ผมตั้งใจว่าจะเขียนถึง “สาระ” ในหนังสือพิเศษฉบับ ส.ค.ส. ที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาล “บิ๊กตู่ 1” คุณสมหมาย ภาษี ส่งมาให้ผมอย่างกว้างๆ
พร้อมกับฝากให้ลูกๆ หลานๆ ข้าราชการกระทรวงการคลังรับไปอ่านในรายละเอียดกับพินิจพิจารณาดูว่า เป็นจริงอย่างที่คุณสมหมายเขียนไว้หรือไม่!
พอเขียนเสร็จสรรพส่งต้นฉบับไปตีพิมพ์ก็ปรากฏว่า เช้าวันรุ่งขึ้นหน้าเศรษฐกิจของไทยรัฐก็ลงข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่ง แต่เป็นข่าวใหญ่และสำคัญยิ่งในทัศนะของผม เพราะเป็นข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณปี 2563 หรือปีหน้าที่จะมาถึง
หน้าเศรษฐกิจพาดหัวว่า “จ่อปั๊มงบ 63 ทะลุ 3.2 ล้านล้าน… จัดเต็มขาดดุลบานทะโรค ต่อเนื่องอีก 4.5 แสนล้าน”
พร้อมกับลงรายละเอียดกรอบกว้างๆ ของงบประมาณปีหน้า ทั้งรายได้ รายจ่าย ซึ่งรวมแล้วรายจ่ายจะมากกว่ารายได้ จำเป็นจะต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเอาไว้ 450,000 ล้านบาท ฯลฯ
ทำให้ผมต้องหยิบหนังสือของคุณสมหมายมาอ่านอีกหน โดยเฉพาะในบทที่ว่าด้วยการวิเคราะห์งบประมาณ 2562 ที่ผ่านไป
คุณสมหมายได้ฝากความห่วงใยงบประมาณปี 2562 เอาไว้มากมาย โดยเฉพาะงบประมาณเงินกู้ต่างๆ และงบผูกพันของกระทรวงต่างๆ ที่สูงอย่างน่าตกใจ
อดีตรัฐมนตรีคลังของรัฐบาล “บิ๊กตู่ 1” สรุปว่างบผูกพันที่รัฐบาลนี้สร้างสะสมไว้ตั้งแต่ปี 2562 ไปถึง 2565 มียอดรวมสูงถึง 728,665 ล้านบาท และหากรวมปี 2561 ไว้ด้วยจะสูงถึง 1,178,275 ล้านบาท คุณสมหมายทิ้งท้ายในเรื่องนี้เอาไว้ดังนี้ครับ
“โดยสรุปรายได้ก็เพิ่มไม่ค่อยได้ รัฐบาลชุดไหนก็ไม่กล้าเพิ่มภาษีงบประมาณก็มีจำกัดจำเขี่ย ทหารก็อยากได้อุปกรณ์ใหม่ทุกปี คมนาคมที่เป็นกระทรวงที่มีงบผูกพันสูงสุดถึง 365,591.2 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ก็ยังอยากจะสร้างรถไฟความเร็วสูงอีก กลาโหมผูกพัน 177,294.5 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 2 ก็ยังอยากจะสะสมอาวุธเพิ่มอีก มหาดไทยผูกพัน 131,671.2 ล้านบาท เป็นอันดับ 3 ศึกษาธิการผูกพัน 99,948.2 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 4
รวม 4 กระทรวงใหญ่นี้ก็ปาเข้าไปถึง 774,505 ล้านบาทแล้ว และเมื่อรวมทุกกระทรวง งบผูกพันทั้งสิ้นก็จะเป็น 1.23 ล้านล้านบาท หนึ่งในสามของงบประมาณปี 2562 เข้าไปแล้ว
ปีต่อจากนี้จะผูกพันอีกสักกี่แสนล้าน จะทำงบขาดดุลที่ต้องกู้เต็มพิกัดไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ก็ไม่ได้อีกแล้ว เงินต้นที่รัฐรับภาระบานเบอะก็ไม่ต้องคิดใช้คืน แต่ละปีก็ต้องใช้เงินกู้ใหม่มาชำระเงินกู้เก่ามากขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่เกิน 2 ปี การคลังของประเทศจะถึงทางตัน”
ผมเรียนตรงๆ ว่า แม้ผมจะเรียนเศรษฐศาสตร์และเรียนวิชาการคลังมาด้วย แต่โยนตำราทิ้งไป 20 กว่าปีแล้ว ทำให้อ่านข้อเขียนของคุณสมหมายไม่เข้าใจได้อย่างถ่องแท้
ยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้งนักว่า การคลังของประเทศจะถึงทางตันอย่างไร? และเมื่อถึงแล้วจะเกิดอะไรขึ้นแก่ประเทศชาติของเราบ้าง?
ก็คงต้องฝากให้ลูกๆ หลานๆ กระทรวงการคลังหรือสำนักงบประมาณซึ่งน่าจะมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการคลังและการงบประมาณอย่างดียิ่ง อ่านข้อสังเกตของคุณสมหมายแล้วคงเข้าใจแบบรู้แจ้งแทบตลอด
ขอให้ลูกๆ หลานๆ ช่วยพิจารณาด้วยเถิดว่าข้อสังเกตของอดีตขุนคลังที่ผมหยิบยกมานี้จะเป็นจริงหรือไม่? อย่างไร?
แม้ข้อสังเกตนี้จะเป็นของปี 2562 แต่ก็น่าจะเป็นประเด็นหลักในปี 2563 ด้วย
ถ้าไม่เป็นจริงก็แล้วไป…แต่ถ้ามีส่วนหรือมีแนวโน้มจะเป็นจริงก็ขอให้ข้าราชการประจำของกระทรวงการคลังนี่แหละ ท่านปลัด, ท่านอธิบดีช่วยกันกราบเรียนท่านรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบันด้วยเถิด
เผื่อท่านจะกู้น้อยลง ตั้งงบผูกพันน้อยลง รวมทั้งลดการมือเติบ ลดแลกแจกแถมลง
อย่างที่ผมเขียนไว้เมื่อวานแหละครับว่าที่แล้วมาแม้ประเทศไทยของเราจะเคยทรุด จะเคยสะดุดถึงขั้นหกล้มมาบ้าง แต่จากการที่คน รุ่นเก่าประหยัดรัดเข็มขัดและยังมีต้นทุนที่มองไม่เห็นหลายๆ อย่าง ทำให้เราสามารถลุกขึ้นยืนได้อย่างรวดเร็ว
แต่ถ้าล้มอีกครั้งไม่แน่นะครับ เพราะต้นทุนต่างๆ น่าจะหมดไปแล้ว…คราวนี้ล่ะจะเจ็บนานและกว่าจะลุกขึ้นได้คงต้องใช้เวลาอีกหลายๆ ปี ลำบากยากเข็ญแสนสาหัสกว่าครั้งก่อนๆ หลายเท่า.
“ซูม”