองเห็นภาพชัดขึ้นเรามาสมมติกันว่าพรรค ก.ไก่ได้ ส.ส.เขตมา 30 คน และได้คะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ 3,500,000 คะแนน
วิธีคิดสำหรับพรรค ก.ไก่ก็คือ ให้เอาคะแนนรวม 3,500,000 ไปหารด้วยคะแนนโดยประมาณสำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ซึ่งในที่นี้สมมติว่าอยู่ที่ 70,000 คะแนนตามที่เคยมีการคาดไว้ก็แล้วกัน
ผลก็คือ 3,500,000 หารด้วย 70,000 = 50 แปลว่า จำนวน ส.ส.พึงจะมีของพรรคนี้ จะอยู่ที่ 50 คน
ดังนั้นเมื่อพรรค ก.ไก่ได้ ส.ส.เขตมาแล้ว 30 คน ให้เอาไปหักออกจากจำนวน ส.ส.พึงจะมี 50 คน ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ 20 คน
แปลว่า พรรค ก.ไก่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20 คนครับ
นี่คือวิธีการคิดคำนวณว่า แต่ละพรรคจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อกี่คน ที่จะใช้ในคราวนี้
ท่านผู้อ่านลองไปซ้อมบวกลบคูณหารทดลองสมมติตัวเลขกันเอาเองนะครับ ทำทีละขั้นตอนที่ผมลำดับไว้ จะเข้าใจได้ไม่ยาก
วิธีนี้จะดีหรือไม่ดีอย่างไร และมีประเทศไหนในโลกเขาใช้กันบ้าง? ขออนุญาตเขียนต่อวันพรุ่งนี้นะครับ.
“ซูม”