รอการตัดสินใจ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ อีกครั้งอย่างไร?

เป็นอันว่าโบกมืออำลาตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ สำหรับ 4 ท่านที่มีตำแหน่งสำคัญอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ เมื่อเวลาประมาณ 10 โมงเช้าของวันอังคารที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา

ผมขอขอบคุณที่ทั้ง 4 ท่าน เลือกแนวทางนี้เพื่อเป็นการแสดงสปริตให้เห็นว่า ท่านพร้อมแล้วที่จะลงสู่สนามการเมือง โดยจะไม่ใช้ตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจไม่น้อยเลยในการเลือกตั้งครั้งนี้

จากนี้ก็คงเป็นหน้าที่ของ “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ละครับที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรดี? สำหรับทางเลือกสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยหน้า ซึ่งมีอยู่ 2 ทางใหญ่ๆ

ทางที่หนึ่งคือการยอมให้ใส่ชื่อไว้ในรายชื่อของบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ดังที่มีข่าวว่าอดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 ในฐานะคนสำคัญของพรรคได้เรียนเชิญท่านไว้

หรืออีกทางหนึ่งก็คืออยู่เฉยๆ อย่างนี้แหละ นั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ไปเรื่อยๆ จนเลือกตั้งเสร็จแล้ว ทั้ง 2 สภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคต่างๆ เสนอไว้ได้สำเร็จ จึงมีมติ 2 ใน 3 ขอยกเว้นกติกาที่จะต้องเลือกผู้ที่มีการเสนอชื่อไว้แล้วมาเป็นการเลือกใครก็ได้ตามที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้

จากนั้นสภาทั้ง 2 ก็มีมติอีกครั้งเสนอให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี

เหตุที่จะต้องให้บิ๊กตู่ใช้เวลาคิดสักเล็กน้อยก็เพราะทั้ง 2 ทาง ดังกล่าวนี้ ล้วนมีผลดีและผลเสียด้วยกันทั้งสิ้น

หนทางแรกใส่ชื่อบิ๊กตู่ไว้เลย ก็จะทำให้การกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งไม่ยากเกินไปนัก เพราะแค่ขอเสียงสนับสนุนกึ่งหนึ่งของสภาทั้ง 2 ก็พอเพียงแล้ว

ได้จากสมาชิกวุฒิสภา 200 เสียง บวกกับที่พรรคประชารัฐจะไปหาได้ และจากสมาชิกพรรคอื่นๆ ที่พร้อมจะร่วมรัฐบาลอีก 150 เสียง หรือ ให้เกินสักเล็กน้อยเพื่อความชัวร์

นอกจากนี้ การใส่ชื่อท่านไว้เลยก็อาจจะทำให้พรรคได้คะแนนเสียง ท่วมท้นจากแฟนคลับของบิ๊กตู่เอง ที่เชื่อกันว่ามีอยู่มากพอสมควร

ที่สำคัญไปกว่านั้น ยังได้ชื่อว่าท่านมีส่วนในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย เพราะมีชื่อให้ประชาชนพิจารณาเลือกอยู่แล้ว มิใช่เป็นคนนอกมาจากไหน… ถือว่าเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยที่นานาชาติยอมรับ

แต่หนทางนี้ก็มีข้อเสียตรงที่ว่าเท่ากับท่านเป็นคนของพรรคพลังประชารัฐ เป็นคนมีสังกัดไม่ใช่เป็นคนกลางดังเช่นสมัยป๋าเปรมในอดีตกาล

เมื่อมีสังกัดเสียแล้วหากพรรคของท่านได้เสียงมาท่วมท้นก็ดีไปหากไม่ท่วมท้นต้องอาศัยพรรคร่วมก็จะถูกเรียกร้องจะถูกต่อรอง และลงท้ายหากแบ่งสมบัติไม่ลงตัวกับพรรคอื่นๆ ก็อาจจะเกิดการขัดแย้งในที่สุด

ที่เป็นห่วงอีกข้อหนึ่งก็คือเมื่อใส่ชื่อไว้ว่าจะเป็นนายกฯ ก็อาจจะมีเสียงเรียกร้องจากนักการเมืองว่าท่านต้องลาออกจากนายกฯ ด้วยซี ไม่งั้นไม่เป็นธรรมนี่นา…แม้แต่รัฐมนตรี 4 ท่าน ยังแสดงสปิริตลาออกเลย

คำถามเรื่องสปิริตก็จะดังขึ้นทุกวันระหว่างหาเสียง

สำหรับหนทางที่ 2 แม้จะยากเพราะการจะหาเสียงถึง 2 ใน 3 มาขอยกเว้นกฎเพื่อให้เสนอชื่อใครก็ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีคงไม่ใช่ง่ายๆ แต่ก็มีข้อดีตรงที่ว่าจะไม่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในพรรคใด

เป็นคนกลางที่แท้จริงและคล้ายคลึงกับสมัยป๋าเปรมมากที่สุด แม้จะไม่คล้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะนักการเมืองยุคนี้ที่คงจะกลับมาอีกจำนวนมากพอสมควรย่อมไม่พอใจท่านไม่มากก็น้อยอยู่บ้าง ที่เป็นหัวหน้าคณะในการทำรัฐประหารพวกเขาเมื่อ 5 ปีก่อน

แต่ก็ยังพอได้ชื่อว่าเป็นคนกลางอยู่บ้าง และน่าจะบริหารได้ยาวนานกว่าแบบแรก ซึ่งแค่แบ่งสมบัติก็ยุ่งยากเสียแล้ว

ที่สำคัญก็จะไม่มีคำถามเรื่องสปิริตว่าทำไมถึงไม่ลาออก

โจทย์หลักๆ ก็จะเป็นอย่างที่ว่ามานี่แหละ และก็เป็นหน้าที่ที่บิ๊กตู่ท่านจะไตร่ตรองอย่างรอบคอบเอาเองว่าท่านจะเลือกหนทางใด?

นี่ก็วันที่ 31 มกราคมเข้าไปแล้วเขาว่าท่านจะตัดสินใจอีกวัน 2 วันข้างหน้านี้ ใครจะลองเล่นเดิมพันเขกเข่าคนละโป๊ก 2 โป๊ก ก็เชิญตามอัธยาศัยนะครับ

ณ นาทีนี้ฝ่ายที่เชื่อว่าท่านจะเลือกหนทางที่ 1 คือ ใส่ชื่อไว้ในพรรคพลังประชารัฐเป็นต่อประมาณ 2 โป๊กครึ่งครับ จะมีอะไรพลิกล็อกหรือไม่ โปรดติดตามกันต่อไป.

“ซูม”